การแถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด -19 โดย ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นอกเหนือไปจากการทำหน้าที่ของ “นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน” ในฐานะโฆษกศบค. เพื่ออัพเดตข้อมูล ข่าวสาร ตลอดจนข้อสั่งการต่างๆ จากรัฐบาล ถ่ายทอดออกไปผ่านสื่อ ในทุกๆวันแล้ว ยังมีส่วนสำคัญ ที่ปฏิบัติหน้าที่ควบคู่กันไป คือการทำหน้าที่ของ “ณัฐภาณุ นพคุณ” รองอธิบดีกรมสารนิเทศ และรองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ทำหน้าที่แถลงข่าวในภาคภาษาอังกฤษ ต่อสื่อต่างประเทศที่เข้าร่วมรับฟัง ที่ศูนย์ศบค. และรับชมการถ่ายทอด ทั้งนี้ในการทำหน้าที่แถลงข่าวในวาระที่ประเทศไทย กำลังประสบกับภาวะที่ต้องต่อสู้และรับมือกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดอันเป็นสถานการณ์ที่ทั่วโลกเผชิญนั้น ไม่เพียงแต่จะเป็นการนำเสนอ ถ่ายทอดข้อมูล ของรัฐบาลออกไปยังสายตาชาวโลกเท่านั้น หากแต่ต้องยอมรับว่า ในมิติการสื่อสารในลักษณะเช่นนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความเชื่อมั่นทั้งในและต่างประเทศ ว่าไทยกำลังเดินไปในทิศทางใด “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ “ณัฐภาณุ” เพื่อพูดคุยถึงเบื้องหลังการทำงานกว่าที่จะออกมาสู่สาธารณชน ต้องบอกเลยว่า ไม่ง่าย และไม่ธรรมดา ! ที่สำคัญ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศบค.ได้ให้การสำคัญไม่น้อย - การเข้ามาทำหน้าที่ใน ศบค. เมื่อมีการเริ่มตั้ง ศบค. ขึ้นมา ก็มีการตั้งให้ส่วนราชการทุกหน่วยงานต้องมาสนับสนุน รวมถึงมีการหารือกันว่าจะต้องมีการแถลงให้กับประชาคมโลกรับทราบถึงพัฒนาการของประเทศไทยด้วยว่ารัฐบาลได้ทำอะไรเพื่อแก้ไขปัญหาภาคส่วนต่าง ๆ บ้าง เอกชนมีการร่วมมืออย่างไร พี่น้องประชาชนไทยให้ความร่วมมืออย่างไร จึงให้กระทรวงการต่างประเทศช่วยได้เข้ามาช่วยดำเนินการในภาคภาษาอังกฤษนี้ - เตรียมตัวในการทำหน้าที่นี้อย่างไรบ้าง เรามาจากกรมสารนิเทศของ กระทรวงการต่างประเทศอยู่แล้ว เป็นหน้าที่ที่ต้องแถลงข่าวให้กับสื่อมวลชนและประชาชนทั่วโลกทราบเกี่ยวกับประเทศไทย โดยการทำงานของเรามีการตั้งทีมสนับสนุนที่มาจากหลายกรม ทีมงานหนึ่งมี 2-3คน โดยมีหลายทีม เพื่อที่จะได้สับเปลี่ยนหมุนเวียนมา มีการติดตามประเด็นการประชุมหารือต่าง ๆ ตั้งแต่ช่วงเช้า และนำมาประมวลเพื่อที่จะแถลง นอกจากนี้เราต้องฟังจากการแถลงของนพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะโฆษก ศบค. แบบเรียลไทม์ด้วย เพื่อที่จะนำข้อมูลมาเสริม แต่จะต่างกันที่กลุ่มเป้าหมายของผู้ฟัง เพราะกลุ่มผู้ฟังของเราเป็นชาวต่างชาติ หรือสื่อต่างประเทศ ดังนั้นอาจจะมีความต่างกันกับที่หมอทวีศิลป์แถลงเล็กน้อย - การแถลงข่าวภาคภาษาอังกฤษ เพื่อสื่อสารออกไปทั้งในประเทศ และนอกประเทศ ในภาวะที่ไม่ปกติเช่นนี้ มีความยาก ง่ายอย่างไรบ้าง ถือว่ามีความยากในตัว เพราะจะต้องแถลงให้กับคนทั้งใน และคนนอกประเทศไทย ซึ่งสิ่งที่เขาต้องการฟังมันก็ต่างกันอยู่แล้ว ถ้าเป็นคนในประเทศไทยที่เป็นคนต่างชาติ เขาก็อยากจะรู้เรื่องการต่ออายุวีซ่า ข้อควรปฏิบัติต่าง ๆ เป็นต้น เขาอาจจะฟังจากสื่อไทย และอาจจะไม่เข้าใจทั้งหมด ส่วนต่างประเทศนั้น เขาก็จะดูว่านโยบายรัฐบาลไทยเป็นอย่างไร ในภาพรวมเมื่อเทียบกันแล้ว ตัวเลขต่าง ๆ เป็นอย่างไร ซึ่งการสื่อสารกับชาวต่างชาตินอกประเทศไทยนั้น จะต้องสื่อสารในแบบมหภาคด้วย อย่างไรก็ตามจะเห็นว่ามี 2 กลุ่มภายในกลุ่มเดียวกัน ซึ่งทั้ง 2 กลุ่มก็มีความแตกต่างกัน จึงต้องมีการผสมผสานเนื้อหาสาระให้สามารถตอบได้ทั้ง 2 กลุ่มนี้ด้วย - อะไรคือหลักใหญ่ที่เราต้องการสื่อออกไปยังต่างประเทศให้มากที่สุด สำหรับการสื่อสารไปยังนอกประเทศไทยนั้น จะพยายามสื่อสารเรื่องความเชื่อมั่นว่าทางรัฐบาล ภาคส่วนต่าง ๆ และประชาชนร่วมมือกันอยู่ มีการติดตามสถานการณ์ หาทางแก้ไขเรียนรู้ ถอดบทเรียนทุกวัน นี่เป็นเรื่องที่เราทำอยู่ทุกวัน และมีความโปร่งใส และชัดเจนที่สุด ถึงแม้บางมาตรการอาจจะต้องปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ แต่ก็พยายามปรับตัวให้ทันสถานการณ์ที่สุด “เราอยากจะสื่อให้คนข้างนอกรู้ว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งเดียวกันในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ อย่างก่อนหน้านี้เราเคยมีวิกฤติน้ำท่วม ต่างประเทศก็มองว่าประเทศไทยเป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน เขามองว่าประเทศไทยก็คือประเทศไทย ไม่ได้มองว่ามีกลุ่มอื่น ๆ ดังนั้นการแก้ปัญหาของเราจะต้องออกมาเป็นหนึ่งเสียง และหนึ่งเดียว เราพยายามสร้างความมั่นใจ ซึ่งก็รู้ว่ามันอาจจะไม่ได้ง่ายขนาดนั้น บางคนอาจจะมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าทำอย่างนี้ดี หรืออย่างนี้ไม่ดี มีความไม่เห็นด้วย แม้จะมีความยากลำบาก มีความท้าทายอย่างไร แต่ภาพใหญ่ของประเทศเราต้องสื่อออกไปให้ได้ว่า เรากำลังเดินไปข้างหน้า มีการแก้ไขปัญหาร่วมกัน” - กระแส หรือเสียงสะท้อนที่กลับมาจากต่างประเทศต่อการจัดการกับปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นอย่างไรบ้าง เรื่องนี้มีอยู่แล้วทั้งในและนอกประเทศ ในส่วนของนอกประเทศก็จะเป็นเชิงเปรียบเทียบ เพราะเขามองไทยจากข้างนอก เช่น มีคำถามจากโซเชียลมีเดียว่าทำไมประเทศไทยยังไม่ได้ทำการตรวจหาเชื้อไวรัสทุกคนให้มากที่สุดเหมือนกับประเทศอื่น เขาก็มีการเปรียบเทียบมาตรการของเขากับของเรา ซึ่งก็ต้องเข้าใจว่ามีความแตกต่างกัน เราอาจจะเน้นไปอีกแบบหนึ่ง อย่างการหาจุดตรวจกลุ่มเสี่ยง เช่น จ.