ร่วมสมัย/ชะมวง พฤกษาถิ่น : OCAC Shop เปิดเพจช่วยศิลปิน ตลาดนัดศิลปะร่วมสมัยออนไลน์ การปรับกลยุทธ์สินค้าแนวศิลปะวางขายออนไลน์ เป็นช่องทางหนึ่งของผู้สร้างสรรค์ผลงาน เพื่อดิ้นหนีตาย ประคองตัว ให้มีเงินหมุนเวียนหล่อเลี้ยงอาชีพ ในช่วงที่เชื้อโรคไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาดอยู่เวลานี้ ไม่ใช่เฉพาะไทยเท่านั้นแต่เป็นทุกประเทศทั่วโลก ขณะที่ภาครัฐด้านงานศิลปวัฒนธรรมใช้ช่องทางเพจออนไลน์ ยื่นมือช่วยเหลือเครือข่ายชุมชน ศิลปิน อย่างเช่น OCAC Shop ตลาดนัดศิลปะร่วมสมัยออนไลน์ของสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย จัดทำเพจเฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/BangkokArtFestivalBAF2020/ ขึ้นมา ใครมีสินค้า มีไอเดียสร้างสรรค์งานศิลปะนำมาแชร์ โปรโมทสินค้านั้นๆ ลงบนเพจดังกล่าว ดร.วิมลลักษณ์ ชูชาติ ผอ.สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) กระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ทำให้งานเทศกาลศิลปะกรุงเทพฯ ครั้งที่ 5 จัดโดยสศร. และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต้องหยุดชะงักงันไปด้วย ซึ่งงานดังกล่าวเป็นการเปิดพื้นที่ให้เด็กและเยาวชน รวมถึงศิลปินและผู้ประกอบการร้านค้า DIY แขนงต่างๆ ได้แสดงออกถึงความรู้ความสามารถทางงานศิลป์ และนำสินค้าผลิตภัณฑ์มาจำหน่าย ซึ่งสศร.ได้มีการสำรวจพบว่าในส่วนการจำหน่ายสินค้า ผู้ประกอบการหลายเจ้าได้รับผลกระทบอย่างหนัก เนื่องจากมีการลงทุนผลิตสินค้ามาจำหน่ายจำนวนมาก อีกทั้งก่อนที่จะยกเลิกการจัดกิจกรรม มีลูกค้าสนใจสั่งจองไว้สินค้าเอาไว้แล้ว จากนั้นก็ไม่มารับสินค้า ทำให้เหลือค้างสต๊อกจำนวนมาก และบางรายมีการกู้เงินมาลงทุนผลิตผลงานเป็นหลักแสนบาท จากผลกระทบดังกล่าว สศร.มีความห่วงใย พร้อมเป็นสื่อกลางและให้กำลังใจกับกลุ่มศิลปินผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปด้วยกัน จึงได้เปิดช่องทางการจำหน่ายสินค้าออนไลน์ในชื่อ OCAC Shop ผ่านเพจเฟซบุ๊ก BangkokArtFestivalBAF2020 โดยเน้นสินค้าศิลปะร่วมสมัย ประเภทงานประดิษฐ์ สินค้าทำมือ สินค้าD.I.Y ที่มีความสวยงาม ไม่ลอกเลียนแบบผลงานกัน และคำนึงถึงการใช้งานได้จริง อาทิ เสื้อผ้า เคสโทรศัพท์มือถือ เครื่องหนัง เครื่องประดับลงยาจากวัสดุธรรมชาติ สมุด สติ๊กเกอร์ ขณะที่งานจิตรกรรม มีทั้งวาดภาพเหมือน การ์ตูนล้อเลียน ภาพสีน้ำ สีน้ำมัน สีอะคริลิก ขณะนี้มีผู้สนใจขอเข้าร่วมตลาดนัดออนไลน์มากกว่า 70 ร้านค้า โดยภายในเพจจะให้ผู้ประกอบการนำเสนอสินค้าด้วยรูปภาพ แนวคิด มีชื่อผู้ขาย เบอร์โทรศัพท์ IDLine เป็นช่องทางการสื่อสารทั้งผู้ขายและลูกค้าในการเปิดรับออร์เดอร์ การออกแบบ การจัดส่งสินค้า ที่สำคัญมีการสอดแทรกองค์ความรู้ เทคนิคต่างๆ ทั้งภาษาไทยและอังกฤษ ให้แก่ผู้ซื้อสามารถเรียนรู้ไปด้วย “เราได้เรียนรู้ถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตคนไทย มาสู่การซื้อขายออนไลน์กันมากขึ้น จึงพยายามหาทางพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสเพื่อให้ผู้ผลิต ผู้ประกอบการได้ปรับตัวในการขายสินค้า พยายามดึงจุดเด่นมานำเสนอให้น่าสนใจรูปแบบต่างๆ เพื่อต่อสู้กับวิกฤตินี้ โดยสศร.ยืนยันจะไม่ทอดทิ้งผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน และยังเตรียมแผนยกระดับการขายสินค้าศิลปะร่วมสมัยออนไลน์สู่ระดับสากลในอนาคตด้วย” ดร.วิมลลักษณ์ ผอ.สศร. กล่าว OCAC Shop เปิดเพจช่วยศิลปิน ตลาดนัดศิลปะร่วมสมัยออนไลน์