ปากกาขนนก / สกุล บุณยทัต “มนุษย์ต่างเฝ้าหมกมุ่นและรอคอยสิ่งอันจับต้องไม่ได้..ทั้งๆที่รู้ว่าตัวเองกำลังวางโครงเรื่องในเชิงโศกนาฏกรรมให้แก่หัวใจที่ไม่ยอมคลี่คลายของตนเองเสมอ..” ...ย้อนไปในราวปี ค.ศ.1940..ได้มีผู้พยายามแยกระบบเหตุผลออกจากศรัทธาโดยเด็ดขาด สืบเนื่องมาจากก่อนหน้านั้นราวหนึ่งศตวรรษ นักบวชชาวคริสต์ได้นำค่านิยมเชิงนามธรรมมาแต่งเป็นเรื่องราวเพื่อสร้างความเชื่อทางศาสนาให้หนักแน่นและมั่นคงยิ่งขึ้น นั่นคือ..ที่มาแห่งการก่อเกิด “เทพนิยาย” ซึ่งได้กลายเป็นรากฐานสำคัญแห่ง “เทววิทยา” ในช่วงแรก.. การสร้างเทพนิยายตามนัยดังกล่าว ถูกมองว่าเป็นต้นเหตุทำให้มวลมนุษย์มีแนวโน้มที่จะเกิดความเชื่อแบบงมงายมากยิ่งขึ้น..ความเชื่อที่ปราศจากการพินิจพิเคราะห์และแยกแยะให้ประจักษ์ ระหว่างความเป็นจริงกับสิ่งที่ปรุงแต่งขึ้นด้วยมายาคติ เหตุนี้เรื่องราวที่แต่งขึ้น จึงกลับกลายเป็นเรื่องจริงขึ้นมาอย่างเหลือเชื่อ... ความคิดและมุมมองเชิงจินตนาการแห่งเทพนิยายจึงถูกมองจากผู้คนที่คัดค้านว่าเป็นดั่งเรื่องที่เพ้อฝัน-เพ้อเจ้อ และสูญเสียเวลาที่จะต้องไปยึดมั่นศรัทธา พวกเขาระบุว่า วิธีพิสูจน์ความจริงได้เพียงหนึ่งเดียวก็คือ... “การต้องมีประสบการณ์ตรงเกิดกับชีวิตเท่านั้น” เมื่อล่วงเข้าสู่ยุควิทยาศาสตร์นับแต่ปี ค.ศ.1473 เป็นต้นมาโลกถูกค้นพบและพิสูจน์ว่า ไม่ได้เป็นศูนย์กลางแห่งดวงดาวอีกต่อไป การประกาศการค้นพบครั้งนี้นับเป็นการท้าทายอำนาจของทาง ศาสนจักรอย่างยิ่ง ลัทธิเชิงประสบการณ์เกิดขึ้นอย่างมากมายต่อเนื่อง เป็นกระบวนทัศน์ใหม่ที่บ่งชี้ถึงประเด็นปัญหาว่า..มนุษยโลกไม่ควรมาถกเถียงกันด้วยทรรศนะอันแตกต่างมากหลาย แต่ควรที่จักต้องเร่งพิสูจน์กันเลยดีกว่าว่า..แท้จริงแล้ว “ธรรมชาติมีความเป็นจริงอย่างไร?”..ตรงนี้ถือเป็นที่มาแห่งความรู้...ความรู้ที่ได้มาด้วยการสัมผัสจากระบบประสาททั้งห้า หากสิ่งใดก็ตามไม่อาจรับรู้และรู้สึกได้ด้วยระบบดังกล่าว ก็อย่าเพิ่งตัดสินใจที่จะเชื่อ...เพราะแท้จริงทุกสิ่งในโลกมีความขัดแย้งระหว่างความถูกกับความผิด รวมทั้งทุกสิ่งในโลกนี้ย่อมมีเหตุผลในตัวของมันเองอย่างเพียงพอ.. ที่สุด..จึงมีข้อสรุปบทหนึ่งที่เกี่ยวเนื่องกับมนุษยโลกปรากฏขึ้นมา นั่นคือการยอมรับในสถานะของมนุษย์ว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์สูงสุด ซึ่งปรากฏและมีอยู่ทั้งในภาวะแห่งธรรมชาติ และภายในตัวมนุษย์เอง..ซึ่งนั่นหมายถึงว่าตัวมนุษย์ได้ถูกสถาปนาให้เป็นแกนกลางแห่งการเรียนรู้และการเปลี่ยนแปลงในด้านธรรมชาติทั้งหมดแล้ว หลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา ภาพสะท้อนแห่งความโหดร้ายที่มนุษย์ผู้ทุ่มเทในการพัฒนาวัตถุ จนที่สุด ได้นำมาซึ่งการทำร้ายซึ่งกันและกันอย่างทารุณโหดร้าย ก็ได้เป็นเหมือนภาพเงาที่ซ้อนซ้ำแห่งอดีต ภาพเงาแห่งการใช้ศรัทธาและประสบการณ์ชีวิตเพื่อแสวงหาคุณธรรม ภาพเงาแห่งการขบคิดที่จะนำไปสู่บทพิสูจน์แห่งการรู้แจ้ง.. การแสวงหาทางภูมิปัญญา ถูกสืบค้นให้เป็นไปตามแนวของการหยั่งรู้ เพื่อจะได้พบกับความเป็นสัจจะ ทั้งที่ง่ายต่อการพิสูจน์และอยู่นอกเหนือวิสัยที่จะพิสูจน์ได้ด้วยการทำงาน ...ประสบการณ์ในเชิงปฏิบัติถูกนำมาใช้เพื่อเลือกเฟ้นว่า สิ่งใดเป็นประโยชน์อย่างแท้จริง ภายใต้เงื่อนไขของความเป็นธรรมชาติ และสิ่งใดที่เป็นสิ่งไร้ค่า ..ก็จักถูกประกาศว่าอาจเป็นบ่อเกิดแห่งโทษทั้งปวง.. ดูเหมือนว่านี่คือโลกแห่งความมาดหมายตามนัยที่เต็มไปด้วยความสลับซับซ้อน เป็นเหมือนบ่วงบาศแห่งแผนการที่ยุ่งยากของเกมเดิมพันที่หลอมรวมเอาสรรพสิ่งทั้งดีและชั่วเข้าไว้ด้วยกัน ทุกขั้นตอนเป็นความเร้นลับที่มีพัฒนาการมาเป็นอย่างดี..ว่ากันว่า ภายใต้พัฒนาการดังกล่าวนี้มักเต็มไปด้วยความมหัศจรรย์และสิ่งที่งดงามใหม่ๆ ที่สามารถเชื่อมโยงให้มนุษย์ได้เข้าถึงภาวะแห่งจิตวิญญาณอันบริสุทธิ์ ภาวะแห่งการรับรู้ในองค์รวมของธรรมชาติ ตลอดจนปรากฏการณ์อันเป็นปริศนา... แท้จริงแล้ว..โลกเป็นอาณาจักรที่ไร้ขอบเขตทางด้านความคิด หากมนุษย์ได้ตระหนักถึงศักยภาพแห่งตนและมุ่งมั่นที่จะแสวงหา.. มนุษย์ก็จะไม่สงสัยในความสามารถแห่งตน และอาจก้าวล่วงไปถึงว่า...ไม่มีความหวาดกลัวใดๆ ที่จะทำให้มนุษย์ต้องหยุดข้อสงสัยในปรากฏการณ์ที่ว่า.. “ภาพลวงตาถือเป็นมายาที่งดงามที่สุด” “เฮอร์มานน์ เฮสเส”(Hermann Hesse).นักเขียนรางวัลโนเบล ปีค.ศ.1946 ชาวเยอรมัน....ได้นำเสนอศรัทธาแห่งการมีชีวิตอยู่ ด้วยประสบการณ์แห่งการใช้ปัญญาผ่านปริศนาแห่ง “เกมลูกแก้ว”(The Glass Bead Game)..นวนิยายที่รังสรรค์ขึ้นจากโครงสร้างแห่งเจตนารมณ์ของโลกอันไร้ขอบเขต โลกอันเป็นประเพณีนิยม โลกอันเป็นวัฒนธรรมที่สืบช่วงต่อกันมาเป็นเวลาอันยาวนาน...นี่คือ. เรื่องราวสังเขปเกี่ยวกับชีวิตของ “โยเซฟ คเนชท์” นายแห่งเกมลูกแก้ว.. /เด็กชายผู้มีความพิเศษทางด้านดนตรี และได้ถูกรับเลือกให้เข้าไปศึกษายังสถานศึกษาสูงสุดในคาสทาเลีย...