“ ผมคิดว่าถ้าเราพัฒนาไปในทิศทางที่ควรจะเป็น มีการเลือกตั้งในปีหน้า นี่ก็จะเป็นการส่งสัญญาณที่ดีในเวทีโลก ถ้าโรดแมปนำไปสู่การเลือกตั้งก็เป็นสิ่งที่ดีแน่นอนแต่พอมีแล้วเราไปเปลี่ยนวันที่บ่อยๆก็คงไม่ได้ เราจะต้องทำตามสัญญาประชาคมที่ได้ให้ไว้ ซึ่งสัญญาประชาคมนี้นั้นไม่ใช่แค่สัญญาประชาคมที่ให้แก่คนไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นสัญญาประชาคมโลกด้วย” หมายเหตุ : สถานการณ์โลกเต็มไปด้วยความเข้มข้น ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้น ณ ประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา นับตั้งแต่มี “โดนัล ทรัมป์” เข้ามารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 45 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นมากมาย ทั้งการเมือง เศรษฐกิจและด้านสังคม ที่มีแนวโน้มว่านโยบายต่างๆของประธานาธิบดีคนที่45 ของสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยอีกด้วย ล่าสุด โดนัล ทรัมป์ ได้ยกหูต่อสายตรงจากทำเนียบขาว มายังตึกไทยคู่ฟ้า เพื่อพูดคุยกับ “ผู้นำรัฐบาลไทย” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ภายใต้คำถามและข้อกังขา ว่าสหรัฐฯ กำลังส่งสัญญาณ อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ วันนี้ “สยามรัฐ” มีบทสัมภาษณ์พิเศษ จาก “ดร.กันตธีร์ ศุภมงคล” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะที่ได้มีโอกาสไปใช้ชีวิตและได้รับเชิญไปสอนหนังสือในมหาวิทยาลัยชื่อดังในสหรัฐฯ ที่จะมาสะท้อนมุมมอง และไขคำตอบ ในหลากหลายประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้ - คิดอย่างไรกับกรณีที่ “โดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ต่อสายตรงถึง นายกรัฐมนตรีไทย ผมว่าเรื่องนี้ว่ามีความสำคัญ ถ้าหากมองจากหลายมุมมอง ต้องยอมรับว่านานๆทีถึงจะมีการติดต่อกันระหว่างประธานาธิบดีสหรัฐฯ กับผู้นำไทย ซึ่งหลังจากที่ประเทศไทยมีความเปลี่ยนแปลง ความสัมพันธ์กับไทยและและสหรัฐฯก็ค่อนข้างจะดูเย็นๆไปในสมัยอดีตประธานาธิบดี “บารัค โอบามา” ย้อนกับมาเรื่องการโทรศัพท์ เขาก็โทรศัพท์ไปหาทั้งผู้นำของสิงคโปร์ ผู้นำของฟิลิปปินส์ด้วย ซึ่งแรงกระตุ้นให้มีการต่อสายตรงมาถึงผู้นำประเทศนั้นหลักๆก็คงจะมาจากเรื่องปัญหาในคาบสมุทรเกาหลี ซึ่งตอนนี้ก็ถือว่าเป็นปัญหาที่น่าห่วงพอสมควร ทรัมป์ อาจจะเริ่มเห็นภาพจริงของการดำเนินนโยบายต่างประเทศในลักษณะของเขาที่มักใช้ทวิตเตอร์เป็นหลักในการแสดงความเห็นแต่ไม่ได้มีการกำหนดนโยบายแบบครบวงจรมาโดยมองทั้งการกระทำและท่าทีที่จะตอบสนองกลับมาหรือ Action กับ Reaction มาก่อน ถ้าจำได้เวลาหาเสียง ทรัมป์ ได้แสดงจุดยืนต่อต้านการทำข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ ภาคพื้นแปซิฟิค (TPP)ที่ได้ทำในสมัย โอบามา อย่างชัดเจนซึ่งข้อตกลงดังกล่าวนั้นจะทำให้สหรัฐฯ ได้เปรียบในแง่ของการสร้างความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกฉียงใต้อย่างชัดเจนต่อประเทศจีน เพราะว่าข้อตกลง TPP นี้ไม่มีจีนเข้าร่วมอยู่ด้วย แต่พอสหรัฐฯเดินออกจาก TPP ก็จะค่อยๆเห็นว่าจีนจะเริ่มได้เปรียบมากขึ้น และที่ผ่านมาก็จะเห็นได้ว่าเวลาความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐฯเย็นลง มีปัญหาบางอย่างเกิดขึ้น จีนก็จะได้ประโยชน์ เขาได้พัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐฯไปมากพอสมควร ซึ่งตรงนี้ก็อาจจะเป็นอีกอย่างหนึ่งที่สหรัฐฯอยากจะให้มีความสมดุลระหว่างความสัมพันธ์ให้เหมาะสมระหว่างไทยกับสหรัฐฯ และไทยกับจีนมากขึ้น เพราะเหมือนกับว่ามีการเอียงไปยังจีนมากไปหน่อยในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา สำหรับการโทรศัพท์พูดคุยกันคราวนี้ผมถือว่าเป็นจุดที่แสดงว่าสหรัฐฯต้องการที่จะให้ความสัมพันธ์ทั้งสองประเทศที่ยืนยาวมากว่า 184 ปีมีความแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ผมเข้าใจว่า ทรัมป์ ใช้คำภาษาอังกฤษว่า To an Unprecedented Level แปลว่าจะดีกว่าที่เคยเป็นมาก่อน ดังนั้นนี่จึงเป็นโอกาสที่ดีสำหรับประเทศไทยที่จะฉวยตรงนี้เอาไว้ ผมดีใจที่ประเทศไทยจะได้เข้าประตูที่เปิดใหม่เพื่อความความสัมพันธ์ที่มีสาระแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ส่วนจะแน่นแฟ้นแค่ไหน ก็อยู่ที่ขีดความสามารถของฝ่ายไทยด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ผมขอย้ำว่าไทยควรจะสร้างสมดุลด้านความสัมพันธ์ทั้งกับไทยและสหรัฐ ฯและไทยกับจีนให้เหมาะสม ไม่อยากมองว่าไทยไปเข้ากับประเทศไหนเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ อยากมองว่าไทยไปเข้ากับแต่ละประเทศ 40-50 เปอร์เซ็นต์มากกว่า - สำหรับปัญหาในคาบสมุทรเกาหลี มีผลกระทบกับไทยอย่างไรบ้าง และคิดว่าจะลุกลามไปขนาดไหน ผลกระทบแรกที่เห็นชัดเจนก็คือการที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯได้โทรศัพท์สายตรงมาถึงนายกรัฐมนตรีไทยซึ่งนี่ก็ถือว่าเป็นผลกระทบทางบวก ส่วนผลกระทบอื่นๆนั้นก็คงต้องมองกันเป็นฉากๆไปว่าสถานการณ์นั้นจะไปในทิศทางไหนในตอนนี้มีความตึงเครียดเพิ่มขึ้นค่อนข้างจะมาก