องค์การยูนิเซฟ ได้ออกผลสำรวจล่าสุด เรื่องผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ต่อเด็กและเยาวชนในประเทศไทย พบว่า เด็กและเยาวชนกว่า 8 ใน 10 คน มีความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาการเงินของครอบครัว ซึ่งเป็นประเด็นที่เด็กและเยาวชนกังวลมากที่สุด เนื่องจากพ่อแม่ผู้ปกครองไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ อันเป็นผลมาจากการปิดตัวของธุรกิจต่าง ๆ ตลอดจนการถูกเลิกจ้าง
การสำรวจนี้จัดทำโดยองค์การยูนิเซฟ ร่วมกับสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ และกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ โดยเป็นการสำรวจครั้งแรกที่มุ่งศึกษาผลกระทบของวิกฤตโควิด-19 ต่อเด็กและเยาวชนในประเทศไทย และทำความเข้าใจเกี่ยวกับความต้องการที่แท้จริงของพวกเขา โดยเก็บข้อมูลผ่านแบบสอบถามออนไลน์ระหว่างวันที่ 27 มีนาคม ถึง 6 เมษายน จากเด็กและเยาวชนจำนวน 6,771 คนทั่วประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่อายุ 15-19 ปี
ผลสำรวจยังพบว่า เด็กและเยาวชนกว่า 7 ใน 10 คน กล่าวว่าวิกฤตโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจ โดยพวกเขามีความเครียด วิตกกังวลและเบื่อหน่าย นอกจากนี้ เด็กและเยาวชนเกินครึ่งรู้สึกกังวลด้านการเรียน การสอบ และโอกาสในการศึกษาต่อ เนื่องจากการปิดโรงเรียนเป็นระยะเวลานาน ในขณะที่ ร้อยละ 7 รู้สึกกังวลเกี่ยวกับปัญหาความรุนแรงในครอบครัว เช่น การทะเลาะกันของผู้ปกครองและการทำร้ายร่างกาย
ผลสำรวจยังสะท้อนปัญหาของเยาวชนกลุ่ม LGBTIQ จากการที่ต้องอยู่แต่ในบ้าน โดยร้อยละ 4 ของผู้ตอบแบบสอบถามรู้สึกกังวลเรื่องเพศสภาพที่ถูกกดดันเพิ่มขึ้น เนื่องจากไม่สามารถแสดงอัตลักษณ์หรือตัวตนกับครอบครัวได้ รวมถึงบางส่วนที่อาจไม่สามารถเข้าถึงฮอร์โมนเสริมได้ในช่วงนี้
นายโธมัส ดาวิน ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า “ผลสำรวจนี้ชี้ให้เห็นชัดเจนว่าวิกฤตครั้งนี้ส่งผลกระทบมากมายหลายด้านต่อเด็ก ๆ และเยาวชนหลายกลุ่ม โดยเด็กและเยาวชนต่างมีความเครียด ความกลัวและวิตกกังวลไม่ต่างจากผู้ใหญ่ เวลานี้ครอบครัวถือเป็นพลังสำคัญที่จะช่วยให้เด็ก ๆ จัดการกับสภาวะเหล่านี้ได้ พวกเขาควรได้รับความรักความเอาใจใส่ในช่วงเวลานี้มากกว่าที่เคย”
ดร.วาสนา อิ่มเอม รักษาการหัวหน้าสำนักงาน กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย กล่าวว่า “การสำรวจแสดงให้เห็นว่าร้อยละ 36 ของเยาวชนและวัยรุ่นกว่า 6,700 คนที่ตอบแบบสอบถามระบุว่ามีผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 60 ปีอยู่ที่บ้าน นี่เป็นโอกาสที่ดีที่จะให้เยาวชนและวัยรุ่นเป็นผู้พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสผ่านกิจกรรมแบบเว้นระยะห่างทางสังคมที่สนับสนุนด้านสุขภาพและจิตใจให้แก่ผู้สูงอายุซึ่งเป็นกลุ่มคนที่อยู่ในภาวะที่เสี่ยงที่สุดในช่วงการระบาดของโควิด -19 ผ่านทางการสร้างความรู้และการตระหนักรู้ในเรื่องการดูแลสุขภาพของตนเองและป้องกันการเป็นพาหะในช่วงนี้”
