สำนักศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี เผยพบหลักฐานประติมากรรมปูนปั้นประดับเจดีย์ราย วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ สุพรรณบุรี ทรงคุณค่าทางการศึกษาโบราณคดี ถือเป็นงานศิลปกรรมสมัยแรกสร้างวัดในราวสมัยอยุธยาตอนต้น
นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี ได้ดำเนินงานขุดศึกษาทางโบราณคดีวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ สุพรรณบุรี พบว่าในสมัยแรกสร้างวัดแห่งนี้ มีการสร้างเจดีย์บริวารหรือเจดีย์รายโดยรอบระเบียงคด สำหรับบริเวณพื้นที่นอกระเบียงคดด้านทิศใต้ พบหลักฐานสำคัญ คือ ฐานเจดีย์ 8 เหลี่ยม มีประติมากรรมปูนปั้นประดับโดยรอบ เจดีย์องค์ดังกล่าวเหลือเพียงส่วนฐานเช่นเดียวกับเจดีย์รายองค์อื่นๆ ที่สร้างอยู่ในแถวเดียวกัน
สำหรับประติมากรรมที่ประดับอยู่รอบฐานเจดีย์ 8 เหลี่ยมองค์ดังกล่าว ยังระบุแน่ชัดไม่ได้ว่าเป็นประติมากรรมแสดงเรื่องราวใด และเป็นประติมากรรมรูปบุคคลใด เนื่องจากสภาพไม่สมบูรณ์ โดยพบส่วนครึ่งล่างของลำตัวเท่านั้น อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาเค้าโครงหลักของประติมากรรม พบว่าแต่ละด้านของเจดีย์ ประดับด้วยประติมากรรมรูปบุคคลจำนวนด้านละ 5 รูป ประกอบไปด้วย รูปบุคคล 3 รูป ประดับอยู่ตรงพื้นที่ว่างของเจดีย์ แต่ละด้านขนาบด้วยรูปบุคคลเหนือหัวนาคซึ่งประดับอยู่บริเวณมุมของเจดีย์ดังกล่าว ยกเว้นฐานเจดีย์ด้านทิศใต้เท่านั้นที่ปรากฏลักษณะเค้าโครงต่างออกไป โดยพบการทำประติมากรรมบุคคลอยู่กึ่งกลางด้าน ขนาบด้วยรูปบุคคลนั่งชันเข่าข้างเดียว ประติมากรรมที่พบเกือบทั้งหมดนั้น เป็นที่น่าสังเกตว่าอยู่ในลักษณะงอเข่าคล้ายกับประติมากรรมแบกต่างๆ ที่ประดับตามฐานเจดีย์
ประติมากรรมเหล่านี้ แม้ยังไม่อาจระบุได้ชัดว่าแต่ละรูปเป็นรูปบุคคลใด แต่สันนิษฐานว่าน่าจะประกอบไปด้วย เทวดา ครุฑ ยักษ์ ลิง ตามคตินิยมที่พบการประดับในงานประดับเจดีย์แห่งอื่นๆ นอกจากนี้ ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยที่น่าสนใจ เช่น การทำประติมากรรมรูปลิงขนาดเล็กประดับสอดแทรกอยู่ตามลายหลัก การเขียนสีเป็นลวดลายตกแต่งประติมากรรม เป็นต้น ซึ่งจะได้ศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบศิลปกรรมและอายุสมัยที่ชัดเจนต่อไป
“หลักฐานประติมากรรมปูนปั้นดังกล่าว มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นประติมากรรมที่พบอยู่ติดที่ เป็นตัวแทนศิลปกรรมสมัยแรกสร้าง ซึ่งหลงเหลือให้เห็นเฉพาะเจดีย์องค์นี้เพียงองค์เดียวเท่านั้น” อธิบดีกรมศิลป์ กล่าว