ในอดีตความตึงเครียดนั้นก็มีอยู่แล้วตั้งแต่สงครามเกาหลีเป็นต้นมาไปจนถึงสมัยสงครามเย็น ที่ผ่านมาเกาหลีเหนือจะมีความไม่พอใจถ้าหากสหรัฐฯและเกาหลีใต้ทำการซ้อมรบร่วมกันเพราะเขามองว่าเป็นฉากแรกของการจะบุกเขา เพราะฉะนั้นเขาก็จะมีปฏิกิริยารุนแรง และภายหลังจากปี 2006 เขาก็ได้ประกาศตัวว่าตัวเองมีอาวุธนิวเคลียร์ และก็ได้มีการทดสอบอยู่เรื่อยมาโดยเฉพาะช่วงที่มีการซ้อมรบ และในวันที่ 25 เม.ย.ซึ่งเป็นวันสถาปนากองทัพ เกาหลีเหนือ เขาก็มีการทดสอบการยิงขีปนาวุธอีก ซึ่งเรื่องเหล่านี้นั้นเป็นเรื่องที่ชาวโลก ประเทศในภูมิภาคนั้นมีความเคยชินแล้ว จึงไม่มีผลกระทบมากนักในแง่ของจิตวิทยา ทุกอย่างถือว่าเป็นไปตามปกติ เศรษฐกิจก็ไม่ได้รับความกระทบกระเทือนอะไร อย่างไรก็ตามในคราวนี้มีความแตกต่างก็คือว่า ทรัมป์และ คิมจองอุน ผู้นำเกาหลีเหนือนั้นมีลักษณะที่คาดเดาได้ยากว่าจะเดินต่อไปได้อย่างไร ดังนั้นตรงนี้ก็จะทำให้มีความตึงเครียดมากขึ้น และอีกประการก็คือทางสหรัฐฯได้วิเคราะห์มาแล้วว่าอีก 4-5 ปี เกาหลีเหนือจะสามารถเอาระเบิดนิวเคลียร์ติดตั้งลงในขีปนาวุธข้ามทวีปหรือ ICBM ได้ ซึ่งจะมีความสามารถในการยิงโจมไปยังซีกตะวันตกของแผ่นดินหลักของสหรัฐฯได้ ซึ่งนี่ก็เป็นสิ่งที่สหรัฐฯกลัวและไม่ต้องการให้เกาหลีเหนือพัฒนาไปได้ถึงจุดนั้น แต่ถ้าวิเคราะห์ในท่าทีล่าสุดก็จะพบว่า ทรัมป์ ได้มีความเปลี่ยนแปลงในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีความชัดเจนว่าเขาเริ่มจะฟังผู้เชี่ยวชาญที่เขาควรจะฟังมากขึ้น แต่ก่อนนั้นเขาจะฟังแต่ผู้ที่ใกล้ชิดกับเขาซึ่งอาจจะไม่มีความรู้ในเรื่องยุทธศาสตร์ ในเรื่องของการต่างประเทศมากนัก และสิ่งที่เขาทำในตอนนี้นอกจากการใช้คำพูดโต้เถียงที่รุนแรงและมีการนำเอาเรือบรรทุกเครื่องบิน “ชาร์ล วินสัน” ไปคาบสมุทรเกาหลี เมื่อวันที่ 2 พ.ค.ที่ผ่านมา ทรัมป์ กลับพูดในอีกทางว่าถ้าหากได้พบกับ คิมจองอุน ก็ถือว่าเป็นเกียรติ ในขณะเดียวกัน เกาหลีเหนือก็ต้องประพฤติตัวให้ดีขึ้น ต้องลดท่าทีที่จะนำไปสู่จุดที่จะใกล้สงครามลง ซึ่งถือเป็นเงื่อนไขที่ไม่ยากนัก อีกทั้งยังมีการพูดชม คิมจองอุน ด้วยว่าเป็นคนเก่ง สามารถนำประเทศได้ตั้งแต่อายุยังน้อยแม้จะมีปัญหามากมายก็ตาม ดังนั้นผมมองว่าปัจจัยด้านความสำเร็จทางการทูตที่สำคัญของเขาก็คือการใช้กำลังทหารไปกดดันให้ประเทศเป้าหมายนั้นยอมทำตามและไม่ต้องใช้กำลังทางทหารไปโจมตีประเทศอื่น ไม่เหมือนกับตอนสมัยอดีตประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช ที่นำทหารไปบุกอิรักเลย