"บิ๊กตู่" ไม่พัก! ลุยแก้ปัญหา "ไวรัสโควิด-19"ระบาด ขอทุกคนเข้มงวดดูแลตัวเอง-อย่าละเลย ก่อนรุดเยี่ยม "State Quarantine-ด่านตรวจ" ทักทายปชช. ด้าน "ศบค."ชื่นใจยอดฝ่าด่านเคอร์ฟิวลดลง ย้ำห้ามเล่นน้ำสงกรานต์ทั้งใน-นอกบ้าน หวั่นทำเชื้อแพร่กระจายระยะไกล-ติดหลายคน ระบุ "สธ."ขีดเส้น 7 วันอันตรายโควิด "สมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้าน" หวั่นกำนัน-ผญบ.กว่า 2.9 แสนราย เสี่ยงติดเชื้อไวรัสมรณะ ออกแถลงการณ์วิธีเซฟตัวเอง หลังนายกฯ จัดงบซื้ออุปกรณ์ยังเงียบ ด้าน "ปชป."ชงรัฐบาลเร่งเยียวยาปชช.อีก 3 กลุ่ม พร้อมจ่ายตรงเข้าบัญชี "เพื่อไทย"ติงรบ. เยียวยาเหยื่อ "โควิด-19" ยึดการตลาดนำการเมืองส่วน "ดุสิตโพล" เผย87.6 8% ปชช.กังวลวิธีแก้ปัญหาของรัฐบาล
ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 12 เม.ย.63 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19 ) หรือศบค. เข้าปฏิบัติหน้าที่ ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อติดตามงานและสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 โดยนายกฯ กล่าวถึงการออกข้อกำหนดตามพ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และการขอความร่วมมือประชาชนให้งดกิจกรรมประเพณีสงกรานต์ ว่า ขอบคุณประชาชนที่ให้ความร่วมมือกัน ช่วยเหลือกันอย่างดีไม่ทำอะไรที่จะส่งผลให้เกิดการแพร่ระบาดไปสู่กลุ่มต่างๆ ซึ่งสถิติการอยู่บ้านเป็นที่น่าพอใจ รวมไปถึงการปฏิบัติตัวภายในบ้านที่มีเด็กและผู้สูงอายุ หลายครอบครัวได้มีแนวทางแสดงความเคารพผู้สูงอายุแทนการรดน้ำดำหัว ในรูปแบบที่ปลอดภัย สามารถแสดงความรักความห่วงใยไดอย่างเหมาะสมกับสถานการณ์
นายกฯ กล่าวว่า ที่สำคัญคือเจ้าหน้าที่ ทหาร ตำรวจ พลเรือน และบุคลากรแพทย์และสาธารณสุข ที่ระดมสรรพกำลังร่วมกันปฏิบัติหน้าที่อย่างสุดกำลัง แม้เหน็ดเหนื่อย ก็ไม่ย่อท้อ เพื่อให้พี่น้องประชาชนปลอดภัยทั้งจากเชื้อโควิด และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินอื่นๆด้วย ในช่วงเวลานี้ หากเราละเลย ไม่รวมใจกันทำหน้าที่ของตัวเอง ตามแนวปฏิบัติ ข้อกำหนดและมาตรการ อย่างเข้มข้น เราจะกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้ยากขึ้น และอาจไม่สามารถกลับมาดำรงชีวิตตามปกติอีกได้ ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ทุกคนทุ่มเท ไม่เหน็ดเหนื่อย ไม่ย่อท้อ เพื่อรักษาทุกชีวิต และเป็นเหมือนการ์ดดูแลชีวิตพวกเราจากโรคร้ายนี้ จะสูญเปล่าในทันที จึงขอให้ประชาชนช่วยกันเข้มข้นแบบนี้ไปก่อน ความปลอดภัยของสุขภาพทุกคนขึ้นอยู่กับความร่วมมือและการปฏิบัติตนของทุกคน
