จากสถานการณ์ของโควิด-19 ที่แพร่ระบาดทั่วโลกทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติและนักท่องเที่ยวไทยในปี 2563 หดตัวลงเป็นอย่างมาก โดยจำนวนผู้โดยสารต่างชาติที่ผ่านเข้ามาทางสนามบินหลัก 5 แห่งของไทยได้หดตัวลงในทันที ในระดับประมาณ 45-50% ตลอดเดือนกุมภาพันธ์ จนส่งผลกระทบต่อธุรกิจโรงแรมที่น่าจะมีค่าห้องพักเฉลี่ยต่อห้องพักที่ขายได้ (RevPAR) ของธุรกิจโรงแรมไทยลดลง 55-65%
ทั้งนี้ศูนย์วิจัย EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ คาดการณ์ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยในปี 2563 จะหดตัวลง 67% จาก 39.8 ล้านคนในปี 2562 เหลือเพียง 13.1 ล้านคนจากการที่รัฐบาลของหลายประเทศดำเนินมาตรการห้ามประชาชนของตนเองเดินทางออกนอกประเทศ การยกเลิกเที่ยวบินจำนวนมากของสายการบินทั่วโลก และความกังวลเกี่ยวกับการระบาดของโควิด-19 และด้วยสภาวะเศรษฐกิจโลกเข้าสู่สภาวะถดถอย จนส่งผลกระทบต่อรายได้ของชาวต่างชาติและส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงการตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยว และในที่สุดแล้วอาจจะเลือกเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศของตนเองหรือในประเทศละแวกใกล้เคียงภายในภูมิภาคของตนเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง
ซึ่งจำนวนนักท่องเที่ยวที่หดตัวลงทำให้ EIC คาดว่าค่าห้องพักเฉลี่ยต่อห้องพักที่ขายได้ เฉลี่ยของธุรกิจโรงแรมไทยจะลดลง 55-65% ในปี 2563 โดยคาดว่าอัตราการเข้าพัก เฉลี่ยทั่วประเทศของปีนี้ จะลดลงประมาณ 35-40%ในขณะที่ค่าห้องพักเฉลี่ยจะลดลง 20-25% ดังนั้นจึงทำให้โรงแรมเกือบทุกแห่งประสบกับสภาวะขาดทุนจากการดำเนินงานและอาจมีโรงแรมบางแห่งจำเป็นต้องปิดกิจการโดยเฉพาะโรงแรมขนาดกลาง-เล็กที่มีเงินทุนไม่มากนักและไม่สามารถทนต่อสภาวะขาดสภาพคล่องติดต่อกันได้ยาวนานหลายเดือน
นอกจากนี้โรงแรมบางแห่งอาจเลือกที่จะหยุดให้บริการชั่วคราวเพื่อลดค่าใช้จ่ายและผลขาดทุน จากการดำเนินงานให้น้อยที่สุดในสภาวะที่รายได้ค่าห้องพัก และรายได้จากบริการอื่นๆที่ไม่ใช่ห้องพัก เช่น ภัตตาคารห้องประชุมสัมมนาห้องจัดเลี้ยงสปาฟิตเนสเซ็นเตอร์ เป็นต้น มีการหดตัวลงอย่างมากจนไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเพิ่มเติมจากการเปิดให้บริการ
ดังนั้นในปัจจุบันโรงแรมหลายแห่ง จึงได้รักษาสภาพคล่องและสภาพการดำเนินงานของธุรกิจระหว่างรอให้จำนวนนักท่องเที่ยวและผู้เข้าพักกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งผ่าน 3 แนวทางหลักดังนี้ 1. การสร้างรายได้และสภาพคล่องจากการบริการที่มีอยู่ในโรงแรม เช่น การลดค่าห้องพักลงอย่างมากเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวไทยในช่วงก่อนที่โควิด-19 จะระบาดในไทย ให้บริการอาหารแบบสั่งกลับบ้านและบริการ food delivery ให้บริการห้องพักและบริการอื่นๆ ที่จำเป็นแก่ประชาชนทั่วไปที่ต้องการแยกอยู่อาศัยจากครอบครัวเพื่อกักกันโรคโดยคิดค่าห้องพักเป็นรายสัปดาห์ ให้บริการห้องพักแก่ผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่มีอาการไม่รุนแรงตามโครงการของกระทรวงสาธารณสุข 2.ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เช่น ปิดพื้นที่ให้บริการบางส่วนหรือหยุดให้บริการชั่วคราวเพื่อลดต้นทุนในการดำเนินงานต่างๆ และ 3.ชะลอค่าใช้จ่ายบางประเภทออกไป เช่น ยกเลิกการจ้างบริษัทที่ปรึกษาภายนอกเจรจาขอยืดเวลาการผ่อนชำระสินเชื่อกับธนาคารพาณิชย์
อย่างไรก็ตามหลังโควิด-19 คลี่คลายธุรกิจโรงแรมควรปรับกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ ในแง่การกระจายรายได้เพื่อให้ธุรกิจมีการดำเนินงานที่ยืดหยุ่นและพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยที่มีผลต่อการดำเนินธุรกิจในอนาคตโดยผู้ประกอบการอาจพิจารณาถึงการเพิ่มสัดส่วนนักท่องเที่ยวไทยเพื่อให้ธุรกิจมีความพร้อมเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่อาจกระทบกับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติซึ่งไม่อาจคาดเดาได้ล่วงหน้าโดยอาจดำเนินกิจกรรมการตลาดผ่านช่องทางดิจิทัลสื่อโซเชียลมีเดียรวมถึงแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ
นอกจากนี้ผู้ประกอบการโรงแรมอาจมองถึงการกระจายรายได้โดยการสร้างรายได้จากส่วนบริการอื่นๆ ภายในโรงแรม เช่น การให้บริการอาหารแบบ food delivery และ catering แก่องค์กรภายนอก รวมถึงการเปิดโอกาสให้บุคคลภายนอกสามารถสมัครสมาชิกสปาและฟิตเนสเซ็นเตอร์เพื่อสร้างรายได้ประจำมากขึ้น สอดรับกับเทรนด์ wellness lifestyle ของคนรุ่นใหม่ภายหลังจากที่การระบาดของโควิด-19 บรรเทาลงและการจองห้องพักเริ่มกลับมาอีกครั้ง โดยผู้ประกอบการควรทำความสะอาดพื้นที่และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ภายในโรงแรม พร้อมทั้งสื่อสารกับลูกค้ากลุ่มเป้าหมายและผู้ที่จองห้องพักเกี่ยวกับการทำความสะอาดของโรงแรม รวมถึงกลไกและมาตรฐานการดูแลสุขลักษณะที่เหมาะสมในการให้บริการ เช่น การบริการห้องอาหาร กิจกรรมนันทนาการต่างๆ เป็นต้น