"หมอทวีศิลป์" แนะ รอฟังมติ "ครม.-ศบค." ผ่อนปรนมาตรการสู้ไวรัสโควิด-19 ยันยกเลิกมาตราการไม่ได้ เผย"บิ๊กตู่"สั่งดูแล"บุคลากรทางการแพทย์-ปชช." หลังกรมสุขภาพจิตพบเครียดเพิ่มขึ้น "โฆษกรัฐบาล" ยันรบ.เร่งแก้ปัญหาช่วยประชาชน ได้รับผลกระทบโควิดไม่ล่าช้า เผย 30 เม.ย.ชัดเจนมาตรการผ่อนปรน ย้ำยังไม่ปลดล็อก 32 จังหวัดตามข่าว ด้าน"ชวน" ชี้ไม่มีอำนาจเปิดสภาฯ ถกพ.ร.ก.กู้เงิน ย้ำ ต้องเป็นไปตามรธน. ส่วน"เพื่อไทย" ล่ารายชื่อ ส.ส. ขอเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ ถกแก้โควิด-19พ่วงชำแหละพ.ร.ก.เงินกู้ 1.9ล้านล้าน ส "บิ๊กแดง"เฉือนงบฯ30% คืนคลังช่วยรัฐแก้โควิด-19 พร้อมเลื่อนซื้อรถหุ้มเกราะไปปี 64-65 ขณะที่"กลุ่มศรีสวัสดิ์-ดร.ฮาราลด์ ลิงค์" ตอบรับนายกฯ เสนอตัวแก้ปัญหาโควิด-19ระบาด ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 22เม.ย.63 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์ การแพร่ระ บาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค. แถลงยืนยันว่า การจะยกเลิกมาตราการที่บังคับใช้ในขณะนี้ ยังไม่มี แต่เป็นลักษณะผ่อนปรน เพราะสถานการณ์รอบประเทศ มีการติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นมาก มีเพียงประเทศเราที่สามารถควบคุมได้ แต่ถ้าประมาทนิดเดียวก็อาจเกิดขึ้นได้ทันที ดังนั้นการจะผ่อนหรือไม่ ขึ้นอยู่กับตัวเลข ของกรมควบคุมโรครายงานมาที่ ศบค. และความจำเป็น เช่นร้านค้า ถ้าจะเปิดก็ต้องมั่นใจว่าลูกค้าที่เข้ามาปลอดภัย ท่านต้องไม่เอาเชื้อไปติดคนอื่น หรือคนอื่นเอามาติดท่าน ก็ต้องป้องกันทั้งสองฝ่าย อย่างไรก็ตามอาจจะมีการทดลองในกลุ่มจังหวัด หรือบางพื้นที่ แต่ต้องรอฟังมติครม.และมติ ศบค.ในการแถลงข่าว นพ.ทวีศิลป์ กล่าวต่อว่า กรมสุขภาพจิต ได้ไปสำรวจความเครียดของกลุ่มตัวอย่าง ซึ่งเป็นบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนทั่วไป แบ่งเป็น 3 ช่วง ได้แก่ 12-18 มี.ค., 30 มี.ค.-เม.ย. และ 13-19 เม.ย.พบว่า ทั้งสองกลุ่มมีความเครียดเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นต่อสภาวะไม่ปกติต้องดูแลกันทุกคน ส่วนใหญ่มีความสามารถในการ ปรับตัวในสิ่งต่างๆแตกต่างกันไป แต่มีบางส่วนแก้ปัญหาไม่ได้ก็ต้องไปดูแล โดยปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้มอบกรมสุขภาพจิตเข้าไปดูแลบุคลากรทางการแพทย์ เชื่อมโยงจัดการเรื่องการหมุนเวียนให้ได้พักบ้าง ดูแลชีวิตความเป็นอยู่ ค่าตอบแทน ส่วนประชาชนถ้ามีความเครียด ให้ขอแสดงตัว และขอความช่วยเหลือ เพราะนายกฯ จัดหน่วยงานดูแลท่านในทุกด้าน ด้าน นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวถึงกรณีที่พรรคฝ่ายค้านออกมาระบุว่าการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดล่าช้าว่า การแก้ไขปัญหาเป็นไปตามขั้นตอน ไม่ได้ล่าช้า ซึ่งมาตรการสาธารณสุขที่เข้มข้นอาจทำให้ได้รับผลกระทบทางสังคม โดยนายกฯได้พิจารณาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดความสมดุลและเป็นไปด้วยความรอบคอบ อย่างไรก็ตามเชื่อว่าภายในวันที่ 30 เม.ย.นี้ จะมีความชัดเจนถึงการผ่อนปรนมาตรการต่างๆ ซึ่งการที่จะพิจารณานั้นจะต้องรับความข้อเสนอจากทุกภาคส่วนก่อน ทั้งด้านสาธารณสุข และหน่วยงานด้านความมั่นคง โดยเมื่อวานนี้(21เม.