ภูเก็ต มีกลุ่มเสี่ยงเยอะ ก็จะไปเน้นตรวจที่ภูเก็ต เป็นต้น ประเทศอื่นอาจจะตรวจหาเชื้อไวรัสทุกคนที่เห็นหมดเลย แต่ประเทศไทยมองว่าหากจะตรวจทุกคน ก็ไม่ได้แปลว่าจะได้กลุ่มเสี่ยงที่ป่วย เป็นต้น นอกจากนี้ในความเป็นจริงเขาก็มองว่าประเทศเรายังเจอวิกฤติไม่หนักมาก เพราะประเทศอื่นมีคนตาย คนป่วยมากกว่า เขามองว่าประเทศเราสามารถควบคุมได้ดี เพราะหลายคนยังมีการเขียนแซวว่ามาอยู่ประเทศไทยน่าจะปลอดภัยกว่าในประเทศตัวเอง อย่างไรก็ตาม ตัวเลขผู้ป่วยของประเทศไทยในแต่ละวันนั้นมีตัวเลขลดลง ซึ่งคาดว่าจะสามารถลดลงไปเรื่อย ๆ แต่หากประเทศไทยมีการเปิดน่านฟ้า และมีคนไทยจากต่างประเทศเข้ามา คนกลุ่มนั้นอาจจะป่วยเพิ่ม ทำให้มีตัวเลขเพิ่มขึ้น แต่ภายในประเทศไทยเอง ยังคงตัวเลขได้ในระดับนี้ ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก - การทำงานกับนพ.ทวีศิลป์ มีการประสานกันเรื่องใดบ้าง อาทิ การทำความเข้าใจเรื่องทางการแพทย์ หรือ มาตรการเฝ้าระวัง ขณะนี้ข้อมูลทุกอย่างมาอย่างรวดเร็วมาก มีการประชุมอย่างน้อย 3 - 4 ครั้งต่อวัน ทั้งสาธารณสุข บางครั้ง นายกฯ ก็เรียกประชุม หรือการประชุมด้านการสื่อสารด้านยุทธศาสตร์ เป็นต้น ข้อมูลทั้งหมดมาเร็วมาก ทางกระทรวงต่างประเทศจะมีผู้แทนไปเข้าฟังทุกการประชุม รวมถึงหมอทวีศิลป์เอง ก็เข้าร่วมประชุม เรามีการประสานกันอยู่ตลอด แต่ทั้งหมดเมื่อมีการแถลงก็อาจจะมีอะไรใหม่ ๆ ขึ้นมา เช่น สิ่งที่คุณหมอได้รับข้อมูลมาว่าควรจะพูด หรือข้อสั่งการนายกฯ ที่สำคัญสำหรับประชาชน คุณหมอทวีศิลป์ก็แถลง ส่วนเราก็ฟังแบบเรียลไทม์ทันที และเสริมเข้าไป ซึ่งเราจะต้องนำข้อมูลนั้น ๆ สื่อให้ประชาคมโลกอีกทางหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ข้อมูลก็อาจจะต่างกันนิดหน่อย เพราะคนไทยฟังกับโลกฟังอาจจะเป็นข้อมูลคนละชุด แต่โดยรวมก็มีการประสานกันอย่างใกล้ชิด เรื่องการแพทย์กระทรวงการต่างประเทศก็ไม่ได้คุ้นเคยอยู่แล้ว แต่มันเป็นประเด็นโลก เราก็ต้องทำความคุ้นเคย มีการศึกษาเพิ่มเติม ความจริงแล้วประเด็นเรื่องสาธารณสุขเป็นประเด็นข้ามชาติอยู่แล้ว อย่างองค์การอนามัยโลก กระทรวงการต่างประเทศก็มีผู้แทนไปประชุมอยู่ด้วย - การมายืนอยู่ในจุดนี้ อะไรคือสิ่งที่เราต้องระมัดระวังบ้าง อย่างกรณีการถูกวิพากษ์วิจารณ์เหมือนกับหมอทวีศิลป์ ที่กำลังเจออยู่ สิ่งนี้ก็เป็นข้อที่ยากลำบากมาตลอด แต่เราก็ทำตามหน้าที่ เพราะทั้งตัวเราเอง