นายกฯ กล่าวว่า จากการเดินทางไปตรวจเยี่ยมสถานที่ State Quarantine หรือสถานที่กักกันตัวของรัฐ และออกตรวจการทำงานของด่านตรวจในช่วงเวลาเคอร์ฟิว ต้องขอขอบคุณทุกคนที่ให้ความร่วมมือ และรับทราบข้อติดขัด และความต้องการของทั้งประชาชนและเจ้าหน้าที่ ซึ่งจะนำไปหารือเพื่อแก้ไขโดยทันที เช่น การขออยู่ห้องละ 1 คน ของผู้ที่ต้องกักกันสอบสวนโรค ที่ได้นำไปสู่การแก้ไขในบางสถานที่ได้แล้ว การย้ำให้เจ้าหน้าที่เข้มงวดตรวจตราในช่วงเคอร์ฟิว ก็เช่นกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงบ่ายภายหลังนายกฯ เสร็จสิ้นภารกิจที่ทำเนียบฯ ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมการทำงานของเจ้าหน้าที่ ที่ State Quarantine ที่โรงแรมอิลีแกนท์ แอร์พอร์ต โฮเทล (Elegant Airport Hotel) ย่านประเวศ กรุงเทพฯ โดยได้สอบถามการดำเนินงานจากเจ้าหน้าที่โรงแรมและเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ยังมีห้องเหลือไว้รอบรับผู้เข้าพักอยู่ ไม่มีปัญหาติดขัดอะไรทุกคนให้ความร่วมมืออย่างดี
จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ เดินทางไปตรวจเยี่ยมด่านตรวจคัดกรองของสถานีตำรวจนครบาลอุดมสุข เพื่อให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานอย่างเข้มข้น และย้ำให้ยึดตามมาตรการต่างๆอย่างเข้มงวด พร้อมกันนี้นายกฯได้ทักทายประชาชนและทดลองตรวจวัดไข้ผู้ที่สัญจรผ่านด่านตรวจด้วยตัวเอง เมื่อเจ้าหน้าที่รายงานว่าประชาชนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีพล.อ.ประยุทธ์จึงกล่าวว่า "น่ารักจะตายไปคนไทย"
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างที่นายกฯ ตรวจเยี่ยมด่านตรวจคักกรองอยู่นั้น ได้มีประชาชนลดกระจกรถยนต์ พร้อมกับตะโกนให้กำลังใจนายกฯ โดย พล.อ.ประยุทธ์ ได้ตอบกลับไปว่า "แต้งกิ้ว"
ต่อมา เมื่อเวลา 11.30 น. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาด ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค.แถลงว่า กล่าวถึงมาตรการ การประกาศเคอร์ฟิว เพื่อควบ คุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19ว่า วันนี้ได้ข้อมูลที่ชื่นใจ โดยมีการออกจากเคหะสถาน ที่ละเมิดข้อตกลง 926 คน ลดลงจากเมื่อวันที่ 11เม.ย.ที่ผ่านมา 139 คน ซึ่งต้องขอบคุณ ที่ให้ความร่วมมือ
นพ.ทวีศิลป์ ยังกล่าวย้ำถึงการปฏิบัติตนของประชาชนในช่วงสงกรานต์ว่า ขอเตือนประชาชนว่าในช่วงสง กรานต์นี้ ห้ามรดน้ำ หรือเล่นน้ำ ทั้งข้างนอก และในบ้านตัวเอง ต้องบอกว่าอย่าทำเลย เพราะอาจจะนำพาเชื้อโรค ที่อยู่จากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่งได้ และระหว่างที่เล่นน้ำ อาจจะมีละอองเชื้อโรคที่มีการพ่นน้ำพุ่งไปไกลกว่า 2 เมตร กระจายไปยังคนอื่นได้ในระยะไกล และหลายคนมากขึ้น
ผู้สื่อข่าวถามว่า ประชาชนสงสัยว่าในวันที่ 13 เม.ย.เป็นวันสงกรานต์ สามารถทำอะไรหรือห้ามทำอะไร นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ได้ฝากประชาสัมพันธ์มาว่า การรดน้ำของพรผู้ใหญ่ การเล่นน้ำไม่ว่าจะกี่คน รวมถึงการเล่นน้ำในบ้านก็ไม่สามารถทำได้เลย เพราะการเล่นน้ำอาจนำพาเชื้อโรคจากคนหนึ่งไปสู่คนหนึ่งได้ สำหรับ 7 วันอันตราย ที่เคยนับเป็นเรื่องอุบัติเหตุ ทางกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ก็ได้ขีดเส้นตาย 7 วันอันตรายของการระบาดของโควิด-19 ด้วยเหมือนกัน
