บุรีรัมย์ประสบปัญหาภาวะฝนทิ้งช่วง สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำทั้ง 16 แห่ง ยังน่าห่วง เหลือน้ำเพียงกว่าร้อยละ 20 ของความจุ ขณะปริมาณน้ำในอ่างลดต่ำอยู่ในเกณฑ์น่าห่วงมีถึง 6 อ่าง ด้านชลประทานวางแผนสูบผันน้ำสำรอง เพื่อไม่ให้กระทบน้ำดิบผลิตประปา พร้อมเผย 2 อ่างหลัก ที่ใช้ผลิตประปาหล่อเลี้ยงเขตเศรษฐกิจสำคัญ มีสถิติใช้น้ำเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า 12 เม.ย.63 สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ ทั้งขนาดใหญ่ และขนาดกลางที่อยู่ในความดูแลของโครงการชลประทานบุรีรัมย์ ทั้ง 16 แห่ง ขณะนี้มีปริมาณน้ำกักเก็บในอ่างเหลือเพียงกว่า 60 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้าน ลบ.ม.) หรือเฉลี่ย 20.41 เปอร์เซ็นต์ จากปริมาณความจุอ่างทั้งหมดกว่า 295.385 ล้านลูกบาศก์เมตร และจากการสำรวจพบว่า มีอ่างเก็บน้ำที่มีระดับต่ำอยู่ในเกณฑ์ที่น่าเป็นห่วง จำนวน 6 แห่ง คือ อ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก , ห้วยตลาด , หนองทะลอก , ห้วยน้อย , ห้วยใหญ่ และอ่างเก็บน้ำลำตะโคง ซึ่งหากเปรียบเทียบในช่วงเดียวกันพบว่า ปีนี้ระดับน้ำต่ำกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากในช่วง 2 ปีนี้ จังหวัดบุรีรัมย์ประสบปัญหาฝนทิ้งช่วงมานาน ส่งผลให้ไม่มีน้ำไหลเข้าอ่าง ประกอบกับปริมาณการใช้น้ำเพิ่มขึ้นตามจำนวนประชากร โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก และอ่างเก็บน้ำห้วยตลาด ซึ่งเป็นแหล่งน้ำดิบที่ใช้ในการผลิตประปา เพื่อหล่อเลี้ยงเขตเศรษฐกิจสำคัญในพื้นที่ อ.เมือง ที่มีสถิติการใช้น้ำเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าตัว แต่ขณะนี้ก็เหลือน้ำกักเก็บอยู่เพียงกว่า 6 แสนลูกบาศก์เมตร หรือเฉลี่ย 2.24 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจะต้องมีการบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอสำหรับอุปโภคบริโภค ในการผลิตประปา อย่างไรก็ตาม อยากขอความร่วมมือประชาชนให้ใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบตามมา จากสถานการณ์น้ำในอ่างที่ค่อนข้างลดต่ำในปีนี้หากเปรียบเทียบในช่วงเดียวกันกับปีที่ผ่านมา สืบเนื่องจากภาวะฝนทิ้งช่วง ทางโครงการชลประทานก็ได้มีการวางแผนในการบริการจัดการน้ำไว้แล้ว โดยหากไม่มีฝนตก หรืออิทธิพลจากพายุ ที่จะทำให้มีน้ำไหลเข้าอ่างได้เพิ่มขึ้น ก็จะต้องทำการสูบดึงน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยสวาย อ.กระสัง ระยะทางกว่า 19.5 กิโลเมตร, อ่างเก็บน้ำลำจังหัน, ลำปะเทีย อ.ละหานทราย ระยะทางกว่า 120 กิโลเมตร และจากเหมืองหินเก่าของเอกชน ระยะทาง 10.5 กิโลเมตร มาเติมสำรองไว้ในอ่าง เพื่อให้มีน้ำเพียงพอในการผลิตประปา ทั้งนี้ ยังได้เตรียมแผนในระยะยาวเพื่อรองรับปริมาณการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้นในอนาคตด้วย