และหมอทวีศิลป์ก็เป็นข้าราชการ ดังนั้นก็ไม่ได้มีการโยงอะไรกับการเมืองอยู่แล้ว เมื่อมีเหตุการณ์อะไร เราก็ทำเพื่อประเทศ บางคนอาจจะคิดว่าเป็นการทำเพื่อสนับสนุนฝ่ายการเมืองแต่ความจริงแล้วไม่ใช่ เราทำตามเนื้อผ้าเป็นเรื่องปกติ เราทำหน้าที่ให้ดีที่สุด “ต้องขอบคุณทางสื่อมวลชน อย่างน้อยเขาก็รู้ว่าเราทำอะไรก็เป็นการทำไปตามเนื้อผ้า สื่อก็ไปทำการสื่อสารกันต่อ รวมถึงสื่อต่างประเทศ ก็ต้องขอบคุณ เพราะเวลาที่ตนแถลงเป็นภาษาอังกฤษ สื่อต่างประเทศเขาก็ไปขยายผลต่อว่ารัฐบาลทำอะไร สิ่งที่ทำไปแล้วบางครั้งก็ต้องมีการปรับปรุงแก้ไข เพราะไม่ได้มีอะไรสมบูรณ์แบบไปทุกอย่าง แต่ต้องขอบคุณสื่อที่เขียนว่าเรามีความพยายามต่อไป ไม่ใช่เขียนว่าเราหยุดทำ รัฐบาลไม่ฟังก์ชัน เป็นต้น เรื่องพวกนี้ไม่ใช่เลย อย่างไรก็ตาม การออกมาทำงานข้างนอก หรือการทำงานที่ศูนย์นี้ก็เป็นเรื่องเสี่ยง แต่เราก็ยังทำตามหน้าที่ ซึ่งที่นี่ก็มีผู้ติดเชื้อมาก่อน แต่พวกเราก็ยังมาทำงาน ผลัดเวรกันมา พยายามป้องกันให้ดีที่สุด และทำหน้าที่ที่พึงจะมีอยู่แล้วของข้าราชการตามปกติ” - หลักคิดในการทำหน้าที่ ทำภารกิจ ที่ศบค.คืออะไร โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ทั่วโลกและไทยเจอกับปัญหาโรคระบาดครั้งใหญ่แบบนี้ ส่วนตัวคิดเสมอว่าง่าย ๆ สั้น ๆ ว่า “พรุ่งนี้ต้องดีกว่า” อาจจะมีความขัดแย้ง ความลำบาก ไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบ เราก็จะได้ดูว่าบทเรียนวันนี้คืออะไร แล้วพรุ่งนี้เรามีโอกาสปรับปรุงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งพรุ่งนี้ต้องดีกว่า วันนี้ตัวเราหรือทีมงานอาจจะไม่มีข้อมูลครบถ้วน ยังไม่ถูกใจประชาชนยังตอบคำถามประชาคมไม่ได้ แต่พรุ่งนี้เราก็สามารถทำขึ้นมาใหม่ได้ พรุ่งนี้ต้องดีกว่าเสมอ ซึ่งคนไทยก็มองแนวนี้เหมือนกัน เราเป็นประเทศที่ก้าวหน้ามาตลอดนี้ เจอมาหลายอย่าง เราฝ่าฟันมาได้เยอะ ไม่ว่าจะเรื่องการเมือง น้ำท่วม น้ำแล้ง หมอกควัน หรือฝุ่น PM 2.5 - นายกรัฐมนตรี ได้ให้คำแนะนำหรือติชม และให้กำลังใจการทำงานหรือไม่ อย่างไรบ้าง ก็มี แต่อาจจะไม่ได้โดยตรง เพราะนายกฯ ก็ยุ่งอยู่แล้ว ไม่สามารถที่จะเจอทุกคนได้ โดยนายกฯ ได้สื่อสารมาทาง ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ว่าขอให้กระทรวงการต่างประเทศแถลงข่าวในภาคภาษาอังกฤษเพื่อสื่อสารให้กับโลกต่อไป หมายความว่าในเรื่องของโควิด-19 ตอนแรกเราก็ไม่แน่ใจว่าจะต้องทำนานแค่ไหน คิดว่าอาจจะทำแค่ 2-3 วันแรกเท่านั้น และส่วนใหญ่คนที่ออกทางทีวีก็จะเป็นภาคภาษาไทย แต่นายกฯ ทราบดีถึงความสำคัญในการสื่อไปถึงทั่วโลก นายกฯ จึงบอกให้เราทำต่อ “มีอยู่วันหนึ่ง