ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ / ทหารประชาธิปไตย ประเทศไทยเรานี่มีลักษณะพิเศษ ที่เด่นๆและอยู่ในสายเลือดก็คือ ความเป็นเจ้าบทเจ้ากลอน ชอบเขียนชอบพูดเป็นสำนวนที่มันสอดคล้องกัน และอีกเรื่องที่สำคัญคือ ชอบปลูกฝังความคิดแบบศรีธนนชัย ซึ่งเป็นนิยายที่สืบทอดกันมา และมีอิทธิพลต่อความคิดของคนไทยจนเข้าสายเลือด แม้ทุกวันนี้เด็กรุ่นใหม่จะไม่เคยรู้จักไม่เคยอ่านนิทานเรื่องนี้ แต่ก็มีผู้ใหญ่หลายคนชอบทำตัวเป็นศรีธนนชัย คอยตอกย้ำคอยเผยแพร่ความคิดที่ตะแบงแบบนี้สู่สาธารณะบ่อยๆ โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับประเด็นการเมือง ที่ร้ายกว่านั้นคือประเด็นที่เกี่ยวกับการคอร์รัปชั่น ด้วยลักษณะเด่น 2 ประการนี้ คนไทยจึงมักจะแสดงออกซึ่งความคิดที่สุดโต่ง ตะแบงและไร้ตรรกะ ไม่วิเคราะห์อย่างเป็นเหตุผล มักจะเชื่อๆตามกันมา โดยไม่มีการแสวงหาข้อเท็จจริงมาประกอบ เมื่อมาถึงทางสองแพร่งก็จะยึดเอาถือเอาตามความเชื่อของตนเอง มันจึงเกิดความขัดแย้งกันไม่รู้จบรู้สิ้น และนับวันจะบานปลายออกไปเรื่อยๆ เพราะมันถูกตอกย้ำด้วยสิ่งที่เรียกว่า “ปฏิบัติการทางการข่าว” (Information Operation) หรือ IO ซึ่งก็ใช้กันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ขนาดทางการต้องตั้งหน่วยต่อต้านข่าวเท็จ (Fake news) แต่แล้วทางการนั่นแหละหน่วยไหนก็ว่ากันไปนะ กลับเป็นผู้สร้างข่าวเท็จเอง ซึ่งมันก็คือลักษณะการข่าวแบบเดิมๆนั่นแหละ คือ มีหน่วยข่าว และหน่วยต่อต้านการข่าวที่ศรภ.เคยดำเนินการมาแล้ว แม้ปัจจุบันจะปรับเปลี่ยนรูปแบบไปแล้วก็ตาม เรื่องปฏิบัติการทางการข่าว หรือสงครามการข่าวนี้ ความจริงมันก็คือ ปฏิบัติการทางจิตวิทยาที่จะมอมเมา หรือล้างสมองคนจำนวนมาก เพื่อให้เห็นคล้อยตามสิ่งที่ตนตั้งเป้าเป็นวัตถุประสงค์ไว้ ด้วยกระบวนการผลิตซ้ำทางความคิด ตอกย้ำไปเรื่อยๆจนคนไทยส่วนใหญ่ที่ไม่ค่อยมีหลักคิดอะไรอยู่แล้ว บวกกับลักษณะพิเศษ คือ ชอบบทกลอนกับความคิดที่ตะแบงปราศจากตรรกะที่ถูกต้องทำให้หลงเชื่อหรือติดยึดกับการเผยแพร่ความคิดที่ตะแบง และใช้ถ้อยคำที่สละสลวยเป็นบทเป็นกลอน ทำให้รู้สึกอินไปกับการโฆษณาชวนเชื่อต่างๆ จนยึดมั่นถือมั่นไม่ยอมผ่อนคลาย ตัวอย่างก็คือ หัวข้อของบทความนี้ ความจริงมันสะท้อนถึงความคิดสุดโต่งของสองขั้ว ด้านหนึ่งคือ ต้องการให้ปิดเมืองจนกว่าจะมั่นใจว่าโรคระบาดหายขาดไปเลย เพราะถ้ามันยังมีการแพร่เชื้อก็จะเกิดการระบาดขึ้นอีกได้ และจะทำให้คนตายเพิ่มขึ้น ส่วนอีกด้านก็แย้งว่าขืนปิดอย่างนี้คงอดตายกันหมด เพราะไม่ได้ทำมาหากินกัน ยอมรับไม่ได้ บานปลายไปสู่การโต้งแย้งระหว่างความมั่นคงด้านสาธารณสุขกับเสรีภาพของประชาชน แต่หากเรามองอย่างรอบด้านไม่ยึดติดกับความสุดโต่งแบบสโลแกนที่นำมาจั่วหัวเรื่อง ก็จะเกิดประเด็นคำถามว่า ถ้าปิดจริงๆเพื่อจัดการกับโรคระบาดให้ราบคาบนั้น มันจะอดตายกันไหม มีทางออกอะไรบ้าง มันก็มีนะ เช่น รัฐบาลต้องจ่ายเงินเพื่อเลี้ยงดูประชาชน และเป็นผู้สนับสนุนในเรื่องปัจจัยยังชีพ แต่ถ้าทำอย่างนั้นมันก็เป็นต้นทุนที่สูงมาก จะยอมเสียได้ขนาดไหน มีขีดความสามารถขนาดไหน ในเรื่องงบประมาณและระบบการเลี้ยงดูประชาชนอันต้องมาเผชิญกับภาวการณ์ปิดเมือง ยิ่งปิดยาวก็ยิ่งเกิดผลกระทบที่เสียหายต่อประเทศมากขึ้นมหาศาล เพราะเมื่อเศรษฐกิจมันฟุบตัวคนตกงานนับสิบล้าน อาชีพอิสระที่ไม่อยู่ในระบบอีก 5-10 ล้าน พลังการบริโภคจะหดหายไปเป็นอย่างมาก คนที่ได้รับการเยียวยาจากรัฐบาลคือ ประชาชนรากหญ้าก็จะใช้จ่ายพอกินกันตาย นายทุนขายสินค้าและบริการไม่ได้ หรือได้น้อยก็ต้องปิดงานงดจ้าง แล้วรัฐบาลจะเอาเงินภาษีมาจากไหน เพื่อมาบริหารบ้านเมืองและใช้หนี้ อาจถึงขั้นต้องปลดข้าราชการบางส่วนมันก็ยิ่งทับถมปัญหาเข้าไปอีก เหมือนปี 2475 ส่วนกลุ่มที่สนับสนุนการเปิด และอ้างเสรีภาพส่วนบุคคลนั้น ก็อาจมองว่าเสรีภาพย่อมอยู่เหนือความมั่นคงที่รัฐบาลมักอ้าง เพื่อจะมาควบคุมบังคับประชาชนให้อยู่ในอำนาจการปกครองของตน แต่ถ้าเปิดอย่างเสรี อยากทำอะไรก็ทำ ความเคยชินเก่าๆแบบไทยๆก็จะกลับมา และจะกลายเป็นเหตุให้เกิดการแพร่ระบาดครั้งใหญ่อีกได้ มันก็ทำให้เกิดการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินอีกจำนวนมาก เศรษฐกิจก็คงยากจะฟื้นตัว แต่ถ้าเราไม่ไปติดยึดกับทางเลือกที่เราไปกำหนดเองว่ามีสองทาง หากมองทางเลือกที่ 3 นั่นคือ ค่อยๆผ่อนคลายเปิดธุรกรรม หรือกิจกรรมที่มันมีความเสี่ยงน้อย และควบคุมการแพร่ระบาดได้พอสมควร ก็ค่อยๆผ่อนคลายจากน้อยไปหามาก ในขณะเดียวกัน ด้านการสาธารณสุขก็เข้มงวดตรวจตรา ติดตามผลอย่างใกล้ชิด โดยรัฐบาลก็สามารถลดทอนค่าใช้จ่ายในการเยียวยาลงไปได้บ้าง แล้วมาเพิ่มงบให้กับการแพทย์และการควบคุมโรคติดต่อ เมื่อพูดถึงเรื่องข้อจำกัดทางงบประมาณ ก็คงต้องพูดถึงเรื่อง พ.ร.ก.เงินกู้ และมาตรการที่รัฐบาลมอบหมายให้ธนาคารแห่งประเทศไทยไปจัดการเยียวยาตลาดตราสารหนี้ เรื่องนี้ได้มีผู้วิพากษ์วิจารณ์ไปแล้วหลายท่าน เช่น ท่านสมหมาย ภาษี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังท่านมองว่า เงินกู้ประมาณ 4-6 แสนล้านมันจะกลายเป็นเบี้ยหัวแตกที่จะส่งผ่านให้บรรดา ส.ส. นำไปใช้แบบเงินผันและรั่วไหล (หาอ่านได้ในบทความของท่านที่ออกเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ หรือ ใน Inewhorizon.net หัวข้อ กาฝากใหญ่ในมาตรการแก้วิกฤติเศรษฐกิจ 1.9 ล้านล้านบาท วันที่ 19 เมษายน 2020) ส่วน คุณวิษณุ โชลิตกุล ก็เช่นกัน ได้เผยแพร่บทความชื่อ ปล้นกลางแดดอุ้มเจ้าสัว สื่อออนไลน์และใน Inewhorizon.net วันที่ 21 เมษายน 2020 (โปรดหาอ่านรายละเอียด) ท่านก็มองว่าการเข้าไปอุ้มตลาดตราสารหนี้ด้วยเงิน 4 แสนล้านของ ธปท. นั้นก็คือการเข้าไปอุ้มเจ้าสัว และบริษัทที่เป็นเสือนอนกินอย่าง ปตท. การบินไทย และปูนซีเมนต์ไทย ผู้เขียนจึงมองว่าหากรัฐบาลจะรับฟัง (ซึ่งก็ไม่หวังว่าจะฟังเหมือนที่เคยๆ) แล้วนำแนวคิดของทั้ง 2 ท่านมาปรับปรุง โดยโยกงบกู้เงินเหล่านี้มาใช้เยียวยาคนรากหญ้าให้ถูกจุด และด้วยวิธีการที่เหมาะสมให้ทั่วถึง จะสามารถทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้เร็วขึ้น เพราะกำลังซื้อในการบริโภคไม่ลดหย่อนมาก ประชาชนเกิดความมั่นใจ นายทุนเจ้าสัวขายสินค้าได้ จากนั้นก็มาปรับ แนวในการวางนโยบายเศรษฐกิจเสียใหม่ โดยเน้นสิ่งที่เรามีความสามารถเป็นจุดแข็งในการทุ่มงบประมาณสนับสนุน เช่น การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ หรือการเน้นการผลิตอาหารคุณภาพเพื่อการส่งออก แต่ก็ขอบอกตามตรงว่ารัฐบาลนี้คงไม่สนใจฟังเสียงนกเสียกามากกว่าฟังเศรษฐี 20 ราย ซึ่งฟังแล้วก็อาจไม่ทำด้วยซ้ำ นับประสาอะไรกับความคิดเห็นของประชาชนคนธรรมดา อย่างไรก็ตามก็ถือเสียว่า ได้ทำหน้าที่ของประชาชนคนรักชาติแล้ว ยิ่งเราไปแตะเรื่องเกี่ยวกับผลประโยชน์ขนาดใหญ่ที่กำลังจะแบ่งฟันกันอย่างสนุนสนาน ยิ่งเหมือนตักน้ำรดหัวสาก ก็ดูกันไปครับ สุดท้ายก็ขอแตะเรื่องยุทธศาสตร์ 20 ปี แบบสั้นๆ ว่านั่นไม่ใช่ยุทธศาสตร์ แต่เป็นความฝันอันสูงสุด เพราะเปิดมิติ 8 ด้าน และตั้งเป้าไว้สูงสุด แต่มันทำไม่ได้หรอกพร้อมๆกัน 8 ด้าน ใน 20 ปี เนื่องจากเรามีงบประมาณจำกัด เมื่องบจำกัดทำไม่ได้ทีเดียว 8 ด้าน ทำไมไม่มุ่งเน้นอย่างใดอย่างหนึ่ง ภายใต้งบประมาณที่พอรับได้ หรืองบที่มีจำกัด นั่นจึงเรียกว่า “การวางยุทธศาสตร์ชาติ” ตัวอย่างประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย และฟินแลนด์ เขามุ่งเน้นสร้างชาติจากความยากจน และขาดแคลน ด้วยการทุ่มงบปฏิวัติการศึกษา จนประเทศเหล่านี้กลายเป็นประเทศชั้นนำในโลก ส่วนการเมืองเขาก็เปิดช่องให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารประเทศด้วยระบบต่างๆ และให้ประชาชนมีสิทธิตรวจสอบ การบริหารงานของรัฐบาลได้ด้วยกลไกที่มีประสิทธิภาพ นั่นเขาเรียก “ยุทธศาสตร์ชาติ” ซึ่งบริหารภายใต้งบประมาณที่มีอยู่จำกัด ด้วยการเลือกที่ชาญฉลาด ไม่ใช่จะเอามันหมดทุกเรื่อง โดยไม่ดูขีดจำกัดของตนเอง อย่างนั้นเรียก “ความฝัน”