และได้มีโอกาสศึกษา “เกมลูกแก้ว” ซึ่งเป็นศาสตร์ชั้นสูงที่สามารถแสดงความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างศาสตร์สาขาต่างๆจนสามารถก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดคือ “การเป็นนายของลูกแก้ว” และท้ายที่สุดเขาก็ได้ตัดสินใจเลือกวิถีนักบวช ละทิ้งนัยแห่งความสูงส่งทั้งมวลออกมาสู่โลกภายนอก ด้วยการรับหน้าที่เป็นครูธรรมดาให้แก่เด็กคนหนึ่ง...ประเด็นตรงส่วนนี้”เฮสเส”ปรารถนาที่จะสื่อแสดงว่า...นอกเหนือจากการเติบโตทางกายภาพแล้ว มนุษย์ยังสามารถที่จะเติบโตทางจิตวิญญาณได้ไปพร้อมๆกัน โดยภาพรวม เนื้อหาของ “เกมลูกแก้ว” ได้ถูกจัดวางเอาไว้ให้เป็นเสมือนภาวะแห่งการวิ่งสวนทางกับกฎเกณฑ์ที่อุบัติขึ้นท่ามกลางที่มาที่ไปที่ไม่รู้จบ ขณะที่โลกเคลื่อนไหวไปทั้งด้วยความรู้แท้ที่ถูกต้องเที่ยงตรง ความรู้เทียมที่เหมือนจะถูกต้องแต่ไม่เที่ยง และความรู้เท็จที่ทั้งไม่ถูกต้องและเที่ยงตรงทรรศนะของ “เฮสเส” ใน “เกมลูกแก้ว” จึงคล้ายดั่งกระบวนวิธีที่พยายามจะขึ้นไปอยู่เหนือมิติแห่งความเป็นอัศจรรย์ โดยเฉพาะนิยายที่เกี่ยวเนื่องกับความเป็นมนุษย์ และบรรดาเหตุผลของพวกเขา /...จริงหรือ...ที่มนุษย์สามารถจะเป็นวีรบุรุษได้ดั่งในเทพนิยาย?.../แน่นอนว่า...มันอาจจะเป็นไปได้หากมนุษย์ผู้หนึ่งจะสละตัวตนเพื่อผู้อื่น แทนที่จะพยายามตั้งท่าแต่จะละเมิดกฎเกณฑ์ ความงอกงามไพบูลย์ในชีวิตควรที่จะเป็นด้วยภูมิธรรมแห่งความเป็นปัจเจกที่มนุษย์ทุกคนพึงจะมี พวกเขาเหมือนผู้ที่ต้องพยายามใคร่ครวญที่จะต้องเอาชนะใน “เกมลูกแก้ว” ..เกมที่เป็นภาษาสัญลักษณ์ ...เกมที่มีพัฒนาการมาอย่างเลอค่าด้วยศิลปะวิทยาการนานา...การหลอมรวมเนื้อหาสาระของศาสตร์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคณิตศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์ ถือเป็นสัญญะสำคัญแห่งแบบแผนของการตีความในเกมที่เป็นเหมือนตัวแทนของโลกและชีวิตเกมนี้... การเล่นเกมด้วยมโนทัศน์และวัตถุดิบที่เต็มไปด้วยคุณค่าทางปัญญามหาศาล นับเป็นความสมบูรณ์แห่งองค์ประกอบของการเรียนรู้ ที่ขยายกว้างและครอบคลุมจนเป็น “ปัญญาแห่งจักรวาล” ไปในที่สุด โดยภาพรวม... “เกมลูกแก้ว” ให้ภาพด้านลึกที่มีมิติเกินกว่าจินตนาการจะกำหนดได้..จะเห็นได้จากการที่ ชีวิตมนุษย์สามารถคาดหวังด้วยอำนาจแห่งการใส่ใจต่อสภาวะรอบข้าง ...ซึ่งเมื่อ “เกมลูกแก้ว” เริ่มดำเนิน บทบาทชีวิตของผู้เล่นเกมนี้ก็จะไม่ได้เป็นเยี่ยงกาฝากที่ไร้ค่า ...ผู้ที่เล่นเกมนี้ทุกคนจึงจำเป็นต้องมีสมาธิ ถามคำถามกับหัวใจ...ใคร่ครวญถึงความเป็นไปแห่งศาสตร์แขนงต่างๆ ..