ผมต้องไปอัดคำแปลคำแถลงของหมอทวีศิลป์ที่กระทรวงการต่างประเทศ นายกฯ ได้ดูรายละเอียด และบอกผ่านทางปลัดกระทรวงการต่างประเทศมาว่าขอให้ทำแบบเดิม คือขอให้แถลงสดหลังจากหมอทวีศิลป์แถลงเลย อย่าไปอัดทีหลัง เพราะอัดทีหลังมันไม่มีความสด มันจะช้าไป และการแถลงสดเลยนั้น ชาวต่างชาติจะได้ดูทันที สื่อต่างชาติจะได้เอาไปเผยแพร่ทันที ซึ่งเรื่องนี้ทำให้เห็นว่านายกฯ เห็นความสำคัญในเรื่องของการสื่อสารในภาคภาษาอังกฤษด้วย” - การแปลแบบเรียลไทม์ มีความยากง่ายขนาดไหน การแถลงแบบนี้ถือเป็นการแถลงแบบกึ่งเรียลไทม์ เพราะข้อมูลส่วนหนึ่งทีมงานได้รวบรวมมาจากที่ประชุม เมื่อได้เค้าโครงมาก็อาจมีเรื่องใหม่ ๆ เข้าไปเพิ่ม เช่น ข้อมูลที่คุณหมอพูดเรื่องใหม่ ก็จะนำมาใส่ในแบบเรียลไทม์ ซึ่งการทำงานแบบนี้ไม่ได้แปลตรงตัวทุกอย่าง เพราะไม่เช่นนั้นหากคุณหมอพูด 1 ชั่วโมง ก็ต้องแปล 1 ชั่วโมง แต่เราจะแปลแค่ 10-15 นาที ซึ่งเป็นการรวบยอดหรือ Live consecutive คือสดแต่ว่าต่อเนื่อง ไม่ใช่ทันที เพราะการแปลทันทีนั้นหมายถึงว่า เมื่อหมอพูด เราก็พูดตามทันที แต่นี่คือหมอพูดจบแล้วเราค่อยพูด มันจะมีความสด เพราะข้อมูลหลายอันเพิ่งได้มาตอนที่หมอพูด วันแรกที่ยังไม่ได้มีการเตรียมความพร้อมกันนั้น เราได้ฟังทุกอย่างจากที่หมอพูดพร้อมกับประชาชนที่เปิดทีวีรับชมอยู่ที่บ้าน เราก็เพิ่งรู้ตอนนั้นเหมือนกัน แล้วต้องขึ้นแปลเลย นั่นคือนัดแรกที่ทำงาน แต่ระยะหลังดีขึ้น เพราะมีโครงสร้างการประชุม มีข้อมูลล่วงหน้า แต่ก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนตลอดเวลาอยู่แล้ว เป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง ซึ่งการสื่อสารมีความสำคัญ เป็นหน้าที่ของกรมสารนิเทศอยู่แล้ว ไม่อย่างนั้นเราจะไม่สามารถสื่อสารให้กับโลกหรือสื่อต่างประเทศได้ทันเวลา - หลังจากนี้ทางกระทรวงการต่างประเทศ จะมีการต่อยอดโดยการเสนอให้มีการแปลคำแถลงเพื่อสื่อสาร และทำความเข้าใจให้กับประชาคมโลกในโอกาสอื่น ๆ หรือกรณีที่มีวิกฤติเช่นนี้หรือไม่ แน่นอนว่าอาจจะมี ต้องบอกตามตรงว่าการแถลงในภาคภาษาอังกฤษไม่ค่อยเป็นแนวที่รัฐบาลไทยที่ผ่านมาคิดว่าจะต้องทำ ซึ่งจะเห็นว่ามีภาษาไทยอย่างเดียว อย่างไรก็ตาม การทำแบบนี้ถือว่าค่อนข้างใหม่ แต่ก็มีการกระทำบ้างในบางเหตุการณ์ แต่ไม่มาก บางทีเรามองข้ามไป แต่ความเป็นจริงการทำเช่นนี้มันดีมาก ทำให้ประเทศไทยเราดูอินเตอร์ขึ้นโดยทันที บางทีคนต่างชาติฟังไม่ออก ปัญหานี้มันไม่ใช่แค่เรื่องการฟัง แต่มันเป็นเรื่องภาพลักษณ์ของประเทศไทย เรามีเรื่องเศรษฐกิจ มีเรื่องไอทีที่ทันสมัย แต่พอเรื่องภาษามีแต่ภาษาไทยอย่างเดียว ซึ่งพอเรามีภาคอินเตอร์ขึ้นมาก็ทำให้ดูดีขึ้น อย่างไรก็ดี