ผลสำรวจยังได้สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการของเด็กและเยาวชนในด้านความต้องการเรียนรู้ออนไลน์เพื่อเสริมความรู้และทักษะระหว่างที่โรงเรียนปิดและต้องอยู่แต่ในบ้าน โดยพบว่า สิ่งที่เด็กและเยาวชนอยากเรียนเพิ่มเติมมากที่สุด คือ ภาษาอังกฤษ รองลงมาคือ ความรู้เสริมในวิชาที่กำลังเรียนอยู่ในปัจจุบัน ในขณะที่ เด็ก 1 ใน 4 คนระบุว่าอยากเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการจัดการกับความเครียดและโรคซึมเศร้า
ด้าน นางสาวสุภาพิชญ์ ไชยดิษฐ์ ประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “ภาครัฐต้องให้ความสำคัญเร่งด่วนกับปัญหาสุขภาพจิตของเด็กและเยาวชนทั้งในช่วงการแพร่ระบาดและหลังสถานการณ์ ตลอดจนให้ความใส่ใจเด็กและเยาวชนในแต่ละช่วงวัย เพราะเด็กทุกคนควรได้รับการปกป้องคุ้มครองแม้อยู่ที่บ้าน เด็ก ๆ ควรได้รับการส่งเสริมและพัฒนาให้เหมาะสมกับพัฒนาการและช่วงวัย"
นายเรอโนด์ เมแยร์ ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ กล่าวว่า “วิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด -19 เป็นมากกว่าวิกฤตทางสุขภาพ แต่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมต่อทุกคน โดยเฉพาะกลุ่มคนที่เปราะบางเช่นเด็กและเยาวชน แต่เยาวชนเองก็มีศักยภาพมากมายที่จะเป็นผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง พวกเขามีพลัง มุ่งมั่น และมีทักษะด้านเทคโนโลยีที่จะมาช่วยหาแนวทางใหม่ ๆ ด้านดิจิทัล ดังนั้น การสนับสนุนเยาวชนจึงเป็นสิ่งจำเป็นมาก ไม่เพียงแต่ปกป้องพวกเขาจากโควิด-19 เท่านั้น แต่ยังเป็นการช่วยเพิ่มศักยภาพต่อการรับมือกับของวิกฤต และช่วยสร้างสังคมแห่งการมีส่วนร่วม ยั่งยืน และเข้มแข็งต่อไป”
ยูนิเซฟได้เรียกร้องให้รัฐบาลในประเทศต่างๆ เสริมมาตรการคุ้มครองทางสังคมเพื่อช่วยเหลือกลุ่มประชากรที่เปราะบางเพื่อบรรเทาผลกระทบของวิกฤตโควิด-19 ที่มีต่อเด็กและครอบครัว พร้อมส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนสามารถเข้าถึงการเรียนรู้ออนไลน์ การศึกษาทางไกล ตลอดจนบริการให้คำปรึกษาเยียวยาจิตใจและบริการทางสุขภาพจิตสำหรับวัยรุ่น
ในประเทศไทย ยูนิเซฟร่วมกับมูลนิธิแพธทูเฮลท์ (Path2Health) จัดคลินิกออนไลน์ 24 ชั่วโมง ชื่อ เลิฟแคร์ สเตชั่น www.lovecarestation.com เพื่อให้คำปรึกษาแก่วัยรุ่นในด้านต่าง ๆ โดยเป็นบริการเฉพาะสำหรับวัยรุ่นที่เข้าถึงง่าย และเป็นมิตรกับวัยรุ่น
นายดาวินกล่าวทิ้งท้ายว่า “เด็กและเยาวชนมากมายกำลังประสบปัญหาและต้องแบกรับภาระอันเป็นผลพวงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ครั้งนี้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเนื่องไปอีกนาน เราเห็นปัญหาต่าง ๆ มากมายหลังการแพร่ระบาดเพียงแค่ไม่กี่สัปดาห์ โดยหลายครอบครัวต้องกระเสือกกระสนในการมีชีวิตรอด หลายคนไม่มีเงินแม้จะซื้อข้าวให้ลูกกิน เราต้องมีมาตรการที่จะรับมือกับผลกระทบของโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และต้องร่วมมือกันอย่างเร่งด่วน เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กและเยาวชนต้องแบกรับผลกระทบ หรือจมอยู่ในวงจรของปัญหาที่อาจยืดเยื้อต่อไปไม่สิ้นสุด”