ตลอดจนต้องพยายามหาข้อประจักษ์ให้ได้ว่า ระหว่างศรัทธาและเหตุผล ณ ขณะหนึ่งแห่งการแสวงหาความไพบูลย์ของการดำรงอยู่..แท้จริงอะไรคือแรงดลใจของชีวิต? คำถามทุกๆคำถาม ณ ที่นี้ ล้วนนำไปสู่คำตอบที่สามารถสร้างชีวิตชีวาให้แก่ทุกๆคน โดยเฉพาะกับผู้ที่ท้อแท้สิ้นหวังและปราศจากความปรารถนาในการแสวงหา....เพราะนี่คือ... “หนทางอันถูกต้องสู่น้ำพุแห่งชีวิตอันแท้จริง” หนทางที่สามารถให้ข้อประจักษ์ถึงว่า...ขณะที่มนุษย์ตกอยู่กับความกระวนกระวาย พวกเขาจักสามารถค้นพบหนทางแห่งสันติสุขได้... ผมถือเอา “เกมลูกแก้ว” เป็นกระจกเงาแห่งมิติของโลกและชีวิต ทั้งสิ่งที่เจริญก้าวหน้าและสิ่งที่ไม่มีค่าความหมายอะไรเลย การตีความที่บังเกิดขึ้น..เป็นอำนาจของความเข้าใจ เป็นพลังที่เราอาจจะระบุได้ว่า แม้แต่ประวัติศาสตร์ก็ยังปราศจาก “สัจธรรม” ที่น่าเชื่อถือ “ขณะที่เล่นเกมชีวิตย่อมต้องมีวิจารณญาณ”..ขณะที่เล่นเกมนี้ต้องการศาสตร์ต่างๆเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ..แต่ท้ายที่สุดแล้ว “เกมก็คือเกม/ชีวิตก็คือชีวิต”/...ทุกอย่างเป็นเงื่อนไขของธรรมชาติ...และธรรมชาติที่ไม่ปรารถนาให้สิ่งต่างๆก้าวล้ำเข้าไปสร้างตัวตนในเกมดังกล่าว จนสามารถกลบกลืนความหมายของตนเองได้.. “โลก แห่งชีวิตต้องการ การเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ และการเล่นเกมของบุคคลหนึ่งๆก็เช่นกัน” นี่คือภาพเปรียบเทียบแห่งยุคสมัย..ภาพเปรียบเทียบแห่งการบรรลุ ด้วยนัยแห่งการแสวงหาที่ “เฮอมานน์ เฮสเส” ได้สร้างขึ้น ผ่านเงาร่างของ “เกมลูกแก้ว” ..เกมที่ผู้เล่นต้องรู้จักสติปัญญาและลักษณะพิเศษแห่งความเป็นมนุษย์ของกันและกัน..และแน่นอนที่สุด..พวกเขาต้องรู้จักสังเกตการณ์ เพราะผู้เล่นเกมแต่ละคนจะสร้างบรรยากาศที่โน้มนำไปสู่วิถีแห่งการพินิจพิเคราะห์..พวกเขาจะนิ่งเงียบสุภาพ แม้จะทะเยอทะยาน แต่ก็ไม่แสดงออก นัยน์ตาของพวกเขาจะแหลมคมและจะวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างถึงที่สุด.. “เฮอร์มานน์ เฮสเส” เขียนนวนิยายเรื่องนี้เป็นเรื่องสุดท้ายในชีวิต..เมื่อปี ค.ศ.1941 ในช่วงที่เยอรมันเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 โดยมีเจตจำนงที่จะฟื้นฟูจิตวิญญาณของผู้คนที่แตกสลายยับเยินให้คืนมาสู่ความเป็นเอกภาพโดยสมบูรณ์อีกครั้ง/เรื่องราวทั้งหมดสื่อผ่านชีวประวัติของ “โยเซฟ คเนทช์”..