ด้าน นายยงยศ แก้วเขียว นายกสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้านแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สมาคมฯได้ออกแถลงการณ์แจ้งแนวทางการปฏิบัติหน้าที่ของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน กว่า 2.9 แสนรายทั่วประเทศ ในฐานะเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)โรคติดต่อ 2558 เนื่องจากมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยกำนัน ผู้ใหญ่บ้านฯมีหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน และในสถานการณ์นี้ เชื่อว่าประเทศไทยยังมีความหวังกับการทำหน้าที่ของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน (ผญบ.) ในการเฝ้าระวัง และป้องกันการแพร่ระบาด
"พวกเราทุกคนทำหน้าที่โดยไม่มีงบประมาณสนับสนุน ไม่มีการสนับสนุนอุปกรณ์ป้องกัน ในการทำหน้าที่ค้นหา เฝ้าระวังคนในพื้นที่ชุมชน หมู่บ้าน ตำบล ที่มีความเสี่ยงกับการติดเชื้อโรคโควิด 19 และติดตามเฝ้าสังเกตอาการของบุคคลในชุมชน หมู่บ้าน ตำบล ที่เข้าข่ายเป็นบุคคลกลุ่มเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดแจ้งชื่อผู้ที่ต้องถูกกักตัว รายงานข้อมูลให้อำเภอทราบ การดูแลสังคมส่วนรวมในเขตท้องที่หมู่บ้าน ตำบล ให้เกิดความสงบเรียบร้อย รวมถึงการบังคับใช้กฎหมาย เนื่องจากกำนัน ผู้ใหญ่บ้านฯที่มีความใกล้ชิด ความน่าเชื่อถือ เป็นที่พึ่งพิงให้กับพี่น้องประชาชนมาโดยตลอด ที่ผ่านมาเมื่อวันที่ 26 มี.ค.ได้ทำหนังสือถึงนายกฯ เพื่อของบสนับสนุนการทำหน้าที่แล้ว แต่ยังไม่มีความคืบหน้า"
นายยงยศ กล่าวว่า เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่มีประสิทธิภาพ ขอให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้านฯปฏิบัติดังต่อไปนี้อย่างเคร่งครัด 1.ให้จัดหาอุปกรณ์เท่าที่หาได้ เช่น หน้ากากอนามัย ชุดป้องกันตนเองซึ่งอาจเป็นเสื้อกันฝน ถุงมือยาง เจลล้างมือ เพื่อใช้ป้องกันตนเอง 2. ทำความเข้าใจกับผู้ร่วมงานถึงวิธีการ แนวทางการเฝ้าระวังการระบาดของโรค วิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการกักตัวของบุคคลที่เดินทางมาจากสถานที่ที่มีการระบาดของโรค การสร้างความปลอดภัยให้กับตนเอง 3.ทำความเข้าใจกับครอบครัวของผู้มีความเสี่ยงจากโรคโควิด 19 ทั้งผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ หรือต่างจังหวัด วิธีการกักตัว วิธีปฏิบัติของบุคคลในครอบครัวเมื่อมีผู้ที่เดินทางมาจากสถานที่ที่มีการระบาดของโรคมาพำนักอาศัยในบ้าน 4. การทำหน้าที่ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ห้ามผู้เดินทางในเวลา 22.00-04.00 น. ให้ระมัดระวังเรื่องในการแสดงท่าทีกับประชาชน
