เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า “น้ำ” เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดของการผลิตทางเกษตรกรรม ที่จะสร้างโอกาสในการผลิตของเกษตรกร หากเกิดการขาดแคลนน้ำ จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อผลผลิตของเกษตรกร โดยช่วงระยะเวลาตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา ประเทศไทยเกิดวิกฤตจากน้ำ ทั้งเหตุการณ์น้ำท่วมในช่วงฤดูน้ำหลาก และขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง เป็นผลกระทบแบบลูกโซ่ คือ การบริหารจัดการน้ำในระบบชลประทานทั้งระบบไม่สามารถตอบสนองการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในเหตุการณ์ของเอลนีโญ (el nino) และลานีญา (la nina) ได้อย่างมีระบบ กล่าวคือ เอลนีโญ ทำให้เกิดฝนตกหนักในตอนเหนือของทวีปอเมริกาใต้ และความแห้งแล้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ ลานีญา ทำให้เกิดความแห้งแล้งทางตอนเหนือของทวีปอเมริกาใต้ และฝนตกหนักในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังนั้น ในปี 2558 ต่อเนื่องถึงปี 2559 รัฐบาลจึงมีมาตรการบริหารจัดการน้ำชลประทานเพื่อการบริโภคและอุปโภค และการรักษาสภาพแวดล้อมของแม่น้ำโดยเฉพาะการรักษาระดับความเค็มของน้ำทะเลที่หนุนสูงขึ้น ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงในระบบนิเวศวิทยาของแม่น้ำ จึงต้องออกมาตรการควบคุมให้เกษตรกรเปลี่ยนแปลงระบบการผลิต หรือปรับเปลี่ยนไปเพาะปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย หรือบางพื้นที่ต้องหยุดการผลิต ท้าให้ระบบเศรษฐกิจด้านการเกษตร ทั้งการจำหน่ายปัจจัยการผลิต การลงทุน และผลผลิตที่คาดว่าจะได้รับชะงักงัน เกษตรกรสูญเสียรายได้จากการให้ความร่วมมือ ตามนโยบายและมาตรการของภาครัฐ ทั้งการเลื่อนระยะเวลาเพาะปลูก ปรับเปลี่ยนชนิดพืช จนถึงขั้นหยุดการผลิต เพื่อตอบสนองการบริหารจัดน้ำชลประทาน และแหล่งน้ำธรรมชาติตามมาตรการภัยแล้ง จากแนวคิดเดิมที่เกษตรกรพึ่งพาระบบน้ำชลประทาน และแหล่งน้ำธรรมชาติ เพื่อทำการเกษตร นายกรัฐมนตรีได้ให้แนวคิดในการบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตรในระดับไร่นาแบบใหม่ คือเน้นให้เกษตรกรแต่ละราย ต้องมีการพัฒนาพื้นที่ของตนเองให้มีระบบสำรองน้ำเพื่อการเกษตรไว้ใช้ในเหตุฉุกเฉินโดยเริ่มขุดสระกักเก็บน้ำไว้ใช้ในไร่นา หรือขุดเจาะบ่อน้ำดาลไว้ใช้ทดแทนน้ำชลประทานในบางช่วงที่เกิดการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร ซึ่งจะเกิดระบบชลประทานในระบบไร่นาในลักษณะของสระเก็บกักน้ำฝนระบบย่อยๆ อย่างพอเพียง ในแต่ละฟาร์มของเกษตรกร รวมทั้งสามารถน้าระบบน้ำใต้ดิน ซึ่งเป็นระบบสำรองตามธรรมชาติจากการขุดเจาะบ่อน้ำบาดาล จึงคาดว่าจะทำให้แก้ไขปัญหาวิกฤตน้ำแล้งได้อย่างเป็นระบบกรมส่งเสริมสหกรณ์ จึงจัดทำโครงการสนับสนุนเงินทุนเพื่อสร้างระบบน้ำในไร่นาของสมาชิกสถาบันเกษตรกร โดยให้สถาบันเกษตรกร (สหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร) เป็นแหล่งรับเงินทุนหมุนเวียน เพื่อนำไปสนับสนุนเงินกู้แก่สมาชิกในการใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการลงทุนพัฒนาแหล่งน้ำในแปลงไร่นาของตนเองอย่างเป็นระบบ สร้างโอกาสในการผลิตเกษตรกรรม ลดความเสี่ยงจากใช้น้ำชลประทาน และแหล่งน้ำจากธรรมชาติแต่เพียงอย่างเดียว จากผลกระทบดังกล่าวที่เกิดขึ้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ จึงได้จัดทำ “โครงการสนับสนุนเงินทุนเพื่อสร้างระบบน้ำในไร่นาของสมาชิกสถาบันเกษตรกร” เพื่อสร้างโอกาสในการทำเกษตรกรรม และลดความเสี่ยงจากการขาดแคลนน้ำ รวมทั้งส่งเสริมการจัดระบบไร่นาของเกษตรกรให้มีความยั่งยืน มีแหล่งน้ำในฟาร์มของตนเอง ลดการพึ่งพาน้ำจากระบบชลประทานและแหล่งน้ำธรรมชาติ สร้างการเปลี่ยนแปลงจากระบบการทำเกษตรกรรมแบบพึ่งธรรมชาติ เป็นการเกษตรแบบบริหารจัดการเพื่อลดความเสี่ยงจากการขาดน้ำ โดยมีเป้าหมายสถาบันเกษตรกรทั้งในเขตชลประทาน และเขตรับน้ำฝนใน 50 จังหวัด ประกอบด้วย สหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร จำนวน 100 แห่ง มีสมาชิก 6,000 ราย คิดเป็นพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากน้ำเฉลี่ย รายละ 10 ไร่ เป็นพื้นที่รับน้ำได้มากกว่า 60,000 ไร่ มีระยะเวลาดำเนินการ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559-2564 รวมระยะเวลา 5 ปีนับจากวันที่เบิกเงินจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร โดยการใช้เงินทุนหมุนเวียนเพื่อให้สถาบันเกษตรกร ในวงเงิน 300 ล้านบาท ปลอดดอกเบี้ย ระยะเวลา 5 ปี และชำระคืนเงินทุนปีละ 60 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการขุดสระเก็บกักน้ำในพื้นที่ประมาณ 1 ไร่ ความลึกไม่น้อยกว่า 2 เมตร พร้อมกับอุปกรณ์เครื่องสูบน้ำ ท่อน้ำ ในระบบน้ำหยด หรือพ่นละอองน้ำ หรือ ใช้สำหรับการขุดเจาะระบบน้ำบาดาล หรือปรับปรุงระบบน้ำบาดาล พร้อมกับอุปกรณ์เครื่องสูบน้ำท่อน้ำ ในระบบน้ำหยด หรือพ่นละอองน้ำ โดยใช้งบประมาณเฉลี่ยต่อรายหรือแห่งละ 50,000 บาท ในส่วนพื้นที่ของจังหวัดเชียงราย โดยสำนักงานสหกรณ์จังหวัดเชียงราย ได้เล็งเห็นว่าเกษตรกรสมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร ได้รับความเดือดร้อนจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้น จึงได้ทำการสำรวจความต้องการที่ขอรับการสนับสนุนเงินทุนเพื่อสร้างระบบน้ำในไร่นาของสมาชิกสถาบันเกษตรกร ปรากฏว่า มีเกษตรกรสมาชิกสหกรณ์ที่ให้ความสนใจและขอเข้าร่วมโครงการ 72 ราย จากสหกรณ์ จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ 1.สหกรณ์ประมงพาน จำกัด สมาชิกที่เข้าร่วมโครงการฯ 26 ราย จำนวนเงินกู้ 1,300,000 บาท 2.สหกรณ์การเกษตรแม่สาย จำกัด สมาชิกที่เข้าร่วมโครงการฯ 11 ราย จำนวนเงินกู้ 550,000 บาท 3.สหกรณ์การเกษตรปฏิรูปที่ดินเวียงชัย จำกัด สมาชิกที่เข้าร่วมโครงการฯ 8 ราย จำนวนเงินกู้ 400,000 บาท 4.สหกรณ์การเกษตรแม่สรวย จำกัด สมาชิกที่เข้าร่วมโครงการฯ 5 ราย จำนวนเงินกู้ 250,000 บาท 5.สหกรณ์การเกษตรเชียงแสน จำกัด สมาชิกที่เข้าร่วมโครงการฯ 22 ราย จำนวนเงินกู้ 1,100,000 บาท รวมเป็นเงินทุนที่ให้สหกรณ์กู้ไปให้เกษตรกรสมาชิกที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 3,600,000 บาท ช่วยให้พื้นที่ทางการเกษตร ได้ใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำตามโครงการนี้ประมาณ 720 ไร่