คำว่า วิสาขบูชา ย่อมาจาก "วิสาขปุรณมีบูชา" แปลว่า การบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ หรือ การบูชาในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ตามปฏิทินจันทรคติของไทย ซึ่งถ้าปีใดมีอธิกมาส คือ มีเดือน 8 สองหน ก็จะเลื่อนไปเป็นวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 7 วันวิสาขบูชา นี้ ถือเป็นวันสำคัญยิ่งทางพระพุทธศาสนา เนื่องจากได้เกิดเหตุการณ์สำคัญ 3 ประการ อันเกี่ยวเนื่องกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างน่าอัศจรรย์ คือเป็น วันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน วันวิสาขบูชา วันประสูติ : วันเพ็ญ เดือน 6 ก่อนพุทธศักราช 80 ปี พระนางสิริมหามายา พระราชมารดา ทรงพระครรภ์แก่ จึงแปรพระราชฐานไปประทับ ณ กรุงเทวทหะ เพื่อประสูติในตระกูลของพระนางตามประเพณีนิยมในสมัยนั้น ขณะเสด็จแวะพักผ่อนพระอิริยาบถใต้ต้นสาละ ณ สวนลุมพินีวัน ก็ได้ประสูติพระโอรส ในวันเพ็ญเดือน 6 ก่อนพุทธศักราช 80 ปี ถวายพระนามว่า "สิทธัตถะ" แปลว่า สมปรารถนา และเมื่ออสิตดาบสเห็นพระราชกุมาร ได้พยากรณ์ว่า "พระราชกุมารนี้จักบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ เห็นแจ้งพระนิพพานอันบริสุทธิ์อย่างยิ่ง ทรงหวังประโยชน์แก่ชนเป็นอันมาก จะประกาศธรรมจักรพรหมจรรย์ของพระกุมารนี้จักแพร่หลาย" แล้วกราบลงแทบพระบาท พระเจ้าสุทโธทนะ พระราชบิดา ถึงกับทรุดลงอภิวาทพระราชโอรสตามพระดาบส ด้วยทรงรู้สึกอัศจรรย์และเปี่ยมด้วยปีติยิ่งนัก วันประสูติ-วันเพ็ญเดือน 6 ก่อนพุทธศักราช 80 ปี วันตรัสรู้ ‘อนุตตรสัมโพธิญาณ’ : วันเพ็ญ เดือน 6 ก่อนพุทธศักราช 45 ปี หลังทรงออกผนวชได้ 6 ปี เช้ามืดวันพุธ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีระกา ก่อนพุทธศักราช 45 ปี พระชนมายุได้ 35 พรรษา เจ้าชายสิทธัตถะทรงตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ใต้ร่มไม้ศรีมหาโพธิ์ ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ปัจจุบันเรียก “พุทธคยา” เป็นตำบลหนึ่งของเมืองคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย วันตรัสรู้-วันเพ็ญเดือน 6 ก่อนพุทธศักราช 45 ปี วันเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน : วันเพ็ญ เดือน 6 พระชนมายุ 80 พรรษา หลังจากพระพุทธองค์ทรงตรัสรู้และแสดงธรรมนานถึง 45 ปี จนพระชนมายุได้ 80 พรรษา ขณะนั้นทรงจำพรรษา ณ เวฬุคาม ใกล้เมืองเวสาลี และทรงประชวรหนัก แต่ในวันเพ็ญเดือน 6 นายจุนทะได้กราบทูลนิมนต์ไปรับบิณฑบาตที่บ้าน ทรงเสวยสุกรมัททวะที่นายจุนทะตั้งใจทำถวาย ทรงมีอาการอาพาธแต่อดกลั้น แล้วมุ่งเสด็จไปยังเมืองกุสินารา ประทับ ณ ป่าสาละ พร้อมประทานปัจฉิมโอวาทว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อันว่าสังขารทั้งหลายย่อมมีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังกิจทั้งปวงอันเป็นประโยชน์ของตนและประโยชน์ของผู้อื่นให้บริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด" จากนั้นเสด็จเข้าดับขันธ์ปรินิพพานในค่ำคืนวันเพ็ญเดือน 6 นั้นเอง วันเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน-วันเพ็ญเดือน 6 พระชนมายุ 80 พรรษา ในสยามประเทศ “วันวิสาขบูชา” เริ่มต้นครั้งแรกสมัยกรุงสุโขทัย ซึ่งมีความสัมพันธ์ด้านพระพุทธศาสนาอย่างใกล้ชิดกับประเทศลังกา พระสงฆ์จากลังกาหลายรูปเดินทางเข้ามาเผยแผ่พระพุทธศาสนา พร้อมนำศาสนพิธี ‘วิสาขบูชา’ เข้ามาปฏิบัติ (มีการกล่าวอ้างถึงในหนังสือนางนพมาศ) จนปลายสมัยสุโขทัย ศาสนาพราหมณ์เริ่มมีอิทธิพลมากขึ้น ทำให้ในช่วงสมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ไม่ปรากฏหลักฐานการประกอบพิธีฯ อีกเลย จนล่วงมาถึงปี พ.