5.ให้จัดเตรียมอุปกรณ์การถ่ายภาพ ซึ่งอาจจะเป็นโทรศัพท์ หรืออาจเลือกใช้พื้นที่ที่มีกล้องวงจรปิด ในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ให้มีการบันทึกภาพทั้งภาพนิ่งและวีดีโอทุกครั้งที่มีการออกปฏิบัติหน้าที่ และ6.การปฏิบัติหน้าที่ของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ต้องถ่ายสำเนาคำสั่งที่นายอำเภอหรือส่วนราชการ มีคำสั่งให้ปฏิบัติหน้าที่ และในขณะปฏิบัติหน้าที่ควรมีการ ไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊ก ถ่ายคลิป หรือถ่ายรูปส่งในกลุ่มไลน์เพื่อรายงานผลการปฏิบัติหน้าที่
ด้าน นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงโครงการ "เราไม่ทิ้งกัน" เพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ของรัฐบาล ว่า ถ้าดูตัวเลขจากผู้ลงทะเบียนทั้งหมด 25 ล้านคน ทางกระทรวงการคลังคัดกรองและแยกแยะออกเป็นแต่ละประเภทตามคุณสมบัติที่กำหนดไว้ให้เหลือเพียง 9 ล้านคน แม้ว่าได้กำหนดประเภทอาชีพผู้ได้รับการเยียวยาที่ชัดเจนแล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีอีกหลายอาชีพที่ตกหล่น ไม่เข้าเงื่อนไข แต่ได้รับผลกระทบ เช่น กลุ่มคนขับสามล้อ กลุ่มดารานักแสดง กลุ่มศิลปินพื้นบ้าน กลุ่มกำนันผู้ใหญ่บ้าน กลุ่ม อสม.กลุ่มพระภิกษุสงฆ์ และกลุ่มอื่นๆอีกหลายกลุ่ม จึงทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ถึงความไม่เท่าเทียมกันเกิดขึ้น เหมือนกับรัฐบาลเลือกปฎิบัติต่อคนไทยในบางอาชีพ คนที่ถูกคัดกรองออกอีกจำนวน 16 ล้านคน ย่อมเกิดความไม่พอใจรัฐบาลอย่างแน่นอน จึงทำให้มีการออกมาเรียกร้องทวงถามความเป็นธรรมอย่างไม่มีที่สิ้นสุด กระทรวงการคลังก็ไม่สามารถที่จะให้คำตอบ และอธิบายเหตุผลให้เป็นที่พอใจได้ เพื่อเป็นการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและเลือกปฏิบัติกับกลุ่มอาชีพบางอาชีพ
นายเทพไท กล่าวว่า จึงอยากเสนอแนวทางแก้ปัญหาให้กับรัฐบาล โดยไม่เลือกสาขาอาชีพ แต่จะเน้นถึงผู้ได้รับความเดือดร้อน ที่ไม่มีอันจะกิน ไม่มีเงินเก็บ ไม่มีเงินใช้จ่ายในชีวิตประจำวันิเดือนละ 5000 บาท เป็นเวลา 3-6 เดือน ซึ่งจะใช้วงเงินงบประมาณใกล้เคียงกัน โดยมีการกำหนดคุณสมบัติดังนี้1.เป็นคนไทยอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปซึ่งโตพอที่จะต้องรับผิดชอบตัวเองได้ และต้องหารายได้เลี้ยงชีพด้วยตัวเอง 2.เป็นคนไทยที่มีบัญชีเงินฝากในธนาคารต่างๆ รวมยอดเงินทุกบัญชีมีเงินไม่เกิน 100,000 บาท ซึ่งถือว่าเป็นผู้มีเงินเก็บไม่มากพอ ที่จะดำรงชีพอยู่ได้ในเวลา 6 เดือน3.เป็นคนไทยที่ไม่มีบัญชีเงินฝากกับธนาคารใดๆทั้งสิ้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเป็นคนที่ไม่มีเงินเก็บ สำหรับการเลี้ยงชีพ และไม่มีรายได้เหลือพอที่จะฝากเงินกับธนาคารได้ถ้าหากว่ารัฐบาลใช้หลักเกณฑ์และใครมีคุณสมบัติตามเงื่อนไขนี้ ก็สามารถโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของผู้นั้นได้ทันที ไม่ต้องมาวุ่นวายกับการคัดกรองคุณสมบัติกันให้เสียเวลาของราชการ
