สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ Fan Page โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กระบุ “แม้ฝนจะไม่ตก แต่ฝนดาวตกนะครับ เตรียมตัวพบกับ #ฝนดาวตกไลริดส์ ฝนดาวตกแห่งเดือนเมษายน คืนวันที่ 22 เมษายน 2563 เริ่มเวลาประมาณ 23:30 น. เป็นต้นไปจนถึงรุ่งเช้า ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณกลุ่มดาวพิณ คาดว่าจะมีอัตราการตกสูงสุดเฉลี่ย 18 ดวงต่อชั่วโมง คืนดังกล่าวไร้แสงจันทร์รบกวน เหมาะแก่การสังเกตการณ์เป็นอย่างยิ่ง สามารถสังเกตการณ์ได้ทั่วประเทศหากฟ้าใสไร้เมฆ แต่ก็ต้องอยู่ในบริเวณที่มืดสนิทปราศจากแสงรบกวน ดังนั้นบ้านของใครที่มีมลภาวะทางแสงน้อย ถือว่าโชคดีมากเลย ฝนดาวตกไลริดส์ เป็นฝนดาวตกที่เกิดจากเมื่อโลกโคจรเข้าไปตัดกับสายธารของฝุ่นดาวหาง C/1861 G1 (Thatcher) ที่ทิ้งเศษซากไว้ขณะโคจรรอบดวงอาทิตย์ แรงดึงดูดของโลกจะดึงดูดเศษฝุ่นเข้ามาในชั้นบรรยากาศ เกิดการเผาไหม้ ปรากฏเป็นแสงสว่างวาบผ่านท้องฟ้า มีจุดศูนย์กลางการกระจายอยู่ระหว่างกลุ่มดาวพิณและกลุ่มดาวเฮอร์คิวลิส ฝนดาวตกไลริดส์จะเกิดขึ้นในช่วงวันที่ 14 - 30 เมษายนของทุกปี มักมีอัตราการตกมากที่สุดในคืนวันที่ 22 เมษายน ประมาณ 18 ดวงต่อชั่วโมง แม้จะน้อยแต่ก็มีความสวยงามและสว่างสุกใสไม่แพ้ฝนดาวตกในกลุ่มดาวอื่น”