นพ.ธนรักษ์ ผลิแก้ว รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ได้ลำดับเหตุการณ์ของโรคอันตรายโรคใหม่ของชาวโลก โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 จากตั้งแต่วันที่ชาวโลกได้เริ่มพบเชื้อ ต้นธ.ค.62 จีนเริ่มพบผู้ป่วยปอดอักเสบไม่ทราบสาเหตุในเมืองอู่ฮั่น มณฑลหัวเป่ย 31 ธ.ค.62 ทางการจีนรายงานองค์การอนามัยโลกว่า พบผู้ป่วยปอดอักเสบโดยไม่ทราบสาเหตุเป็นกลุ่มก้อน รายงานพบมีผู้ป่วย 27 คน เกี่ยวข้องกับตลาดค้าส่งสัตว์น้ำ รายงานออกมาครั้งแรก ทางการจีนว่าโรคนี้ไม่แพร่จากคนสู่คน 3 ม.ค.63 จีนรายงานพบผู้ป่วยเพิ่มเป็น 44 คน ขณะเป็นวันเดียวกับที่ กรมควบคุมโรคของไทย ออกคำสั่งยกระดับเปิดศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน แต่งตั้งผู้บัญชาการเหตุการณ์ เตรียมความพร้อมคัดกรองและเฝ้าระวังโรคในกลุ่มผู้เดินทางจากเมืองอู่ฮั่น ของจีน โดยทบทวนจำนวนคนเดินทางจากอู่ฮั่นมาไทย ซึ่งสำหรับคนอู่ฮั่นไทยเป็นเป้าหมายการเดินทาง อันจะทำให้ไทยเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงสุดในโลก ถ้ามีการระบาดของโรคออกนอกประเทศจีน 7 ม.ค.63 ทางการจีนว่าค้นพบตัวเชื้อว่า bat sars like coronavirus เป็นโคโรนาไวรัส เป็นซาร์ที่คล้ายกับซาร์ที่เจอในค้างคาว 8 ม.ค.63 ไทยพบผู้ป่วยสงสัยว่าจะติดเชื้อไวรัสโคโรนาเดินทางมาจากจีนที่สนามบิน ผลตรวจเบื้องต้นไม่พบเชื้อจากสาเหตุอื่น 9 ม.ค.63 ผลตรวจเจอเชื้อไวรัสโคโรนา ระบุสายพันธุ์ไม่ได้ 10 ม.ค.63 ห้องปฏิบัติการของจุฬาฯตรวจพบเชื้อ bat sars like coronavirus ในผู้ป่วย คล้ายซาร์ ประมาณ 89% 11 ม.ค.63 จีนเปิดตัวเชื้อก่อโรค โดยเปิดตัวสายพันธุกรรม 11 ม.ค.63 ไทยแมตซ์ตัวเชื้อได้ 13 ม.ค.63 ไทยประกาศพบผู้ป่วยรายแรก และมีผู้ป่วยรายที่สองที่สงสัยว่าจะเป็น จากนั้นมีการตรวจต่อมาและวินิจฉัยได้ในเวลาต่อมา 15 ม.ค.63 พบผู้ป่วยสงสัยติดเชื้อไวรัสโคโรนา รายที่ 3 และเป็นคนไทยรายแรก แต่การวินิจฉัยช่วงแรกไม่รวดเร็วเหมือนปัจจุบัน ใช้เวลาพอควร กลางม.ค.63 เริ่มขยายการเฝ้าระวังจากคนเดินทางมาจากต่างประเทศ มาเป็นกลุ่มผู้ที่สัมผัสผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 18 ม.ค.63 ผู้ป่วยรายแรกออกจากรพ. และเดินทางกลับจีน 20 ม.ค.63 จีนประกาศว่าไวรัสโคโรนาสามารถติดต่อจากคนสู่คนได้ 23 ม.ค.63 จีนเริ่มมาตรการปิดเมืองอู่ฮั่น 22-23 ม.ค.63 องค์การอนามัยโลกแต่งตั้งคณะกรรมการภาวะฉุกเฉิน 27 ม.ค.63 รัฐบาลไทยประกาศยกระดับศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี (PMOC) 30 ม.ค.63 องค์การอนามัยโลกประกาศให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระดับนานาชาติ 31 ม.ค.63 พบผู้ป่วยคนไทยติดเชื้อในประเทศเป็นรายแรก 3 ก.พ.63 กรมควบคุมโรค ประชุมซักซ้อมความเข้าใจและเตรียมทีมสอบสวนโรคติดต่ออันตรายทั่วประเทศ 4 ก.พ.63 รัฐบาลไทยรับคนไทย 138 คนกลับจากอู่ฮั่น โดยได้รับตัวไว้สังเกตอาการในสถานที่ที่รัฐจัดให้ 14 วัน พบผู้ติดเชื้อ 1 คน 11 ก.พ.63 พบผู้ป่วยในไทยรุนแรงรายแรก และได้เริ่มเฝ้าระวังโรคในผู้ป่วยปอดอักเสบไม่ทราบสาเหตุ 15 ก.พ.63 ไทยได้รับบริจาคยาฟาวิพิราเวียร์จากบริษัทผลิตยาของญี่ปุ่น 200 เม็ด เป็นช่วงเดียวกับที่เราสั่งซื้อยา ซึ่งกว่าจะได้ยาล็อตแรก 24 ก.พ.63 19 ก.พ.63 กรมควบคุมโรค ประชุมชี้แจงแนวทางป้องกันการติดเชื้อในรพ.เตรียมพร้อมสถานพยาบาลทั่วไทย เตรียมพร้อมรับมือ 24 ก.พ. 63 ยาฟาวิพิราเวียร์ล็อตแรก 5,000 เม็ดส่งถึงกรมควบคุมโรค 29 ก.พ.63 คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติประกาศให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาเป็นโรคติดต่ออันตราย และมีผู้ป่วยติดเชื้อเสียชีวิตเป็นรายแรกของประเทศไทย 1 มี.ค.63 ดราม่าหน้ากากผ้า ด้วยมีการออกมาให้ข่าว คนไทยไม่ควรใส่หน้ากากผ้า เป็นการเพิ่มความเสี่ยง ซึ่งเป็นข่าวที่ไม่จริง และต่อมา มีหลักฐานยืนยันว่าสามารถลดความเสี่ยงติดเชื้อได้จริง 2 มี.ค.63 มีข่าวแรงงานไทยผิดกฎหมายจากเกาหลี จะเดินทางกลับไทย โดยกลุ่มใหญ่ยังติดค้างที่เกาหลี ได้มีการเตรียมความพร้อม จนนำไปสู่การดูแลแรงงานไทยอย่างดี 5 มี.ค.63 มีการประกาศประเทศที่เป็นเขตติดโรคติดต่ออันตรายนอกราชอาณาจักร 4 ประเทศ 6,8 มี.ค.63 รายการมวยที่สนามมวยลุมพินี และสนามมวยราชดำเนิน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นการแพร่ระบาดเป็นกลุ่มก้อนครั้งแรกในประเทศไทย 12 มี.ค.63 สำนักนายกรัฐมนตรีออกคำสั่งแต่งตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือเรียกย่อๆ ว่าศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. 13 มี.ค.63 เซียนมวย - ผู้มีชื่อเสียงที่เป็นพิธีกรในสนามมวยประกาศตัวว่าติดเชื้อโควิด-19 13 มี.ค.63 พบผู้ป่วยเป็นกลุ่มก้อนที่ทองหล่อ และกลุ่มก้อนที่สาม ซึ่งซ้ำเติมสถานการณ์ไทยในช่วงกลางมี.ค. กลุ่มไปแสวงบุญที่มาเลเซีย ก่อให้เกิดผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว 17 มี.ค.63 ครม. มีมติเร่งด่วนปิดสถานที่ต่างๆ เป็นจำนวนมาก มีการเผยแพร่ตัวเลข ถ้าไม่ล็อกดาวน์ จะมีผู้ป่วย 3 แสนคน และแม้แต่จะล็อกดาวน์ จะมีผู้ป่วยสูงถึง 2.4 หมื่นคน 21 มี.ค.63 ผู้ว่าฯประกาศปิดสถานที่ต่างๆ 22 มี.ค.63 มีการปรับนิยามผู้ป่วยอีกครั้ง จากที่ต้องใช้ผลบวกจาก 2 ห้องปฏิบัติการ เป็นห้องปฏิบัติการเดียว ทำให้ตัวเลขผู้ป่วยพุ่งสูงสุดที่ 188 คน จากการปรับนิยาม 24 มี.ค.63 ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน 26 มี.ค.63 ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินมีผลบังคับใช้ 28 มี.ค.63 ปัตตานีประกาศห้ามการเดินทางเข้าออกในพื้นที่ 29,30 มี.ค.63 ยะลา นราธิวาส ประกาศห้ามตามมาด้วย 29 มี.ค.63 ภูเก็ตประกาศปิดเกาะ ปิดช่องทางเข้าออกทั้งทางบก ทางเรือ 31 มี.ค.63 ประกาศสิทธิการรักษาพยาบาลโรคโควิดตามพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2 เม.ย.63 ประกาศห้ามประชาชนออกนอกเคหสถาน( เคอร์ฟิว) 4 เม.ย.63 สำนักงานการบินพลเรือน ห้ามเครื่องบินทุกประเทศห้ามบินเข้าประเทศไทย 3 วัน และได้มีประกาศห้ามในระยะต่อมา ต่อเนื่องต่อไป 7 เม.ย.63 ประกาศเลื่อนเปิดเทอมรร. จากเดือนพ.ค. เป็น 1 ก.ค. 8 เม.ย.63 กระทรวงวัฒนธรรม ประกาศห้ามจัดงานสงกรานต์ 9 เม.ย.63 กทม.และอีกหลายจังหวัดประกาศห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตลอด 24 ชม.ช่วงสงกรานต์และหลังสงกรานต์ บางจังหวัดประกาศถึง 30 เม.ย. วันเดียวกัน สธ. รายงานผู้ป่วยใหม่ 54 คน และหลังจากวันที่ 9 เม.ย. ไม่มีวันไหนที่พบผู้ป่วยรายใหม่ที่เกิน 100 คนเลย 12 เม.ย.63 ภูเก็ตประกาศปิดรอยต่อระหว่างตำบลทุกตำบล และมีผลถึงวันที่ 26 เม.ย.63