ศูนย์ศิลปะและการช่างไทย สำนักช่างสิบหมู่ รวบรวมองค์ความรู้ด้านศิลปกรรมพระเมรุมาศ ทำจดหมายเหตุเชิงช่าง เก็บรายละเอียดทุกขั้นตอน นางประภาพร ตราชูชาติ นักวิชาการช่างศิลป์ ชำนาญการพิเศษ หัวหน้าศูนย์ศิลปะและการช่างไทย สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร กล่าวว่า ตนได้รับมอบหมายให้ดำเนินโครงการรวบรวมข้อมูลเพื่อจัดทำองค์ความรู้ด้านศิลปกรรมงานจัดสร้างพระเมรุมาศในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยจะมีการเก็บรวบรวมข้อมูลเชิงลึกกระบวนการสร้างงานด้านศิลปกรรม ทั้งจิตรกรรม ประติมากรรม งานประณีตศิลป์ รวมถึงงานบูรณะและจัดสร้างราชรถราชยานองค์ใหม่ที่ช่างสิบหมู่ดำเนินงาน เป้าหมายเพื่อเป็นแหล่งรวมองค์ความรู้ด้านพระเมรุมาศและกระบวนการงานช่าง มีการแบ่งข้อมูลเป็นหมวดหมู่ต่างๆ เพื่อให้บุคลากรของศูนย์ศิลปะและการช่างไทยไปดำเนินการเก็บรายละเอียดในส่วนต่างๆ “การรวบรวมข้อมูลของเราจะแตกต่างจากงานบันทึกจดหมายเหตุของสำนักจดหมายเหตุแห่งชาติ เพราะจะเก็บข้อมูลเชิงช่าง ทั้งผลงานออกแบบ ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว บทสัมภาษณ์ช่างในแต่ละส่วนงาน ขณะที่จดหมายเหตุเก็บภาพรวมเหตุการณ์งานพระราชพิธีพระบรมศพ ยกตัวอย่างในพระราชพิธีครั้งนี้สำนักช่างสิบหมู่ได้ดำเนินการการจัดสร้างพระที่นั่งราเชนทรยานน้อยองค์ใหม่ ทางศูนย์เริ่มเก็บข้อมูลตั้งแต่การออกแบบ เขียนแบบ ขยายแบบ จัดทำหุ่นโครงสร้างไม้ วิธีการเข้าไม้แบบโบราณ เก็บทุกขั้นตอนอย่างละเอียด ส่วนงานประติมากรรมมีการจัดสร้างเทวดา มหาเทพ 4 องค์ สัตว์มงคล สัตว์หิมพานต์ ทีมงานได้เก็บข้อมูลเจาะลึกการสร้างงานที่แตกต่างกันไป เทวดามีการปั้น ถอดพิมพ์ แต่งปูน ก่อนทำพิมพ์ แต่มหาเทพ ปั้น ทำพิมพ์ แล้วหล่อไฟเบอร์กลาสเลย ส่วนงานจิตรกรรมเก็บตั้งแต่แนวคิดการออกแบบ เขียนแบบ โดยทุกหมวดจะเก็บข้อมูลตามหน้างานที่ช่างปฏิบัติจริง ณ ปัจจุบัน มีกระบวนการทำงานอย่างไร วัสดุที่ใช้ เมื่อเก็บข้อมูลได้ระยะหนึ่งจะเชิญช่างในแต่ละกลุ่มงานมาตรวจสอบว่าข้อมูลถูกต้องหรือไม่ ก่อนนำเสนอเป็นเอกสารต้นฉบับ” นางประภาพร กล่าว หน.ศูนย์ศิลปะและการช่างไทย กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาสำนักช่างสิบหมู่ยังไม่ได้มีการจัดเก็บองค์ความรู้การจัดสร้างพระเมรุมาศอย่างเป็นระบบ มีเพียงการจัดเก็บองค์ความรู้งานช่างเบื้องต้น งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพในหลวง รัชกาลที่ 9 เป็นวาระโอกาสที่สำคัญยิ่งจำเป็นต้องเก็บรวบรวมองค์ความรู้ทั้งหมดนี้เป็นสมบัติของชาติเปรียบเสมือนจดหมายเหตุงานช่างของชาติ เพราะในพระราชพิธีครั้งนี้มีการจัดสร้างใหม่ในหลายส่วนและซ่อมแซมอย่างดีที่สุด สมบูรณ์ที่สุด เช่น พระที่นั่งราเชนทรยานองค์เดิม บูรณะลอกผิวทองที่ชำรุด ทำให้ลวดลายไม้คมชัดมากขึ้น ทั้งยังคัดลอกลายใช้สร้างองค์ใหม่ ความรู้นี้จะเป็นประโยชน์จากรุ่นสู่รุ่น ช่างสิบหมู่ส่วนหนึ่งใกล้เกษียณอายุและมีน้องใหม่เข้ามาทำงานจะได้สืบทอดกระบวนการงานศิลปกรรม เพราะมีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร ไม่ให้ภูมิปัญญาเลือนหายไป “ขณะนี้โครงการดังกล่าวคืบหน้าร้อยละ 40 เหตุที่ล่าช้ากว่างานจัดสร้างพระเมรุมาศ เพราะต้องรอให้งานศิลปกรรมต่างๆ ติดตั้งสถานที่จริงและนำข้อมูลมาเรียบเรียงให้เหมาะสม คณะทำงานหวังว่าข้อมูลองค์ความรู้ต่างๆ ที่รวบรวมครั้งนี้จะเผยแพร่ผ่านช่องทางต่างๆ รวมถึงจัดนิทรรศการให้ความรู้งานประณีตศิลป์แก่ประชาชนต่อไป” หน.ศูนย์ศิลปะและการช่างไทย กล่าวทิ้งท้าย