จนส่งผลให้ในขณะนี้ภูมิภาคนั้นก็ยังคงมีสงครามอยู่ ดังนั้นผมว่าถ้า ทรัมป์ ใช้ยุทธศาสตร์สร้างกำลังทหารมากดดันเกาหลีเหนือว่าเอาจริง แล้วก็เริ่มพูดจาชมเชยเขา ตรงนี้ผมว่าเป็นยุทธศาสตร์ที่ดีมาก มีความเป็นไปได้ว่าจะทำให้เกาหลีเหนือสงบลง เพราะสิ่งที่ทางเกาหลีเหนือต้องการมากที่สุดก็คือ 1. เขาต้องการให้มีการประกาศว่าสงครามเกาหลีเมื่อ 50 กว่าปีก่อนนั้นได้สิ้นสุดลงไปแล้วและให้มีการลงนามสัญญาสันติภาพ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการลงนามยุติสงครามอย่างเป็นทางการ 2 .ให้มีการยอมรับว่าเกาหลีเหนือเป็นรัฐอธิปไตยอยู่ในประชาคมโลก เท่าเทียมกับประเทศอื่น และจะไม่คุกคามเกาหลีเหนือ ซึ่งผมมองว่าสิ่งที่เกาหลีเหนือต้องการเหล่านี้นั้นถือว่เป้นของฟรี สามารถทำได้เลยและคงไม่มีค่าใช้จ่ายอะไรมากนัก ถ้าหาก ทรัมป์ ดำเนินนโยบายในลักษณะนี้ก็ถือว่าเป็นนโยบายนอกกรอบแบบใหม่ที่สหรัฐยังไม่เคยทำมาก่อน ส่วนจะประสบความสำเร็จแค่ไหนนั้นก็อยู่ที่การเจรจา และนี่ก็เป็นสิ่งที่ควรจะจับตามอง - นอกเหนือจากการทหาร นโยบายอเมริกา เฟิร์ส จะส่งผลกระทบอะไรต่อประเทศไทยบ้างหรือไม่ เรื่องนี้มีผลกระทบไปแล้วในส่วนหนึ่ง ก็คือเรื่องของการถอนตัวจาก TPP ซึ่งการที่สหรัฐฯถอนตัวออกจาก TPP ถือว่ามีผลดีต่อประเทศไทย เพราะว่าที่ผ่านมาไทยใช้เวลาในการตัดสินใจในการร่วม TPP ไม่ค่อยได้ หรือเราไม่ตัดสินใจ พอตอนนี้เรื่อง TPP มีความชัดเจน ซึ่งถ้าหากสหรัฐฯยังอยู่ใน TPP ประเทศคู่แข่งทางการค้าของไทยที่อยู่ใน TPP อาทิ เวียดนามเข้าไปร่วมแล้วไทยไม่ไปร่วมก็ถือว่าเขาได้เปรียบมหาศาล ดังนั้นการถอนตัวออกจาก TPP ก็ถือว่าทำให้เกิดความสมดุลในแง่ของความได้เปรียบทางการค้าระหว่างประเทศไทยและประเทศคู่แข่ง นอกจากนี้ที่ผ่านมา ทรัมป์ ยังได้มีการลงนามในคำสั่งทางบริหารออกมาหลายฉบับ อาทิคำสั่งให้ตรวจสอบว่าประเทศไหนได้เปรียบดุลการค้ากับสหรัฐฯ ก็ปรากฏว่าไทยอยู่ในประเทศเหล่านั้นด้วย ซึ่ง ทรัมป์ มองแค่ว่า ใครได้เปรียบดุลการค้าเท่านั้นไม่ได้มองในองค์รวมอื่นๆ ตรงนั้นก็หมายความว่าอาจจะมีผลต่อการส่งออกของประเทศไทยได้ แต่อย่างไรก็ตามพอมีการโทรศัพท์สายตรงมาถึงนายกรัฐมนตรีไทย ซึ่งผมทราบว่า ทรัมป์ ได้พูดถึงในประเด็นเรื่องการค้าด้วย ดังนั้นนี่จึงเป็นโอกาสดีที่ไทยจะได้ยกเรื่องการค้าขึ้นมาเจรจากับทางสหรัฐฯ และจะปกป้องผลประโยชน์ทางการค้าของไทยได้พอสมควร ทรัมป์ ต้องการให้มีการเจรจาในระดับทวิภาคีเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเขาไม่ชอบการเจรจาในระดับพหุภาคี