ท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ก่อผลกระทบไปทั่วทั้งโลก แม้ขณะนี้ประเทศไทยตัวเลขจะลดลงก็ตาม แต่การป้องกันการติดเชื้อยังคงต้องเฝ้าระวังอย่างสูงสุด
อ.ปัญญา เหล่าอนันต์ธนา อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ ผู้ออกแบบและพัฒนาหุ่นยนต์ ฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อโรค เปิดเผยว่า ในสถานการณ์ปัจจุบันการฉีดพ่นเพื่อกำจัดเชื้อ COVID-19 ในพื้นที่ที่พบการแพร่ระบาด จำเป็นต้องปฏิบัติการมากขึ้นอย่างก้าวกระโดดตามการแพร่ระบาดของโรค ซึ่งการฉีดพ่นทั้งภายในและบริเวณโดยรอบอาคารสถานที่ยังต้องอาศัยคนเป็นผู้ปฏิบัติงาน อาจจะเสี่ยงต่อผู้ปฏิบัติงาน ทั้งต้องสวมชุดป้องกันพิเศษ ซึ่งภายในไม่มีการถ่ายเทอากาศ ผู้สวมใส่จะรู้สึกร้อน ผู้ปฏิบัติงานจะเหนื่อยล้าทั้งจากความร้อนและจากการสะพายอุปกรณ์พ่นยาที่มีน้ำหนักรวม 20-30 กิโลกรัม ทำให้การปฏิบัติงานได้ในระยะเวลาจำกัด และชุดป้องกันพิเศษยังใช้ได้ครั้งเดียวทำให้เกิดการสิ้นเปลืองอีกทั้งชุดป้องกันพิเศษยังหายากและ มีราคาแพงอีกด้วย
อ.ปัญญา หัวหน้าทีมคณะออกแบบและพัฒนาหุ่นยนต์ฉีดพ่นฆ่าเชื้อโรค เปิดเผยว่า เห็นปัญหาดังกล่าวจึงได้นำประสบการณ์และความรู้ของทีมงานด้านการสร้างหุ่นยนต์ฉีดพ่นสารเพื่อการเกษตร มาประยุกต์ใช้งานเพื่อสร้างหุ่นยนต์ฉีดพ่นฆ่าเชื้อโรคที่มีความจำเป็นเร่งด่วนในสถานการณ์ปัจจุบัน และได้เผยแพร่แนวความคิด เทคนิคต่างๆ ในการออกแบบ การประยุกต์ ใช้งานอุปกรณ์ และการสร้างหุ่นยนต์ฉีดพ่นฆ่าเชื้อโรค ให้แก่ผู้สนใจทุกภาคส่วนเพื่อการพัฒนาต่อยอดและผลิตเพื่อให้เกิดประสิทธิผลในการควบคุมเชื้อ COVID-19 ให้ทันต่อสถานการณ์การแพร่ระบาด
การออกแบบหุ่นยนต์ฉีดพ่นฆ่าเชื้อโรคตัวนี้ จะเน้นการใช้งานภายในอาคารที่เป็นพื้นที่สาธารณะภายใน และบริเวณโดยรอบอาคาร เช่น สำนักงาน ห้างสรรพสินค้า ศูนย์อาหาร ตลาดสด สถานที่กักกันเฝ้าระวังผู้ติดเชื้อ การควบคุมหุ่นยนต์จะถูกสั่งงานจากรีโมทควบคุมระยะไกล ให้สามารถฉีดพ่นได้อย่างรวดเร็ว และลดความเสี่ยงต่อผู้ปฏิบัติงาน มีขนาดกะทัดรัดสามารถเข้าประตูที่มีความกว้าง 80 เซนติเมตรขึ้นไป สามารถปีนพื้นต่างระดับความสูงไม่เกิน 5 เซนติเมตร สามารถขึ้นทางลาดชันสูงสุด 20% สามารถวิ่งบนพื้นผิวขรุขระและไม่ได้ระดับได้เป็นอย่างดีด้วย โดยขับเคลื่อนด้วยล้อยางใหญ่คู่ซ้ายขวาหมุนอิสระ ด้วยมอเตอร์ไฟฟ้ากระแสตรง 24V 500W ส่งกำลังผ่าน WORM GEAR ไปยังล้อ ให้อัตราทดสูงน้ำหนักเบา กะทัดรัดไม่ต้องดูแลรักษา
บังคับเลี้ยวด้วยการปรับความเร็วมอเตอร์สองข้างให้ไม่เท่ากัน สามารถหมุนกลับตัวได้โดยใช้รัศมีวงเลี้ยวไม่เกิน 50-60 เซนติเมตร ล้อหน้าเป็นล้อ CASTER ขนาดใหญ่ ยึดกับคานกระจายน้ำหนัก ทำให้สามารถกระจายน้ำหนักลงพื้นผิวที่ขรุขระได้ดี ในการทำงานของหุ่นยนต์ใช้ระบบการควบคุมใช้รีโมทระยะไกลสำหรับพื้นที่โล่งไม่ต่ำกว่า 500 เมตร และไม่ต่ำกว่า 50 เมตรในอาคารที่มีสิ่งกีดขวางสัญญาณ หุ่นยนต์ฉีดพ่นฆ่าเชื้อ จะควบคุมผ่านกล้องวงจรปิดไร้สายดูภาพผ่านหน้าจอโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือจอภาพขนาดเล็กได้
ระบบการฉีดพ่นใช้เครื่องพ่นยาสะพายหลังระบบปั๊มคู่แรงดันสูง 14 บาร์ อัตราการไหลสูงสุด 5.5 ลิตรต่อนาที ความจุถังน้ำยา 25 ลิตร สามารถฉีดพ่นได้เป็นฝอยมีรัศมีการฉีดพ่นกว่า 1.5 เมตร เสาฉีดพ่นแยกซีกซ้ายขวาสามารถส่ายไปมาเพื่อให้น้ำยากระจายตัวทั่วถึง ติดตั้งหัวฉีด 3 หัว ฉีดพ่นน้ำยาเป็นรูปพัดจากพื้นจนถึงความสูง 2.5 เมตร หุ่นยนต์สามารถติดตั้งเครื่องพ่นยาสะพายหลัง 2 ตัว ทำให้สามารถทำงานได้เร็วเป็น 2 เท่า เมื่อเทียบกับผู้ปฏิบัติงาน 1 คน และสามารถถอดเครื่องพ่นยาออกไปใช้งานได้ทันทีในกรณีที่จำเป็นต้องทำงานในพื้นที่ที่หุ่นยนต์ไม่สามารถเข้าถึงได้ ก็สามารถใช้คนฉีดพ่นแทนได้
การสร้างต้นแบบหุ่นยนต์ฉีดพ่นฆ่าเชื้อโรค สามารถสร้างต้นแบบและผลิตได้อย่างรวดเร็วใช้อุปกรณ์ที่หาได้ง่ายในท้องตลาด การผลิตใช้เครื่องไม้เครื่องมือทั่วไป ชิ้นส่วนผลิตได้โดยโรงกลึงทั่วไป ช่างที่มีประสบการณ์สามารถผลิตตามแบบได้ทันที ช่างทั่วไปสามารถฝึกอบรมแล้วผลิตได้เช่นกัน หากหน่วยงานและผู้สนใจสามารถติดต่อได้ที่ อ.ปัญญา เหล่าอนันต์ธนา โทรศัพท์ 081-927-0098
จุไร เกิดควน/ประชาสัมพันธ์ มก.