กลุ่มโบราณคดีสำนักศิลปากรที่7เชียงใหม่ ลงพื้นที่ตรวจสอบเครื่องถ้วยดินเผาพบจำนวนมากในแหล่งโบราณคดีบ้านศรีป่าซาง ตำบลท่าสุด อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย
นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงแสน และกลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ได้เข้าตรวจสอบแหล่งโบราณคดีบ้านศรีป่าซาง ตามที่มีรายงานว่า พบโบราณวัตถุเครื่องถ้วยจำนวนมากในเขตพื้นที่บ้านศรีป่าซาง หมู่ 9 ตำบลท่าสุด อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2563 บริเวณที่พบโบราณวัตถุเป็นพื้นที่ติดเชิงเขา ท้ายหมู่บ้านศรีป่าซาง หมู่ 9 ตำบลท่าสุด อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย สภาพพื้นที่ถูกน้ำจากลำห้วยกัดเซาะดินตลิ่ง ทำให้พบเครื่องถ้วยจำนวนมาก ลักษณะพื้นที่เป็นที่ราบริมห้วย พื้นฐานเป็นก้อนหินใหญ่ ดินที่สะสมเป็นตะกอนทรายหยาบ เมื่อขึ้นไปบนเนินเขาพบชิ้นส่วนจาน และไหเคลือบสีน้ำตาล มีลำห้วยไหลผ่าน ชาวบ้านเรียกห้วยสามไห ซึ่งเคยพบไห สร้อยสังวาล มีด และเครื่องสำริดจากลำห้วยมาแล้ว
อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวอีกว่า จากการขุดค้นทางโบราณคดีพบว่าภาชนะที่พบทั้งหมดมีจำนวน 96 รายการ ทั้งหมดเป็นถ้วย ทั้งถ้วยรูปทรงทั่วไปและถ้วยทรงสูง ลักษณะตั้งใจฝัง จากชั้นดินพบว่ามีการขุดหลุมกลมขนาดกว้างประมาณ 40 เซนติเมตร ครึ่งหนึ่งถูกน้ำกัดเซาะพังทลายไป เครื่องถ้วยที่พบมีลักษณะเนื้อดินคล้ายกับภาชนะจากแหล่งเตาพาน แต่มีข้อน่าสังเกต คือ ลักษณะการปาดก้นแบบเรียบและน้ำเคลือบที่ขังอยู่ภายในก้นถ้วยนั้นคล้ายกับแหล่งเตาวังเหนือจังหวัดลำปางมากกว่า ได้นำโบราณวัตถุที่พบได้นำไปเก็บรักษา ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงแสน จังหวัดเชียงราย เพื่อดำเนินการอนุรักษ์ตามหลักวิชาการและดำเนินการศึกษาวิจัยทางโบราณคดี