ย.) นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้หลายฝ่ายไปศึกษามาตรการของการค่อยๆปลดล็อคเพื่อหาแนวทางที่ดีที่สุด อย่างไรก็ตามในขณะนี้ยังไม่มีการปลดล็อกในพื้นที่ 32 จังหวัด ตามที่บางสื่อนำเสนอ เพราะจะต้องรอการหารือจากที่ประชุม ศบค.ก่อน โฆษกประจำสำนักนายกฯ ยังกล่าวถึงกรณีที่พรรคฝ่ายค้าน มีการเรียกร้องให้เปิดสภาฯ สมัยวิสามัญให้เร็วที่สุด เพื่อหารือถึงการให้ความช่วยเหลือประชาชนว่า เรื่องดังกล่าวขึ้นอยู่ที่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ส่วน นายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ เปิดเผยถึงการเปิดประชุมสภาฯ สมัยวิสามัญเพื่อพิจารณาอนุมัติพระราชกำหนดเกี่ยวกับการให้กระทรวงการคลังกู้เงิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน)เป็นการเร่งด่วนว่า ประธานสภาฯไม่มีอำนาจเปิดและนัดประชุมได้ทันที เพราะต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญคือให้คณะรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูลหรือส.ส.และ ส.ว.ทั้งสองสภารวมกัน หรือ ส.ส.จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ในนสามของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ของทั้งสองสภา เข้าชื่อร้องต่อประธานรัฐสภาฯให้นำความกราบบังคมทูล "ไม่ว่าประธานรัฐสภาอยากจะเปิดวิสามัญหรือไม่ก็ไม่สามารถทำได้ เพราะต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ จึงขอขอบคุณความห่วงใยและข้อเสนอของสมาชิกด้วย แต่อย่างไรก็ตามวันที่ 22 พ.ค.จะเป็นวันแรกของสมัยประชุมรัฐสภาสามัญครั้งที่หนึ่งปีที่สองตามเดิม" ด้าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน ในฐานะรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า รัฐสภาจะเป็นทาง ออกของประเทศ ในการแก้ปัญหาโควิด-19 ซึ่งนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน ได้มอบหมายให้ดำเนินการยกร่างหนังสือเพื่อเตรียมขอเปิดประชุมสมัยวิสามัญ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 123 ซึ่ง ส.ส และ ส.ว.ต้องเข้าชื่อกันไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามหรือ 247 คน โดยขณะนี้ได้ยกร่างหนังสือเรียบร้อยแล้ว และเตรียมนำเอกสารดังกล่าวให้สมาชิกสภาร่วมลงชื่อ ในวันที่ 23 เม.ย. ที่พรรคเพื่อไทย ซึ่งผู้นำฝ่ายค้านในสภาได้นัดหารือกับพรรคร่วมฝ่ายค้าน 6 พรรค เพื่อหารือถึงการขอเปิดประชุมสมัยวิสามัญ โดยหลังจากประชุมจะมีการแถลงข่าวในนามพรรคร่วมฝ่ายค้าน นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เมื่อเปิดประชุมสมัยวิสามัญแล้ว จะได้ร่วมกันพิจารณาถึงการเยียวยาประชาชน รวมถึงพิจารณากรณีที่รัฐบาลเสนอพระราชกำหนดเงินกู้ 3 ฉบับ ซึ่งทั้งหมดต้องได้รับความเห็นชอบ รวมถึงคำชี้แนะของรัฐสภา เนื่องจากขณะนี้รายละเอียดการใช้จ่าย ถือว่าน่าเป็นห่วงอย่างมาก เพราะมีคณะกรรมการชุดเดียวจากภาคประจำ และมีผู้ทรงคุณวุฒิเพียง 5 คนมาดูแล สุ่มเสี่ยงในการตรวจสอบการใช้เม็ดเงินดังกล่าว ขณะที่ร่างพระราชบัญญัติโอนจ่ายงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งพรรคเรียกร้องให้มีการปรับลดงบปี 2563 ก่อนที่จะมีการกู้เงินนั้น รัฐบาลก็ไม่ได้บอกว่ามีการปรับลดไปจำนวนเท่าไหร่ บอกแต่เพียงว่าจะต้องเสนอกฎหมายให้สภาพิจารณาเพื่อโอนงบมาใช้ในการเยียวยาประชาชน ซึ่งตรงนี้ต้องใช้เวลากว่าจะได้เม็ดเงินมาเยียวยาประชาชน "หากเปิดประชุมสมัยวิสามัญได้ตั้งแต่ช่วงต้นเดือน พ.