สำหรับวิกฤติโรคระบาดโควิด-19 ได้สร้างผลกระทบต่อตลาดการท่องเที่ยวไทยมากที่สุดประเทศหนึ่งในเอเชีย จากเมื่อปีที่ผ่านมามีผู้เดินทางเข้ามาจากต่างประเทศถึง 39.8 ล้านคน ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวจีนกว่า 11 ล้านคน โดยภาคการท่องเที่ยว โรงแรม และการเดินทางของไทย มีส่วนขยายอยู่ระหว่าง 12 - 15% ของ GDP และเป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ทั้งนี้จากการสำรวจความเชื่อมั่นการท่องเที่ยวของชาวจีนปี 2020ที่ได้ดำเนินการในช่วงกลางเดือนเมษายน 2563 โดย ซีไนน์ โฮเทลเวิร์คส์ และเดลิเวอร์ริ่ง เอเชีย คอมมิวนิเคชั่นส์ (China Thailand Travel Sentiment Survey 2020) พบว่า 53% ของผู้ตอบแบบสอบถามซึ่งเป็นชาวจีนในเมืองชั้นนำ ต้องการเดินทางไปต่างประเทศภายในปีนี้ โดยเดือนที่มีการตั้งเป้าจะเดินทางมากที่สุด ได้แก่ สิงหาคม ตุลาคม และธันวาคม ซึ่งได้พบผลเชิงบวกจากการสำรวจ มี ผู้บริโภคชาวจีนต้องการมาเที่ยวประเทศไทยถึง 71%
ซึ่งจากผลการสำรวจยังพบว่า พฤติกรรมการท่องเที่ยวของชาวจีนแบบดั้งเดิมในตลาดที่มีกลุ่มคนเป็นจำนวนมาก มีการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจ คือ 83% ของนักท่องเที่ยวจีนมีแนวโน้มเลือกเดินทางแบบอิสระ มากกว่าการท่องเที่ยวแบบกรุ๊ปทัวร์ ทั้งนี้พฤติกรรมดังกล่าวนำไปสู่การพยากรณ์ของอุตสาหกรรมโรงแรมและการท่องเที่ยวต่อช่องทางการซื้อที่ตอบโจทย์นักเดินทางชาวจีนสู่ประเทศไทย ทั้งนี้เดือนที่มีการตั้งเป้าจะเดินทางมากที่สุด ได้แก่ สิงหาคม ตุลาคม และธันวาคม
โดย 5 อันดับแรก ได้แก่ CTrip (61%) Fliggy (16%) เว็บไซต์โรงแรม (9%) Booking.com (5%) และ WeChat (5%) ซึ่งข้อมูลเชิงลึกที่สำคัญอีกประการหนึ่งของผลการสำรวจ คือจุดหมายปลายทางในประเทศไทยที่เป็นที่นิยมสำหรับการพักผ่อนมากที่สุดของผู้ตอบแบบสอบถามชาวจีน ได้แก่ กรุงเทพ ภูเก็ต เชียงใหม่ เกาะสมุย และพัทยา โดยกว่า 75% เลือกเดินทางมายัง 3 อันดับแรก
อย่างไรก็ตาม นายบิล บาร์เน็ต กรรมการผู้จัดการ ซีไนน์ โฮเทลเวิร์คส์ กล่าวถึงแนวทางการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวไทย ว่า การฟื้นตัวของท่องเที่ยวไทยในช่วงเริ่มต้นหลังโควิด-19 น่าจะเป็นการเดินทางภายในประเทศ และมีการท่องเที่ยวข้ามภูมิภาคอย่างรวดเร็ว ด้วยภาคธุรกิจในต่างประเทศของจีนที่พร้อมและเต็มใจที่จะมาท่องเที่ยวในประเทศไทย ดังที่แสดงในผลการสำรวจที่กล่าวมาข้างต้น
อีกทั้งจากมุมมองที่คาดการณ์ล่วงหน้าเกี่ยวกับผลกระทบของโควิด-19 ในช่วงเวลาที่เหลือของปี 2563 สำหรับการเดินทางทางอากาศเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับภาคการท่องเที่ยว โดยตัวบ่งชี้กิจกรรมของสายการบินจาก Flightradar24 สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า สายการบินระดับภูมิภาคและสายการบินต้นทุนต่ำ ของจีนได้กลับมาให้บริการแล้ว โดยภาพจาก Flightradar24 แสดงให้เห็นถึงสายการบินภูมิภาค และสายการบินต้นทุนต่ำของจีนเริ่มกลับมาทำการบินแล้วอย่างรวดเร็ว
ในขณะที่ยังมีปัจจัยความหวาดกลัวทั่วโลกสำหรับนักเดินทางหลังจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 จึงคาดว่าจะทำให้เกิดการเดินทางระยะสั้นๆ ในช่วงแรก เนื่องจากความกังวลเรื่องสุขภาพในการเดินทางโดยเครื่องบิน ทั้งนี้ ประเทศไทยมีสายการบินตรงจากจีน รวมถึงมีเครือข่ายสายการบินที่ได้รับการจัดสรรและอนุญาตเส้นทางการบินจากจีนมายังไทยมากมาย พร้อมกันนี้ดัชนีชี้นำในการฟื้นตัวของการเดินทางในเอเชียอีกประการหนึ่งคือ การแข็งค่าของเงินหยวนของจีน เทียบกับเงินบาทไทย หลังจากที่ลดลงถึงระดับต่ำสุดในไตรมาสที่ 3 และไตรมาสที่ 4 ของปีที่ผ่านมาซึ่งเป็นผลมาจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจและสงครามการค้า ปัจจุบันสกุลเงินได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2563 ซึ่งเท่ากับมูลค่าที่เพิ่มขึ้น มีผลต่อนักท่องเที่ยวชาวจีนที่จะมายังประเทศไทย
ด้าน นายเดวิด จอห์นสัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เดลิเวอร์ริ่ง เอเชีย คอมมิวนิเคชั่นส์ กล่าวถึงผลการสำรวจในข้อมูลด้านประชากรของนักเดินทางจากจีนที่กำลังเปลี่ยนแปลง ว่า นักเดินทางชาวจีนหน้าใหม่มีอายุน้อยลง มีอิสระมากขึ้น และได้รับอิทธิพลทางดิจิทัลมากกว่าที่เคยเป็นมา โควิด-19 มีผลกระทบเป็นอย่างมากต่อความตั้งใจของผู้บริโภคกลุ่มนี้ในการเดินทาง ซึ่งมีความต้องการเป็นอย่างมากที่จะออกมาท่องเที่ยว ดังนั้นภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยจึงต้องใช้กลยุทธ์ดิจิทัลใหม่เพื่อเข้าถึงกลุ่มดังกล่าวได้อย่างรวดเร็ว และตรงกลุ่มได้มากที่สุด