จากจำนวนผู้ป่วยที่ติดเชื้อ COVID-19 ในประเทศไทย ยังไม่เป็นที่น่าวางใจ และมีความกังวลว่าจะมีผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่ม ด้วยเป็นห่วงบุคลากรทางการแพทย์ ที่ปฏิบัติหน้าที่ตรวจคัดกรองผู้ป่วย อาจารย์ นักวิจัยคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มีความตั้งใจจัดสร้างอุปกรณ์เพื่ออำนวยความสะดวกและสนับสนุนการทำงานอย่างปลอดภัยสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ในการตรวจรักษาผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงไวรัส covid-19 โดยใช้อุปกรณ์ที่สามารถหาซื้อได้ในท้องถิ่นให้ได้มากที่สุด และมีราคาถูก แต่มีสมรรถนะการทำงานที่ดี และได้รับงบประมาณทุนอุดหนุนการวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม รองศาสตราจารย์ ดร.ชลธี โพธิ์ทอง คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส)พร้อมด้วย นายวัฒนา เชื้อลิ้นฟ้า นิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ ระดับปริญญาโท และนายอภิสิทธิ์ เนาวะโรจน์ นิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ ระดับปริญญาตรี ได้ร่วมกันออกแบบและสร้างนวัตกรรม ออกมาเป็น 3 รายการ คือ ตู้ตรวจเชื้อช่วยแพทย์ (ตู้ positive pressure)ตู้ความดันลบเก็บสิ่งส่งตรวจจากผู้ป่วย และเครื่องฆ่าเชื้อ UVC สำหรับชิ้นแรก คือตู้ตรวจเชื้อช่วยแพทย์ (ตู้ positive pressure) การใช้งานตัวนี้ คือให้บุคลากรทางการแพทย์เข้าไปนั่งภายในตู้ และคนไข้อยู่ภายนอก เหมาะสำหรับตรวจคนไข้ทั่วไป เป็นตู้ปิด ทำจากอคลิลิค และแผ่นโพลีคาร์บอเนต ทำให้ตู้มีน้ำหนักเบาแต่คงความแข็งแรง ภายในมีระบบดูดและกระจายอากาศสะอาด ผ่านตัวกรอง filter และ Hepa filter มีช่องลมขนาดเล็กระบายอากาศ ติดตั้งด้านบน มีระบบป้องกันไฟฟ้าลัดวงจรและแสดงสถานการณ์ใช้งานตู้ ด้วยหลอดฟูออเรสเซนต์ ซึ่งให้ความสว่างในการทำงานสำหรับแพทย์ มีช่องสำหรับถอดและสวมถุงมือแบบทิ้งได้ที่ใช้งานง่ายและเปลี่ยนได้ง่าย มีระบบป้อนไฟฟ้าให้กับเครื่องฆ่าเชื่อ UVC ได้โดยตรง เพื่อฆ่าเชื้อหลังการใช้งาน ชิ้นที่สองคือ ตู้ความดันลบเก็บสิ่งส่งตรวจ การใช้งาน คนไข้จะเข้าไปนั่งภายในตู้ ส่วนแพทย์จะนั่งตรวจภายนอก เหมาะสำหรับคนไข้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง หรือมีการติดเชื้อ โดยตู้นี้จะเพิ่มความมั่นใจให้บุคลากรทางการแพทย์ ในการเก็บสารคัดหลั่งต่างๆ ป้องกันการแพร่กระจายทางฝอยละอองจากการพูด ไอ จาม ลักษณะเป็นตู้ปิด ทำจาก อคลิลิค และแผ่นโพลีคาร์บอเนต ทำให้ตู้มีน้ำหนักเบาแต่คงความแข็งแรง ภายในมีระบบดูดและกระจายอากาศสะอาด ผ่านตัวกรอง filter และ Hepa filter มีช่องลมขนาดเล็กระบายอากาศ ติดตั้งด้านหน้า ปล่อยลมโค้งขึ้นด้านบนไปเพื่อเป่าลมออกด้านหลัง ผ่านการฆ่าเชื้อ UVC 80W แล้วผ่านตัวกรอง และตัวกรอง Hepa filter ตามลำดับ ก่อนจะระบายอากาศสะอาดออกสู่ด้านนอก มีระบบป้องกันไฟฟ้าลัดวงจรและแสดงสถานะการใช้งานตู้ด้วยหลอดฟลูออเรสเซนต์ ซึ่งให้ความสว่างในการทำงานสำหรับแพทย์ มีช่องสำหรับถอดและสวมถุงมือแบบทิ้งได้ที่ใช้งานง่ายและเปลี่ยนได้ง่าย มีระบบป้อนไฟฟ้าให้กับเครื่องฆ่าเชื่อ UVC ได้โดยตรง เพื่อฆ่าเชื้อหลังการใช้งาน ตัวที่สาม คือ เครื่องฆ่าเชื้อ UVC แบ่งเป็น แบบเคลื่อนที่ได้และแบบตู้ฆ่าเชื้อ คุณสมบัติและการใช้งานลักษณะคล้ายกัน ใช้งานง่ายแค่เสียบปลั๊ก เป็นนวัตกรรมเพื่อป้อนไฟฟ้าให้กับสิ่งประดิษฐ์สำหรับหลอดไฟชนิดพิเศษ UVC ที่ใช้งานเฉพาะด้านการแพทย์ รังสีจากหลอดไฟจะให้คลื่นที่สามารถทำลาย DNA ของไวรัสและแบคทีเรียได้ จุดเด่นของสิ่งประดิษฐ์ ใช้งานง่าย ใช้วัสดุที่หาซื้อได้จากท้องถิ่น ทำให้มีราคาถูก น้ำหนักเบา เคลื่อนที่ไปยังบริเวณที่ต้องการฆ่าเชื้อได้ง่าย ส่วนแบบตู้ฆ่าเชื้อ จะมีการให้ความร้อนจากแผ่นสะท้อนรังสีร่วมด้วยซึ่งจะทำให้ระยะเวลาการฆ่าเชื้อสั้นลง ทำให้การฆ่าเชื้อทำได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น ใช้เวลาประมาณ ไม่เกิน 10 นาที โดยในวันนี้ ทีมนักวิจัย ได้ส่งมอบนวัตกรรมตู้ตรวจเชื้อช่วยแพทย์ ตู้ความดันลบเก็บสิ่งส่งตรวจจากผู้ป่วย และเครื่องฆ่าเชื้อ UVC ให้กับ โรงพยาบาลสุทธาเวช คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.ประยุกต์ ศรีวิไล อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นพ.เทพลักษ์ ศิริธนะวุฒิชัย คณบดีคณะแพทยศาสตร์ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารและบุคลากรโรงพยาบาลสุทธาเวช คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม รับมอบไว้ใช้งานเรียบร้อยแล้ว และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า นวัตกรรมนี้จะทำให้บุคลากรทางการแพทย์ เกิดความมั่นใจขณะปฏิบัติหน้าที่ในการเก็บสิ่งส่งตรวจหรือสัมผัสกับคนไข้ ช่วยลดความกังวลที่จะเสี่ยงติดเชื้อ COVID-19 ได้มากขึ้น