วันที่ 22 เมษายน ที่ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม อาคาร 20 ชั้น 8บมจ.ทีโอที ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางตรวจเยี่ยมศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม (Anti Fake News Center) พร้อมทั้งมอบนโยบาย โดยมีนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ให้การต้อนรับ
พลเอกประวิตร กล่าวว่า กระบวนการทำงานของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม และศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (PCT) ซึ่งเป็นความร่วมมือ ระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ซึ่งถือเป็นการทำงานที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในภาวะวิกฤติที่ทั่วโลกและประเทศไทย ต้องเผชิญกับสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 เพื่อปกป้องประชาชนและสังคมจากผลกระทบด้านลบของข่าวปลอมในภาวะนี้ เนื่องจากข่าวปลอมในช่วงระยะหลังนี้ หลายข่าวสร้างความตื่นตระหนกให้กับประชาชนที่อยู่ในภาวะหวั่นวิตกเกี่ยวกับปัญหาด้านเศรษฐกิจและปากท้อง ดังนั้น อีกหนึ่งบทบาทสำคัญของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมในสถานการณ์นี้ คือ การเป็นช่องทางประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับโควิด-19 เพื่อให้สังคมได้รับข้อมูลที่ถูกต้องเที่ยงตรง รองนายกฯ ยังกล่าว ขอบคุณกระทรวงดิจิทัลฯ ที่ได้มีนโยบายและดูแลและมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือประชาชนในรูปแบบต่าง ๆ โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยี เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา รวมทั้ง บมจ. ทีโอที ที่ได้ดำเนินการตามนโยบายไว้อย่างดีด้วย โดยขอชื่นชมในความตั้งใจจริงในการทำงาน เสียสละ ของเจ้าหน้าที่ทุกท่านที่ยังปฏิบัติหน้าที่กันอย่างเต็มที่ในสถานการณ์เช่นนี้ ข่าวปลอมนั้นส่งผลกระทบทางด้านลบ และขณะนี้ก็เป็นประเด็นที่ทั่วโลกต่างให้ความสนใจก็คือ ข่าวปลอม (Fake News) มักถูกเผยแพร่หรือส่งต่อในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งจะสร้างความเสียหายต่อส่วนตัวและสังคมในวงกว้างอย่างมาก และขอฝากงานอีกด้านหนึ่งที่ต้องดำเนินการคือ การเสริมสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีที่ปลอดภัยแก่ประชาชนและสังคม รู้จักวิธีตอบโต้ข่าวปลอม มีความรับผิดชอบต่อสังคม ในการเผยแพร่และแบ่งปันข้อมูล ควรจะเป็นการบรรจุหลักสูตรการรู้เท่าทันสื่อในโรงเรียนในการรู้เท่าทัน ข่าวปลอม อย่างมีวิจารณญาณไตร่ตรองก่อนการแชร์ต่อ เพื่อสร้างความสุขให้กับสังคมและประชาชนอย่างยั่งยืน
นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า ภาพรวมผลการดำเนินงานตรวจสอบของศูนย์ฯ ในส่วนที่เกี่ยวกับกระแสไวรัสโควิด-19 ระหว่างวันที่ 25 มกราคม-เมษายน 2563 อย่างต่อเนื่อง 83 วัน ทั้งจากการรับแจ้งเบาะแสและติดตามการสนทนาบนโลกออนไลน์เกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 พบจำนวนข้อความที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 2,428,621 ข้อความ มีข้อความข่าวที่เข้าเกณฑ์ที่ต้องดำเนินการ 2,870 ข้อความ คัดกรองแล้วพบว่ามีข่าวที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ 821 เรื่อง โดยมีข่าวที่ผ่านกระบวนการตรวจสอบและเผยแพร่แล้ว 244 เรื่อง แบ่งเป็น ข่าวปลอม 192 เรื่อง ข่าวจริง
24 เรื่อง และข่าวบิดเบือน 28 เรื่อง คิดเป็นสัดส่วน 8 : 1 : 1 ตามลำดับทั้งนี้ มีข้อน่าสังเกตว่าในช่วงที่มีสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ข่าวปลอมส่วนใหญ่ที่มีการแพร่กระจายบนออนไลน์และโซเชียลหลักๆ กว่า 60% จะเป็นข่าวในกลุ่มนโยบายรัฐบาล /ข่าวสารทางราชการ/ความสงบเรียบร้อยของสังคม / ขัดศีลธรรมอันดี
และความมั่นคงภายในประเทศ ขณะที่ ข่าวกลุ่มสุขภาพซึ่งเคยครองพื้นที่ข่าวปลอม ลดสัดส่วนลงไปอยู่ที่กว่า 30% และสรุปภาพรวมผลการดำเนินการของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ตลอดช่วงระยะเวลาเกือบ 6 เดือนที่ผ่านมาว่า จากการรับแจ้งเบาะแสและติดตามการสนทนาบนโลกออนไลน์เกี่ยวกับข่าวปลอม ตั้งแต่เริ่มเปิดศูนย์จนถึงปัจจุบัน มีจำนวนข้อความเข้ามาทั้งหมด 5,904,637 ข้อความ หลังจากคัดกรองแล้วพบข้อความที่เข้าเกณฑ์ดำเนินการตรวจสอบ 10,611 ข้อความ จำนวนเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 3,127 เรื่อง และได้รับการเผยแพร่แล้ว 565 เรื่อง แบ่งเป็น ข่าวปลอม 399 เรื่อง ข่าวจริง 114 เรื่อง และข่าวบิดเบือน
52 เรื่อง คิดเป็นสัดส่วน 7 : 2 : 1 ตามลำดับ
สำหรับผลจากการทำงานอย่างทุ่มเทของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม และการดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมาย มีการดำเนินคดีกับผู้สร้างข่าวปลอม ในช่วงที่ผ่านมาจึงเริ่มเห็นแนวโน้มกระแสและข่าวปลอมลดลงอย่างต่อเนื่อง