ซึ่งเราเคยมีการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯในระดับทวิภาคีเมื่อสิบกว่าปีมาแล้ว และก็ล้มเหลวไป ดังนี้ตรงนี้ก็ถือว่าเป็นโอกาสอันดีที่เราจะได้มาหารือกันว่าการทำทวิภาคีนั้นควรหรือไม่ควร เท่าที่ผมทราบ ทรัมป์ ก็ส่งสัญญาณไปทางเวียดนามว่าต้องการให้มีการเจรจาในลักษณะนี้เช่นกัน ดังนั้นนี่ก็คือประเด็นที่รัฐบาลไทยควรจะมาฉุกคิด อีกเรื่องที่อาจจะกระทบกับไทยก็คือในเรื่องของคำสั่งจากทางทำเนียบขาวที่ต้องการให้มีความเข้มงวดกับคนจากต่างประเทศที่ต้องการจะเข้าสหรัฐฯก็อาจจะส่งผลทำให้ขอวีซ่าเข้าสหรัฐฯได้ยากขึ้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะขอไม่ได้เลย แต่คนไทยที่คงจะได้รับผลกระทบเต็มๆก็คงจะเป็นกลุ่มคนไทยที่เข้าไปอยู่ในสหรัฐโดยผิดกฎหมาย - ประเทศไทยมีจุดแข็งอะไรบ้าง ในภูมิภาคนี้ ถ้าหากดูแผนที่จะพบว่าไทยอยู่จุดศูนย์กลางของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน เป็นศูนย์กลางมากกว่าสิงคโปร์และฟิลิปปินส์ แต่อย่างไรก็ตามเราอาจจะยังใช้ตรงนี้เป็นจุดแข็งไม่มากเท่าที่ควร ที่ผ่านมาเราได้สร้างสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะเป็นสนามบินที่เป็นจุดศูนย์กลางทางด้านการบินในภูมิภาคนี้ ในทรัพยาการธรรมชาติก็ถือว่าเรามีเยอะมาก แต่อาจจะยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ให้มากเท่าที่ควร ประเทศสิงคโปร์ไม่มีทรัพยากรธรรมชาติเลย แต่เขากลับได้ประโยชน์ในแง่ของการเน้นความสำคัญด้านการศึกษา อีกส่วนหนึ่งที่เป็นจุดแข็งก็คือนโยบายด้านการส่งเสริมการลงทุน ที่เราเชิญชวนให้ต่างชาติเขาเข้ามาลงทุน แต่เรื่องเหล่านี้ก็ยังมีอุปสรรคเช่นกัน อาทิ อุปสรรคด้านกฎหมายศุลกากร เรื่องภาษี กฎหมายที่มีผลบังคับย้อนหลัง ซึ่งทั้งหมดนี้ก็สร้างความไม่มั่นใจให้กับนักลงทุนขึ้นมา เพราะไม่ทราบว่าจะมีผลกระทบอะไรย้อนหลังตามมาหรือไม่ อีกทั้งในระดับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการณ์ก็ยังเป็นอุปสรรคเช่นกัน ดังนั้นปัญหาเหล่านี้ก็ควรจะแก้ไขให้เร็วที่สุด จุดเด่นอีกอย่างหนึ่งก็คือใน ด้านการท่องเที่ยว รวมทั้งเราก็ไม่ใช่ประเทศที่เป็นคู่ขัดแย้งกับใครโดยตรง ตอนที่ผมเป็นผุ้แทนการค้า ก็เคยมีการพูดในที่ประชุมว่าในภูมิภาคอาเซียน ประเทศไทยน่าจะเป็นศูนย์กลางการพักฟื้นผู้ป่วย (Recuperation Hub) และขณะที่ประเทศสิงคโปร์เป็นศูนย์กลางการรักษาพยาบาล (Medical Hub) ซึ่งผมก็ไม่เห็นด้วยตรงนี้ ผมมองว่าประเทศไทยสามารถเป็นได้ทั้ง Recuperation Hub และเป็นได้ทั้ง Medical Hub อย่าไปให้สิงคโปร์เขาไปได้ตรงนี้ฟรีๆ ตั้งแต่ตอนนั้นก็บมีความเปลี่ยนแปลงมากขึ้น เริ่มมีการผลักดันให้โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์เป็น Medical Hub ขึ้นมา เพราะฉะนั้นผมคิดว่าประเทศไทยนั้นมีศักยภาพมาก แต่เรากลับมีเพดานต่ำ ซึ่งเพดานที่ว่านี้ก็เป็นสิ่งที่เราได้สร้างขึ้นมา นอกเหนือจากนี้ผมก็มีสิ่งที่อยากจะฝากไปยังคนไทย โดยเฉพาะในเรื่องของบริษัท ห้างร้านในไทย โดยเราอย่าไปคิดแค่ว่าเปิดร้าน เปิดบริษัทแล้วทำอย่างไรให้ได้กำไรเท่านั้น บริษัทในประเทศญี่ปุ่นเขามองว่าเมื่อเปิดบริษัทแล้ว บริษัทคู่แข่งของตัวเองที่เก่งที่สุดในโลกอยู่ที่ไหน แล้วเราสามารถทำให้ตัวเองเก่งกว่าเขาสัก 5-10 เปอร์เซ็นต์ได้หรือไม่ ซึ่งผมอยากให้ผู้ประกอบการในประเทศไทยได้มองในแง่มุมนี้บ้าง -รัฐบาลชูธงว่าจะปฏิรูปประเทศในหลายด้าน ตรงนี้ต่างชาติเขามองเราอย่างไร ประเด็นแรก เมื่อมีข่าวออกไปว่าประเทศเรามีความขัดแย้ง ปัญหาจะไม่ได้อยู่แค่เพียงว่า ต่างประเทศเขาจะมองไทยอย่างไร แต่ปัญหาก็คือว่าต่างชาติเขาจะไม่มองไทย เพราะมีประเทศต่างๆอยู่มากกว่า 192 ประเทศ ถ้าหากประเทศไทยยังมีความขัดแย้งอยู่นั้น ชาวโลกก้คงจะไปมองที่ประเทศเพื่อนบ้านของไทยมากกว่า ผมว่าเวียดนามได้ประโยชน์อย่างมหาศาลกับการที่ประเทศไทยมีปัญหาภายในในรอบสิบปีที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมานั้นมีหลายบริษัทนั้นอยากจะมาลงทุนในไทย แต่เขาเลือกที่จะไปที่อื่นแทนซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นสิ่งที่ประเทศไทยก็ไม่รู้เลย และอีกประเด็นที่ผมถือว่าเป็นจุดดีของประเทศไทยนั้นก็คือเรื่องของความปลอดภัย ซึ่งเราไม่ค่อยจะมีเหตุรุนแรงเท่าไร แม้จะมีกรณีระเบิดที่บริเวณพระพรหม ตรงแยกราชประสงค์แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นบ่อยๆ ผมคิดว่าถ้าเราพัฒนาไปในทิศทางที่ควรจะเป็น มีการเลือกตั้งในปีหน้า นี่ก็จะเป็นการส่งสัญญาณที่ดีในเวทีโลก ถ้าโรดแมปนำไปสู่การเลือกตั้งก็เป็นสิ่งที่ดีแน่นอน แต่พอมีแล้วเราไปเปลี่ยนวันที่บ่อยๆก็คงไม่ได้ เราจะต้องทำตามสัญญาประชาคมที่ได้ให้ไว้ ซึ่งสัญญาประชาคมนี้นั้นไม่ใช่แค่สัญญาประชาคมที่ให้แก่คนไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นสัญญาประชาคมโลกด้วย และที่สำคัญ อย่าให้ต่างชาติไปลือกันว่ามาประเทศไทยแล้วมีปัญหาเรื่องกฎระเบียบราชการหรือประสบความลำบาก เรื่องการทุจริตก็เช่นกัน ถ้าหากประเทศไทยสามารถปราบปรามการทุจริตให้ลดน้อยที่สุดก็จะช่วยเหลือในด้านการลงทุนได้เป็นอย่างยิ่ง เรื่อง : กิตติกร แสงทอง ภาพ : พสุพล ชัยมงคลทรัพย์