ค. ก็จะทำให้สามารถนำเงินในส่วนนี้มาช่วยเยียวยาประชาชนได้เร็วยิ่งขึ้น และหลังผ่านพ้นวิกฤตโควิด การใช้ชีวิตวิถีใหม่ของประชาชนจะเป็นอย่างไรต่อไป ตรงนี้จะได้มีการถกเถียงและมีการเสนอแนะความเห็นให้กับรัฐบาลด้วย" ด้าน นายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการะกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า จากการที่รัฐบาลรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด - 19 ทุกวันนั้นก็ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ที่น่าเป็นห่วงคือรัฐบาลไม่ยอมรายงานจำนวนผู้เข้ารับการตรวจหาเชื้อไวรัสในประเทศ มีการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ในกลุ่มเสี่ยงไปแล้วกี่ตัวอย่าง ในพื้นที่ใดบ้าง เพื่อสร้างความมั่นใจว่ารัฐบาลจริงจังในการแก้ไขปัญหาการระบาด จากการแถลงข่าวของ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. เลือกที่จะแถลงเพียงตัวเลขผู้ติดเชื้อ ที่อยู่ระหว่าวงการรักษา ผู้ที่รักษาหาย และผู้เสียชีวิต แต่ไม่ยอมแถลงจำนวนการตรวจหาเชื้อว่ามีจำนวนการตรวจหาเชื้อไปแล้วจำนวนเท่าใด โดยรายงานล่าสุดจากกระทรวงสาธารณะสุขพบว่ามีการตรวจหาเชื้อในประชาชนทั้งหมด 80,000 ตัวอย่างแต่รัฐบาลเลือกรายงานเพียง 30,000 ตัวอย่างอีก 50,000 รายทำไมรายงาน ดังนั้นอยากทราบว่ารัฐบาลทำไมไม่รายงานผลการตรวจให้ประชาชนทราบ นายวิสาร กล่าวด้วยว่า ในสถานการณ์โรคระบาดที่เกิดขึ้นที่เกิดขึ้นรัฐบาลต้องทำทุกอย่างโปร่งใส เพื่อให้ประชาชนสามารถรับรู้ถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ เพื่อการป้องกันตัวเอง รัฐบาลต้องดำเนินการทุกอย่างเพื่อรักษาชีวิตประชาชน แต่ การเลือกรายงานแต่เฉพาะที่จะเป็นประโยชน์กับรัฐบาลไม่เกิดประโยชน์อะไรกับประชาชนเลย "ในประเทศอเมริกาและยุโรปให้ความสำคัญในการตรวจหาเชื้อของประชาชนมาก มีการตรวจหาเชื้อไวรัสในกลุ่มเสี่ยงวันละมากกว่า 1 แสนคน ประเทศสหรัฐจึงเจอผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก เป็นการดีจะได้ทำการรักษาทัน ป้องกันประชาชนที่ไม่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงด้วย ในประเทศไทยตัวเลขรายงานที่เกิดขึ้นตรวจหาเชื้อทั้งหมดไม่ถึง 1 เปอร์เซ็น จากจำนวนประชากรทั้งประเทศ รัฐบาลต้องตอบคำถามประชาชนว่าทำไมจึงไม่เร่งตรวจหาผู้ติดเชื้อให้มากกว่านี้ เพราะไวรัสร้ายมีทั้งแสดงอาการและไม่แสดงอาการ รัฐต้องเร่งตรวจเชื้อประชาชน เพื่อความปลอดภัยของคนไทยทั้งชาติ" นายวิสารกล่าว ขณะที่ ผู้สื่อข่าวรายงาน กรณีมีการเผยแพร่เอกสารของกรมสรรพวุธ เกี่ยวกับการเดินหน้าโครงการจัดซื้อรถยานเกราะ สไตร์เกอร์ ติดอาวุธ 50 คัน ด้วยงบประมาณ4.5 พันล้าน เป็นการจัดซื้อตามโครงการความช่วยเหลือทางการทหาร Foreign Military Sales -FMS จากสหรัฐอเมริกา ท่ามกลางเสียงวิพากวิจารณ์ ภายหลัง พล.อ.ประ ยุทธ์จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม ขอให้กองทัพ ตัดงบประมาณ ปี 2563 เพื่อช่วยประชาชนจากผลกระทบการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ล่าสุด แหล่งข่าวจากกองทัพบก เปิดเผยว่า พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. ได้ตัดงบปี63 ของกองทัพบกกว่า 30% ตามที่รัฐบาลสั่งให้นำเงินคืนคลัง เพื่อให้รัฐบาลนำงบประมาณไปช่วยแก้ปัญหาการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19โดยมีการชะลอโครงการจัดหายุทโธปกรณ์ไปหลายโครงการ โดยเฉพาะได้ชะลอการจัดซื้อรถยานเกราะ สไตร์เกอร์ ส่วนที่กรมสรรพาวุธออกมาเผยแพร่ประกาศดังกล่าว เป็นเพียงแผนการจัดซื้อจัดจ้าง ตามระเบียบของปี 63 ไม่ใช่การใช้งบฯ ปี 63 วันเดียวกัน น.ส.ธิดา แก้วบุตตา ตัวแทนกลุ่มบริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) หรือ SAWAD เปิดเผยว่า นายฉัตรชัย แก้วบุตตา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท และกลุ่มศรีสวัสดิ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในบุคคล ที่ ได้รับหนังสือเชิญจากนายกฯ ให้เข้าไปมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือประเทศ ให้สามารถผ่านพ้นวิกฤติการแพร่ระบาดของไวรัโควิด-19 โดยกลุ่มศรีสวัสดิ์และนายฉัตรชัยพร้อมช่วยเหลือ เพื่อให้ประเทศฝ่าวิกฤติในครั้งนี้ โดยเบื้องต้นทางกลุ่มเสนอเข้าไปมีส่วนร่วมช่วยเหลือแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ โดยใช้สาขาของศรีสวัสดิ์ทั้งประเทศกว่า 4 พันสา ขา เป็นคลินิกแก้หนี้นอกระบบ โดยเชื่อว่ามีประชาชนกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการหยุดงานหรือเลิกจ้างในช่วงนี้เป็นจำนวนมาก จึงเชื่อว่าจะเป็นอีกทางหนึ่ง ในการช่วยแบ่งเบาภาระให้กับภาครัฐ และดูแลประชาชนในช่วงวิกฤติ เช่นเดียวกับ ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ ประธาน บี.กริม และกลุ่มบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ เปิดเผยว่า ตนตื่นเต้นดีใจมาก หลังจากเปิดอีเมลล์ผ่านมือถือได้รับจดหมายรับเชิญจากพล.อ.ประยุทธ์เพื่อเข้าร่วมทีมไทยแลนด์สู้วิกฤติโควิด-19 "ผมจะตอบรับคำเชิญอย่างเร็ว ภายในวันศุกร์นี้ หรืออย่างช้าวันจันทร์หน้า บีกริมยินดีและดีใจร่วมมือฝ่าวิกฤติโควิด-19 ร่วมกับรัฐบาลไทย มีอะไรให้ช่วยก็ให้บอกมา ผมอยู่เมืองไทยมานาน จนกลายเป็นพลเมืองไทยคนหนึ่งและพร้อมให้ความช่วยเหลือประเทศไทยเต็มที่" พร้อมกันนี้ นางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ "BGRIM" ยังเปิดเผยเพิ่มเติมว่า ทางด้านกลุ่มธุรกิจโรงไฟฟ้าของ BGRIM และโครงการ "บี.กริม ปันน้ำใจสู้ภัยโควิด-19" ได้จัดส่งความช่วยเหลือรูปแบบต่างๆ ตามความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ โดยการทำงานร่วมกันจากผู้บริหารและพนักงานของ BGRIM ทั้งจากส่วนกลางและในแต่ละโรงไฟฟ้า ซึ่งครอบคลุมพื้นที่โดยรอบโครงการโรงไฟฟ้าในรัศมี 3-5 กิโลเมตร และครอบคลุมจำนวนประชาชนผู้เดือดร้อนจำนวนมาก โดยได้ส่งความช่วยเหลือไปเบื้องต้นแล้ว อาทิ บริจาคเงินช่วยเหลือ ให้แก่ สถานพยาบาล และระดับชุมชน โดยรอบพื้นที่โครงการโรงไฟฟ้าแต่ละแห่ง สนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์ Face Shield, เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ และเครื่องวัดอุณหภูมิ ให้แก่สถานพยาบาล สนับสนุนหน้ากากอนามัย และน้ำ Demined เพื่อใช้ในการทำ เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ เพื่อแจกจ่ายให้กับชุมชนรอบข้าง