หลังจากนี้หากมีเหตุการณ์อื่น ๆ ก็คิดว่าน่าจะมีการแถลงในภาษาอังกฤษด้วย เพราะหลังจากนี้จะมีคนสนใจประเทศไทยเยอะมาก เราต้องคงความที่เขามีภาพที่ดีต่อประเทศไทยเอาไว้ เนื่องจากบางครั้งหากเราไม่ได้มีการแปลในภาษาอังกฤษ สื่อที่ไม่ดีนำไปแปลผิดก็มี และไปนำอะไรที่ตกหล่นมาแปลเป็นประเด็น มาล้อเลียนท่าทีของประเทศไทย แต่ถ้ามีการแถลง มีการเตรียมข้อมูล การแปลจะออกมาชัดเจน ทำให้ไม่มีสื่อไหนหรือใครที่จะมาเขียนว่าประเทศเราได้ - ที่ผ่านมาทำหน้าที่ในการสื่อสารกับชาวต่างประเทศทั้งในไทย และนอกประเทศ มีอะไรอยากสื่อสารถึงคนไทยบ้าง อยากให้คนไทยติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิด เพราะข้อมูลในโลกนี้เปลี่ยนไปเร็วมาก มีข้อมูลเข้า และออกเร็ว ต้องมีการอัพเดตเรื่อย ๆ ซึ่งในสื่อโซเชียลมีเดีย ของกระทรวงต่างประเทศมีเรื่องโควิด-19 และพยายามอัพเดตเรื่อย ๆ ให้เร็วที่สุด อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีข่าวปลอมเป็นจำนวนมาก ไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทย แต่มีจากนอกประเทศไทยด้วย ต้องมีความระมัดระวัง ขอเน้นสำหรับเยาวชนไทยสมัยนี้ เพราะเยาวชนมีศักยภาพ ต้องติดตามข่าวอย่างใกล้ชิด ต้องพยายามอัพเดตตัวเองตลอดเวลา เรื่องข่าวสารขอให้เยาวชนไทยฝึกเรื่องภาษาให้ดีขึ้น ให้มีทักษะด้านภาษาที่ดี เพื่อสามารถติดต่อกับคนในประชาคมอาเซียนหรือนอกประเทศ ต้องเชื่อมั่นในศักยภาพและปรับปรุงพัฒนาตัวเองเรื่อย ๆ “ภาษาอังกฤษก็ไม่ใช่ภาษาแรกของผมเหมือนกัน ผมเป็นคนธรรมดา แต่พยายามศึกษาเรียนรู้ไปเรื่อย ๆ และหลายคนก็เก่งในเรื่องการสื่อสารภาษาไทย และภาษาอังกฤษเยอะแยะกว่าผม ก็อยากให้แบ่งปันความรู้กัน แบ่งปันทักษะ ซึ่งหลังจากนี้ผมคิดว่าอยากจะแบ่งปันความรู้จากการทำงานนี้ โดยการให้ความรู้กับทางมหาวิทยาลัย และเยาวชนในเรื่องของการสื่อสารกับโลกในกรณีวิกฤติ ซึ่งเรื่องเหล่านี้มีการเรียนการสอนในต่างประเทศ เพราะมันไม่ใช่แค่การสื่อสารระหว่างประเทศ แต่เป็นการสื่อสารเรื่องช่วงวิกฤติ ซึ่งจะสอนในเรื่องการสื่อสารในช่วงวิกฤติจะต้องมีอะไรบ้าง และจะต้องทำอย่างไรบ้าง ซึ่งผมอยากแบ่งปันข้อมูลตรงนี้” อย่างไรก็ตาม อาจจะมีการพูดคุยกับเยาวชน โดยใช้วิธีการบรรยาย เป็นต้น เราอยากให้ทักษะเด็กไทยดีขึ้นในหลาย ๆ เรื่อง ซึ่งเรื่องภาษาอาจจะดีแล้ว แต่คนที่แปลภาษาดีไม่ได้หมายความว่าจะเป็นล่ามที่ดีได้ หรือคนที่เป็นล่ามที่ดีไม่ได้แปลว่าจะสามารถสื่อสารในยามวิกฤติได้ เพราะยามวิกฤติจะต้องนิ่ง และใจเย็น ต้องสร้างอารมณ์ให้คนไม่ตื่นตระหนกเกินไป อย่างที่เห็นหมอทวีศิลป์ทำ เขาจะนิ่ง และยิ้ม เราก็พยายามนิ่ง ไม่ตื่นตระหนก และให้ข้อมูลในรอบ ๆ ด้าน