คอลัมน์ "ด้วยสมองและสองมือ" ฟิล์มพลาสติกสำหรับบรรจุภัณฑ์อาหาร เป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมพลาสติก และมีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมอาหาร เนื่องจากช่วยรักษาคุณภาพของอาหาร ขึ้นรูปง่าย ตอบสนองต่อการใช้งานได้ดี มีความสวยงามของผลิตภัณฑ์ และราคาต้นทุนต่ำ จึงถูกนำมาใช้งานอย่างแพร่หลาย จนก่อให้เกิดขยะเพิ่มมากขึ้น ที่สำคัญฟิล์มพลาสติกดังกล่าวย่อยสลายได้ยากจึงตกค้างอยู่ในธรรมชาติเป็นจำนวนมาก อีกทั้งการกำจัดขยะพลาสติกในปัจจุบัน ถูกกำจัดโดยการฝังกลบใต้ดิน หรือนำไปเผา ซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเป็นจำนวนมาก และต้องใช้พื้นที่ รวมถึงก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยเหตุนี้ นางสาวชลธิชา ผิวเอี่ยม และนายสุขสันต์ พงษ์พยัคเลิศ นักศึกษาสาขาวิชาวัสดุศาสตร์อุตสาหกรรม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนค>ร จึงคิดค้นฟิล์มพลาสติกย่อยสลายได้ด้วยวิธีทางชีวภาพ โดยการนำใบสับปะรดมาทำการวิจัย เพื่อช่วยลดปัญหาขยะพลาสติก และเป็นการนำวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรมาใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยมี ผศ.ดร.กัลทิมา เชาว์ชาญชัยกุล เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา นางสาวชลธิชา กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยเริ่มให้ความสนใจเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม และพสาสติกชีวภาพมากขึ้น พบว่า สับปะรดเป็น 1 ใน 7 สินค้าเกษตรที่สำคัญของประเทศไทย จากสับปะรด ในพื้นที่ 1 ไร่ จะได้ใบสับปะรดเหลือทิ้ง เฉลี่ยประมาณ 10,380 กิโลกรัม ทั้งนี้ ใบสับปะรดมีองค์ประกอบหลัก สำหรับเป็นเยื่อเซลลูโลสคุณภาพสูง (Alpha Cellulose) เหมาะสมในการนำมาดัดแปรเป็นฟิล์มคาร์บอกซีเมทิลเซลลูโลส (carboxymethyl cellulose หรือ CMC) ซึ่งเป็นฟิล์มที่ย่อยสลายได้ด้วยวิธีทางชีวภาพ และสามารถรับประทานได้ ตนจึงได้ศึกษาการผลิตซองเครื่องปรุงรสของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่ทำจากฟิล์ม CMC ด้วยการนำใบสับปะรดมาทำการดัดแปรให้เป็นฟิล์ม มีขั้นตอนการผลิต 4 ขั้นตอน ได้แก่ 1.การเตรียมเส้นใย 2.การสกัดเซลลูโลสคุณภาพสูง 3.การสังเคราะห์ CMC 4.การขึ้นรูปฟิล์ม CMC นางสาวชลธิชา กล่าวอีกว่า หลังจากนั้นนำฟิล์ม CMC มาตรวจสอบโครงสร้างทางเคมี ความหนา ความสามารถในการละลาย สมบัติความต้านทานแรงดึงของฟิล์ม และตรวจสอบลักษณะภายนอกของฟิล์ม พบว่า ฟิล์ม CMC ที่ขึ้นรูปได้มีลักษณะฟิล์มใส บาง มีความคงตัวเป็นอย่างดี มีความสามารถในการละลายน้ำ และปลอดภัยต่อร่างกายสามารถบริโภคได้ นอกจากนี้ ยังพบว่า CMC ที่ได้ยังไม่มีกลิ่น ไม่มีสี จึงไม่ส่งผลต่อรสชาติของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ทั้งนี้ ซองเครื่องปรุงรสบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจากฟิล์มใบสับปะรด เมื่อรับประทานสามารถนำซองเครื่องปรุงรสวางลงในชามบะหมี่ และเติมน้ำร้อน ซองเครื่องปรุงจะละลายในน้ำ ทำให้ไม่มีซองพลาสติกเหลือทิ้งเป็นขยะ นับเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมจากธรรมชาติที่สามารถนำมาผลิตใช้ได้จริงในวงการอุตสาหกรรม ซึ่งนอกจากลดขยะพลาสติกชิ้นเล็ก ๆ แล้ว ยังลดขยะจากอุตสาหกรรมเกษตรได้เป็นอย่างดี ผู้สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ ผศ.ดร.กัลทิมา เชาว์ชาญชัยกุล โทรศัพท์ 081-659-2889 หรือ นางสาวชลธิชา ผิวเอี่ยม โทรศัพท์ 094-070-1398