ส่วน นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงมาตรการจ่ายเงินเยียวยาให้กับผู้ที่เดือดร้อนจากปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อาจไม่ทั่วถึงประชาชนทุกกลุ่ม ว่า การช่วยเหลือเยียวยาของรัฐบาลออกมาล่าช้า ไม่สามารถเข้าไปช่วยเหลือประชาชนผู้ได้รับผลกระทบอย่างทันท่วงที มาตรการที่ออกมามีลักษณะแบบการตลาดนำการเมือง พยายามสื่อสารให้เห็นว่ามีคนจำนวนมากต้องการเข้าถึงการช่วยเหลือจากรัฐบาล ทุกอย่างต้องเริ่มต้นที่การลงทะเบียน กรอกข้อมูล จนไม่รู้ว่า ระหว่างเทคนิคการกรอกข้อมูลให้ AI อนุมัติ กับความเดือดร้อนจริงของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อันไหนจะเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ได้รับการอนุมัติเงินเยียวยา 5,000 บาทมากกว่ากัน ขนาดเน็ตฟรี ยังต้องกรอกหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก ทั้งที่ทุกค่ายโทรศัพท์มือถือเขาก็มีข้อมูลครบทั้ง ชื่อ บัตรประชาชน เบอร์โทร แต่ก็ยังต้องลงทะเบียนตรวจสอบสิทธิ์ จนประชาชนหลอนไปหมดแล้วว่ารัฐบาลจะเอาข้อมูลของประชาชนไปทำอะไร จะออกแบบการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนให้ซับซ้อนไปเพื่ออะไร ออกแบบให้คนจำนวนมากๆไปลงทะเบียนให้ระบบล่มทำไม
"ก่อนหน้านี้โฆษณาว่าเป็นไทยแลนด์ 4.0 พอโควิด-19มา เหลือแค่ไทยแลนด์ 0.4 ถ้าใช้ AI นำ แล้วละทิ้งความเข้าใจ ประชาชนเสียโอกาส เข้าไม่ถึงการเยียวยา จนถูกทิ้งไว้ข้างหลัง การเยียวยาต้องครอบคลุม ทั่วถึง ไม่สร้างเงื่อนไขเพิ่มเติมไม่รู้จบ ไม่เลือกเยียวยากลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นการเฉพาะ เพราะประชาชนล้วนได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า" นายอนุสรณ์ กล่าว
ขณะที่ สวนดุสิตโพล จากมหาวิทยาลัยสวนดุสิต เผยแพร่ผลสำรวจเกี่ยวกับความวิตกกังวลของคนไทย ต่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยพบว่า 51.35% ประชาชนส่วนใหญ่วิตกกังวล เมื่อถามถึงเรื่องที่ประชา ชนวิตกกังวลมากที่สุด พบว่า 87.68% กังวลเรื่องการแก้ปัญหา ของรัฐบาล 86.71% เรื่องการทำงาน ของบุคลากรทางการแพทย์ 85.11% เรื่องการติดเชื้อ 78.75% เรื่องรายได้ 77.14% เรื่องค่าใช้จ่าย ในแต่ละวัน เมื่อถามถึงสิ่งที่ประชาชนอยากให้รัฐบาลเร่งดำเนินการพบว่า 87.10% คือเรื่องการจำกัดการระบาดให้เร็วที่สุด 71.38% เรื่องควบ คุมราคาสินค้า 68.22% เรื่องเร่งตรวจหาเชื้อในวงกว้าง 65.49% ลดค่าน้ำค่าไฟ 63.91% พักชำระหนี้ 59.80% ให้เงินช่วยเหลือ 58.25% จ่ายเงินชดเชย เป็นต้น