​วันที่ 13 เม.ย.63 พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เป็นประธานการประชุมกองอำนวยการน้ำแห่งชาติผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมอุตุนิยมวิทยา กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กองทัพบก หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กรมทรัพยากรน้ำ การประปาภูมิภาค การประปานครหลวง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พลเอกประวิตร กล่าว่าการประชุมวันนี้เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำและความคืบหน้าในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ต่าง ๆ ในการบรรเทาและแก้ไขปัญหาผลกระทบจากสถานการณ์น้ำแล้ง อาทิ ลุ่มเจ้าพระยา และเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC รวมถึงเน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานเร่งรัดดำเนินการโครงการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการขาดแคลน้ำปี 2562/63 และโครงการเร่งด่วนเพื่อการกักเก็บน้ำในฤดูฝน ปี 2563 ในส่วนที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณแล้วโดยเร่งด่วนให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อลดผลกระทบให้กับประชาชนในพื้นที่เฝ้าระวังการขาดแคลนน้ำ โดยเฉพาะน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค และน้ำเพื่อการเกษตรต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาหรือผลกระทบมาซ้ำเติมกับพี่น้องประชาชนในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ขณะนี้ และหารือถึงแผนบริหารจัดการน้ำในภาวะวิกฤติในส่วนภาคตะวันออก ซึ่งนายกรัฐมนตรีมีความเป็นห่วงและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยล่าสุดพบว่า หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน ได้ประสานความร่วมมือเร่งรัดดำเนินการเชื่อมโยงเครือข่ายน้ำตามมติที่ประชุมกองอำนวยการน้ำแห่งชาติที่ได้มีการกำหนดมาตรการรับมือล่วงหน้า เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล และอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ที่ประสบปัญหาน้ำในอ่างฯ น้อย ซึ่งจะช่วยทำให้สถานการณ์น้ำจังหวัดระยองและ EEC ดีขึ้น แต่เพื่อความไม่ประมาทได้เน้นย้ำให้กรมชลประทานและบริษัทอีสวอเตอร์ การประปาภูมิภาคประเมินปริมาณน้ำต้นทุน พร้อมเตรียมมาตราการจัดหาแหล่งน้ำสำรองเพิ่มขึ้นด้วย รองรับภาวะเสี่ยงขาดแคลน้ำกรณีไม่มีฝนตกถึงเดือน มิ.ย.63 โดยเร็ว รวมถึงให้การนิคมอุตสาหกรรมเป็นเจ้าภาพหลัก ในติดตามการใช้น้ำภาคอุตสาหกรรม โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายงานผลการปฏิบัติงานทุกวันพุธให้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติเพื่อใช้ในการติดตามการบริหารจัดการน้ำ พลเอก ประวิตร กล่าวอีกว่า ได้สั่งการให้กรมส่งเสริมการเกษตรกำหนดพื้นที่เพาะปลูกพืชฤดูฝน ปี 2563 แล้วส่งให้กรมชลประทาน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจัดทำแผนการจัดสรรน้ำฤดูฝนให้สอดคล้องกัน ขณะเดียวกัน มอบหมายให้กรมชลประทาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เร่งจัดทำแผนปฏิบัติการรองรับสถานการณ์น้ำเพื่อส่งให้ สทนช.รวบรวมสรุปแผนเสนอต่อคณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และ คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เห็นชอบภายใน 20 เมษายนนี้ พร้อมแจ้งกระทรวงมหาดไทยรับทราบและแจ้งผู้ราชการจังหวัดประชาสัมพันธ์ให้ทุกภาคส่วนรับทราบ ​ทั้งนี้ นอกจากการเร่งดำเนินการบรรเทาและแก้ไขปัญหาผลกระทบจากน้ำแล้งแล้ว ที่ประชุมยังหารือถึงแผนเตรียมการรับมือฤดูฝนที่จะถึงนี้ไปพร้อมกันด้วย โดยเฉพาะปัญหาสิ่งกีดขวางทางน้ำที่จะเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการระบายน้ำและอาจส่งผลให้เกิดปัญหาท่วมขังได้นั้น ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาสิ่งกีดขวางทางน้ำที่ยังไม่ได้ดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว โดยมอบหมายให้สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ จิสด้า ใช้ดาวเทียมติดตามสำรวจลำน้ำที่มีวัชพืชและผักตบชวาในลำน้ำต่าง ๆ และรายงานให้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติทราบเพื่อใช้สำหรับวางแผน และแจ้งให้กรมโยธาธิการและผังเมืองร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการกำจัดวัชพืชให้ทันฤดูน้ำหลาก ปี 2563 ซึ่งในที่ประชุมได้มอบหมายให้กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งตรวจสอบและซ่อมแซมสภาพอาคารชลศาสตร์ ระบบระบายน้ำ และสถานีโทรมาตร ให้พร้อมใช้งานในฤดูฝนนี้ ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมรับทราบความก้าวหน้าโครงการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง ปี 2562/63 ซึ่งปัจจุบันกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เริ่มดำเนินการแล้ว 348 แห่ง จากแผนงาน 704 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 49.43 กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) เสนอขอ และได้รับจัดสรรงบประมาณแล้ว จำนวน 550 แห่ง อยู่ระหว่างเร่งรัดดำเนินการ จากแผนงาน 888 แห่ง กองทัพบก เริ่มดำเนินการแล้ว 168 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 83.16 จากแผนงาน 209 แห่ง หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา อยู่ระหว่างการพิจารณาจัดสรรงบประมาณ 181 แห่ง จากแผนงาน 190 แห่ง และไม่สามารถดำเนินการได้ 9 แห่ง การประปาส่วนภูมิภาค ดำเนินการแล้วเสร็จทั้งหมด 50 ตามแผนงานคิดเป็น 100% ซึ่งโครงการที่แล้วเสร็จดังกล่าวข้างต้น ส่งผลให้ได้ปริมาณน้ำบาดาล 113 ล้าน ลบ.ม.ประชาชนได้รับประโยชน์จากน้ำบาดาล 96,153 ครัวเรือน ผู้ใช้น้ำประปารับประโยชน์ 183,192 ราย มีน้ำสำรองประปา 700,000 ลบ.ม. ซึ่ง กอนช. จะมีการติดตามความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคมนี้ ก่อนที่ฝนจะมาอีกด้วย