ทีม ศก.ทันสมัย ปชป. ถกมาตรการด่วนช่วยภาคเกษตร ฝ่าวิกฤตโควิด เปิดแนวคิดตั้งศูนย์แปรรูปสินค้าเกษตร 77 จังหวัด ช่วยเกษตรกรอย่างยั่งยืน หลังวิฤต พร้อมผุดไอเดียสร้างแบรนด์ “ผลไม้ไทย ปลอดภัยจากโควิด” ลุยตลาดโลก เมื่อวันที่ 14 เม.ย. ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย เปิดเผยว่า นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจทันสมัย พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการธุรกิจเกษตร (AgriBusiness) ได้เป็นประธานในการประชุมผ่านระบบ Video Conference วางมาตรการเร่งด่วนช่วยภาคเกษตร ฝ่าวิกฤตโควิด โดยมีตัวแทนจากทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมประชุมทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม อาทิ นายฉันทานนท์ วรรณเขจร ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายปริญญา พรศิริชัยวัฒนา ประธานคณะทำงานเกษตรอินทรีย์ ดร.ฐิตารีย์ ไตรสรณปัญญา คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ จากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ในปัจจุบันที่ได้ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรโดยทั่วไป นายปริญญ์ จึงได้มีแนวคิดที่จะหาทางช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรอย่างเร่งด่วน เพื่อให้สอดรับกับนโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภายใต้แนวคิด “จัดตั้งและเริ่มเดิน” (Setup &Startup) โดยนายปริญญ์ กล่าวว่า แนวทางการแก้ปัญหาต้องการสร้างโมเดลที่จะนำไปสู่ความยั่งยืน ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยการบูรณาการจากทุกภาคส่วน และต้องแบ่งมาตรการเป็นทั้งระยะสั้น และระยะยาว ในที่ประชุมได้มีข้อเสนอที่ถือเป็นมาตรการระยะสั้น โดยต้องพิจารณาถึงข้อมูลตัวเลขปริมาณผลผลิตเพื่อให้ทราบถึงดีมานด์และซัพพลายที่แท้จริง ของผลไม้ในประเทศ ที่กำลังจะออกมาในรอบฤดูถัดไป เพื่อเตรียมวางแผนการขาย ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ปัจจุบันสัดส่วนการบริโภคผลไม้มีสัดส่วนในประเทศ 40% ต่างประเทศ 60% การแก้ปัญหาสินค้าเกษตรล้นตลาด จึงต้องเน้นให้เกิดการบริโภคให้เพิ่มขึ้นไปจากเดิม สำหรับการขายในต่างประเทศ สามารถประกาศตัวได้เลยว่าประเทศไทยพร้อมเป็นครัวของโลกในยามวิกฤต และมุ่งเน้นไปยังประเทศเป้าหมาย เช่น จีน เกาหลี ฮ่องกง ในเบื้องต้นก่อน ที่เริ่มฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด และเริ่มมีดีมานด์ เช่นเดียวกันกับในหลายประเทศทั่วโลกที่เริ่มมีภาวะขาดแคลนอาหาร พร้อมใส่สัญลักษณ์ “ผลไม้ไทย ปลอดภัยจากโควิด” และประชาสัมพันธ์ออกไปในวงกว้าง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค ในขณะเดียวกันรัฐจะเข้ามาช่วยเรื่องการหาช่องทางการตลาด (Market Place) การดูแลเรื่องการขนส่ง กระจายสินค้าที่เป็นปัญหาในปัจจุบันที่ไม่สามารถขนส่งข้ามพื้นที่ได้ ในต่างประเทศอาจเชื่อมโยงกับการบินไทย ส่งสินค้าผ่านคาร์โกทดแทนการขนส่งผู้โดยสารที่ไม่สามารถทำได้ในปัจจุบัน และหาภาคีเครือข่ายต่าง ๆ มาช่วยในการช่วยกระจายสินค้า ส่วนตลาดในประเทศให้ใช้ช่องทางทั้งในส่วนออนไลน์และ Traditional เช่นรถกระจายสินค้าที่สามารถส่งตรงถึงหน้าบ้านได้ “ในวิกฤตมีโอกาส ปัจจุบันนอกจากแพลตฟอร์มของภาคเอกชนแล้วยังมีแพลตฟอร์มกลางของภาครัฐที่มีศักยภาพ ที่เกิดจากความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน อาทิ กรมส่งเสริมสหกรณ์ และ DEPA ซึ่งสามารถนำมาเป็นเครือข่ายในการสนับสนุนการนำสินค้าเกษตรที่เป็นผลไม้ เข้าไปจำหน่ายผ่านช่องทางนี้ได้ทันที ทางทีมฯ พร้อมจะเป็นโซ่กลางในการเชื่อมโยงในการคัดสรรและรวบรวมสินค้าจากเกษตรกรผ่านสหกรณ์การเกษตร มาจำหน่าย โดยเฉพาะกับภาคเอกชนที่มีความแข็งแกร่ง อาทิ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ที่สามารถช่วยกระจายสินค้าไปยังที่พักอาศัยต่าง ๆ ที่อยู่ภายใต้การดูแล รวมถึงมีแนวคิดในการที่จะจัดการแข่งขัน (Fruit Festival) เพื่อส่งเสริมการขาย จากแพลตฟอร์มต่าง ๆ ช่วยกระตุ้นยอดขายอีกด้วย”นายปริญญ์ กล่าว นายปริญญ์ กล่าวอีกว่า บทบาทการทำงานของคณะกรรมการธุรกิจเกษตร จะทำงานโดยเน้นให้เอกชนที่มีศักยภาพเข้ามามีบทบาทสำคัญ โดยรัฐจะทำหน้าที่เป็นผู้สนับสนุน และจะขับเคลื่อนแบบสอดรับกับแนวทางการทำงานของศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (Agritech and Innovation : A.I.C) ของกระทรวงเกษตรฯ ที่จะมีครบทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ เกษตรกร เป็นหัวใจสำคัญของประเทศ การสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรจะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ สำหรับมาตรการระยะกลาง และระยะยาว คงหนีไม่พ้นการแปรรูปทั้งในส่วนของการบริโภคเพื่อกินและเพื่อใช้ มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ มาใช้ การสร้างมาตรฐานสินค้า เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและลดปัญหาเรื่องผลผลิตล้นตลาด โดยอาจมุ่งเน้นไปยังกลุ่มสินค้าที่ตอบรับกับเทรนด์ของผู้บริโภค เช่นเรื่องสุขภาพ ความงาม สังคมสูงอายุ เพราะจะช่วยแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน ทางทีมจึงมีแนวคิดที่จะจัดตั้งศูนย์แปรรูปสินค้าเกษตรให้ครบทั้ง 77 จังหวัด เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรอย่างยั่งยืน หลังวิฤตคลี่คลาย