ศ.2360 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงมีพระราชดำริให้ฟื้นฟู “พิธีวิสาขบูชา” ขึ้นใหม่ ตามแบบอย่างประเพณีเดิม โดย สมเด็จพระสังฆราช (มี) วัดราชบูรณะ เป็นผู้ถวายพระพร จึงนับเป็นต้นแบบในการถือปฏิบัติมาจวบจนปัจจุบัน นอกเหนือจากพุทธศาสนิกชนชาวไทยแล้ว พุทธศาสนิกชนทั่วโลกก็ให้ความสำคัญยิ่งกับ “วันวิสาขบูชา” โดยวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2542 องค์การสหประชาชาติได้ยอมรับญัตติ กำหนดให้เป็นวันสำคัญของโลก และถือเป็นวันหยุดอีกวันหนึ่งของสหประชาชาติ โดยเรียกว่า ‘Vesak Day’  วิสาขปุรณมีบูชา หรือ วันวิสาขบูชา จึงนับว่าเป็นวันสำคัญยิ่งของพุทธศาสนิกชนทั่วโลก ซึ่งจะมีการประกอบพิธีพุทธบูชาเพื่อน้อมรำลึกถึงพระวิสุทธิคุณ พระปัญญาคุณ และพระมหากรุณาธิคุณ แห่งพระพุทธองค์ที่มีต่อมวลมนุษย์และสรรพสัตว์ทั้งหลาย  ทั้งยังมีการสร้างรูปเคารพในรูปแบบพระบูชา-พระเครื่อง เพื่อเป็นการรำลึกถึงและสักการบูชาเพื่อเป็นสิริมงคล ดังนี้ ปางประสูติ เป็นพระอิริยาบถขณะทรงประสูติ อาทิ เป็นรูปจำลองพระพุทธองค์ครั้งประสูติ หรือรูปพระนางสิริมหามายาประทับยืนเหนี่ยวกิ่งไม้ และพระพุทธองค์ประสูติออกทางด้านข้างของพระวรกาย เป็นต้น พระพุทธรูปปางประสูติ “พระพุทธรูปปางประสูติ” ถือกำเนิดเป็นรูปเคารพขึ้นเป็นครั้งแรก ณ ลุมพินีวัน อันเป็นสถานที่ประสูติของพระพุทธองค์ ได้เผยแพร่เหลายเข้ามายังประเทศไทยเมื่อไม่นานมานี้ ด้วยความเชื่อว่าผู้บูชาจะได้เริ่มต้นชีวิตอันเจริญรุ่งเรือง เพราะปางประสูติ ถือเป็นอากัปกิริยาเริ่มแรกของพระพุทธองค์ ปางตรัสรู้ เป็นพระอิริยาบถประทับนั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ทั้งสองวางหงายซ้อนกันบนเพลา (ตัก) โดยพระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้าย พระชงฆ์ (แข้ง) ขวาทับพระชงฆ์ซ้าย หรือที่เรียกว่า “ปางสมาธิ” พระพุทธรูปประจำวันพฤหัสบดี อันสื่อถึง การเจริญสมาธิ หมายถึง ปัญญา พระพุทธรูปปางตรัสรู้หรือปางสมาธิ ปางปรินิพพาน เป็นพระอิริยาบถประทับนอน หรือที่เรียกกันว่า “ปางไสยาสน์” พระพุทธรูปประจำวันอังคาร หมายถึง ความไม่เที่ยงแท้แน่นอน การปล่อยวาง และการลดทิฐิ ซึ่งคือ วางตนให้เยือกเย็น พระพุทธรูปปางปรินิพพาน อนึ่ง ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่า พระปางไสยาสน์ หรือ พระนอน นั้น มีหลายอากัปกิริยา สำหรับ “ปางปรินิพพาน” จะเป็นพระอิริยาบถบรรทมตะแคงเบื้องขวา หลับพระเนตร พระเศียรหนุนพระเขนย (หมอน) พระพาหา (แขน) ซ้ายทอดทาบไปตามพระวรกาย พระกรทาบบนพระปรัศว์ (สีข้าง) พระหัตถ์ขวาวางหงายอยู่ด้านข้างหรือแนบพระอาสนะรองรับพระเศียร พระบาทซ้ายทับซ้อนพระบาทขวา วันวิสาขบูชา ในปี 2560 นี้ ตรงกับ วันพุธที่ 10 พฤษภาคม วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 วัดวาอารามทั่วทั้งประเทศจะเตรียมจัดกิจกรรมเพื่อให้พุทธศาสนิกชนชาวไทยได้ร่วมสร้างบุญกุศล ... จงตั้งมั่นกระทำความดี ทำบุญตักบาตร สร้างบุญกุศล พร้อมทั้งร่วมกันเวียนเทียนเพื่อน้อมระลึกถึงพระคุณอันยิ่งใหญ่ของพระพุทธองค์ และอุทิศถวายแด่องค์สมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชโดยทั่วถึงกันครับผม ... ใกล้วัดไหนไปวัดนั้น บุญอยู่ที่ใจผู้กระทำ ... โดย ราม วัชรประดิษฐ์ www.arjanram.com