เด็กชายผู้มีความสามารถพิเศษทางด้านดนตรี และถูกคัดเลือกเข้าไปศึกษาในสถานศึกษาชั้นสูงที่คาสทาเลีย จนมีโอกาสได้ศึกษาศาสตร์ชั้นสูงอันหมายถึง “เกมลูกแก้ว” ..ศาสตร์ที่สามารถเชื่อมโยงศาสตร์สาขาต่างๆ/..นั่นคือบริบทอันสำคัญแห่งสาระเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ที่แสดงและยืนยันได้อย่างชัดแจ้งว่า..เป็นวรรณกรรมที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นโดยนักเขียนของโลกที่ผ่านประสบการณ์นานา/จากความร้อนรุ่มเดือดพล่านในวัยหนุ่ม มาสู่ความสับสนย้อนแย้งในวัยกลางคน กระทั่งล่วงเข้าสู่ชีวิตในวัยชราที่ต้องใคร่ครวญในบั้นปลาย/ทั้งหมดนั้นสื่อสารออกมาด้วยภาษาสำนึกแห่งชีวิตในแต่ละช่วงตอนอันงดงาม/.. “สดใส” ..นักแปลผู้ที่ได้ฉายาว่า “ลูกสาวเฮสเส” ..แปลผลงานชิ้นนี้ออกมาเมื่อปีค.ศ.2002/18 ปีล่วงมาแล้ว..ด้วยความตั้งใจ/ ...ให้ความรู้สึกผ่านผัสสะแห่งการรับรู้ด้วยรหัสนัยของการตีความได้อย่างลึกซึ้งและก่อผลลัพธ์ ต่อการจดจำและซึมซับยิ่ง... “จะเห็นได้ชัดว่าข้อขัดแย้งดั้งเดิมระหว่างสุนทรียศาสตร์กับจริยศาสตร์ยังคงดำเนินต่อไปในตัวคเนชท์...ปัญหานี้ไม่แสดงตัวอย่างเต็มที่ และไม่เคยปรากฏได้อย่างราบคาบเหมือนกัน เป็นปัญหาที่พลุ่งโพลงตลอดเวลาอย่างน่ากลัวและมืดมน...” ที่สุดแล้ว...ชีวิตทุกๆชีวิตที่ได้ผ่านเกมลูกแก้วจะยืนหยัดอยู่ได้โดยไม่ต้องมีใครมาคอยยึดพยุงโชคชะตา...พวกเขาจะมองเห็นหนทางและพื้นที่ที่เขาจะเหยียบยืนได้อย่างสง่างามและมีความสุข/..ซึ่งภาพสะท้อนส่วนนี้คือ ความเป็นจริงแห่งการแสวหาของมวลมนุษย์ในโลกแห่งความสับสน ณ วันนี้ทุกๆคน.../...มันมิใช่นิยามแห่งเทพนิยายใดๆ...แต่นี่คือ..เรื่องราวแห่งความเป็นธรรมเทศนาแห่งยุคสมัย..เรื่องราวที่จะนำพาให้ผู้อ่านดิ่งลึกลงไปในสมาธิจิตอันเร้นลึกภายในของมวลมนุษย์..ผ่านความสับสนแตกต่างระหว่างเหตุผล มายา และความศรัทธา ผ่านนิยามแห่งความถูกผิด และ ผ่านกระบวนทัศน์แห่งการแสวงหาด้วยการใคร่ครวญที่ไม่รู้จบทั้งหมดในสิ่งทั้งหมด/... “เฮอร์มานน์ เฮสเส” ..ได้ทำให้ผู้เข้าใจในเกมลูกแก้ว.../..ผู้ที่อ่านเกมออกแข็งแรง..และมั่นใจในสถานะแห่งการดำรงอยู่..ได้รู้ทุกข์รู้สุขในหมู่เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน/...และที่สำคัญ ความรักเยี่ยงความเป็นพี่น้องก็สามารถที่จะบังเกิดและงอกงามเติบใหญ่ขึ้นได้..ทั้งบนสถานะของความผิดบาปและในความเร้นลึกแห่งตัวตนที่ยิ่งใหญ่แท้จริงนิรันดร์ “ในท่ามกลางอะไรต่างๆนั้น เขาได้หล่อหลอมความเป็นตัวเขา ...และโชคชะตาอันมีลักษณะพิเศษขึ้นมาด้วย!”