เชิงสารคดี/บูรพา โชติช่วง: วันนี้นำชื่อป้อม-กำแพงเมืองพระนครเมื่อครั้งเริ่มแรกสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ ป้อมและกำแพงเมืองกรุงรัตนโกสินทร์เริ่มก่อสร้างขึ้นเป็นครั้งแรกในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พ.ศ.2326 ดังปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) ว่า พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาจักรีบรมนาท พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เกณฑ์ลาวเมืองเวียงจันทน์ 5,000 คน และมีตราให้หาผู้ว่าราชการหัวเมืองตลอดจนหัวเมืองลาวริมแม่น้ำโขงฟากตะวันตกเข้ามาพร้อมกัน แล้วแบ่งปันหน้าที่กันทั้งข้าราชการในกรุงและหัวเมือง ให้ช่วยคุมไพร่ขุดรากก่อกำแพงรอบพระนคร พร้อมกับสร้างป้อมไว้เป็นระยะห่างกัน 10 เส้นบ้าง ไม่ถึง 10 เส้นบ้าง ตามแนวคลองรอบกรุง ป้อมมหากาฬ เชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ป้อมรอบกำแพงเมืองในสมัยรัชกาลที่ 1 มีทั้งหมด 14 ป้อม ซึ่งอาจเทียบกับสถานที่ตั้งในปัจจุบันได้ดังนี้ ป้อมพระสุเมรุ ตั้งอยู่ที่มุมกำแพงพระนครด้านตะวันตกส่วนเหนือ ทางใต้ของปากคลองบางลำพู ป้อมยุคนธร อยู่เหนือวัดบวรนิเวศวิหาร ป้อมมหาปราบ อยู่ระหว่างสะพานผ่านฟ้าลีลาศกับสะพานเฉลิมวันชาติ ป้อมมหากาฬ อยู่เชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ป้อมหมูทลวง อยู่หน้าเรือนจำกลางคลองเปรมประชากร ป้อมเสือทยาน อยู่เหนือประตูสามยอด สะพานดำรงสถิต ป้อมมหาไชย อยู่ตรงบริเวณที่ตั้งธนาคารไทยธนุ ถนนมหาไชย ป้อมจักรเพชร อยู่เหนือปากคลองโอ่งอ่าง ใกล้ถนนจักรเพชร ป้อมผีเสื้อ อยู่ใต้ปากคลองตลาด ป้อมมหาฤกษ์ อยู่ตรงโรงเรียนราชินีล่าง ตรงข้ามป้อมวิไชยประสิทธิ์ ธนบุรี ป้อมมหายักษ์ อยู่ตรงกับวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ป้อมพระจันทร์ อยู่ทางด้านตะวันตกของท่าพระจันทร์ ป้อมพระอาทิตย์ อยู่สุดถนนพระอาทิตย์ ป้อมอิสินธร อยู่ระหว่างป้อมพระอาทิตย์และป้อมพระสุเมรุ ป้อมพระสุเมรุ ด้านใต้ปากคลองบางลำพู บริเวณระหว่างป้อมกับกำแพงพระนครมีประตูเมือง แบ่งตามลักษณะได้ 2 ประเภท คือ ประตูยอด และประตูช่องกุด ประตูยอดในสมัยรัชกาลที่ 1 เป็นประตูยอดมณฑปเครื่องไม้ ทาสีดินแดง ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 ทรงเปลี่ยนเป็นประตูหอรบ ในสมัยรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขยายเขตพระนครออกไปอีกและขุดคูพระนครชั้นนอก หรือคลองผดุงกรุงเกษมขึ้นในพ.ศ.2394 เมื่อขุดคลองเสร็จเรียบร้อยแล้วโปรดให้สร้างป้อมเรียงรายไปตามแนวคลองตั้งแต่ พ.ศ.2395 ป้อมที่สร้างขึ้นนี้เป็นป้อมโดดไม่มีกำแพงเมือง แต่เมื่อมีสงครามก็สามารถชักปีกกาถึงกันได้ ป้อมที่โปรดให้สร้างขึ้นสมัยรัชกาลที่ 4 มีดังนี้ ป้อมปัจจามิตร ตั้งอยู่ทางฝั่งธนบุรีตรงข้ามกับปากคลองผดุงกรุงเกษม ป้อมป้องปิดปัจจนึก อยู่บริเวณฝั่งตะวันออก ริมปากคลองผดุงกรุงเกษมข้างใต้ ป้อมฮึกเหี้ยมหาญ เป็นป้อมเล็กสำหรับยิงสลุต ป้อมผลาญไพรีราบ อยู่ตรงบริเวณตลาดหัวลำโพง ป้อมปราบศัตรูพ่าย อยู่ใกล้สะพานนพวงศ์ ป้อมทำลายปรปักษ์ อยู่ตรงมุมถนนหลานหลวง เชิงสะพานจตุรภักตร์รังสฤษดิ์ ป้อมหักกำลังดัสกร อยู่ตรงถนนราชดำเนิน ป้อมมหานครรักษา อยู่บริเวณปากคลองผดุงกรุงเกษมข้างเหนือ กำแพงและประตูเมืองหน้าวัดบวรนิเวศวิหาร ป้อมและกำแพงพระนครของกรุงรัตนโกสินทร์ซึ่งสร้างในสมัยรัชกาลที่ 1 และ 4 เหล่านี้ ต่อมาเมื่อมีการขยายพระนครตามความเจริญของบ้านเมืองในช่วงรัชกาลที่ 5-รัชกาลที่ 7 เช่น การตัดถนน และการสร้างอาคารต่างๆ ทำให้จำเป็นต้องรื้อถอนป้อมและกำแพงเมืองเพื่อใช้เป็นพื้นที่ในการก่อสร้าง คงเหลือเพียงป้อมพระสุเมรุ กำแพงและประตูเมืองหน้าวัดบวรนิเวศวิหาร และป้อมมหากาฬเท่านั้น ปัจจุบันได้มีการอนุรักษ์ป้อม ประตู และกำแพงพระนครทั้งสามแห่งนี้ไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์และเป็นโบราณสถานสำคัญของกรุงรัตนโกสินทร์ หมายเหตุ : คัดจากเรื่อง “ป้อมและกำแพงเมือง” เว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลเกาะรัตนโกสินทร์