ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล “ขาว” เป็นชื่อคน แต่จบชีวิตในคุกที่ไว้ขัง “ไอ้เสือ” ทั้งหลาย ขาวกับผมเป็นเพื่อนกันมาตั้งแต่ พ.ศ. 2511ขณะที่เราทั้งสองมีอายุ 10 ปี ชื่อขาวนี้คงมาจากสีผิวของขาวเอง ขาวมีแม่เป็นคนทางเหนือ พ่อเป็นคนกรุงเทพฯ มีปู่เป็นขุนอะไรสักอย่าง และปู่นี่เองที่ทำให้ชีวิตของขาวเป็นไป เป็นไปในความเจ็บปวดรวดร้าว ทั้งของขาวเองและของคนอื่นๆ ที่มาเกี่ยวข้องกับขาว แม้กระทั่งผมเองที่สงสารเพื่อนคนนี้ด้วยความเจ็บปวดที่ยากจะลืมเลือน อย่างที่ผมได้เล่ามาในตอนแรกของบทความชุดนี้ว่า ผมเกิดที่กรุงเทพฯ มาอาศัยอยู่ที่ห้วยขวาง ที่ตอนนั้นเป็นชุมชนอาคารสงเคราะห์ที่รัฐบาลสร้างที่อยู่ให้กับผู้มีรายได้น้อย พออายุได้สัก 6 ขวบ ขณะที่กำลังเรียนชั้นประถม 1 ที่โรงเรียนพร้อมพรรณวิทยา แถวดินแดง ผมก็ถูกพ่อมาลักตัวไปอยู่ที่บ้านหนองม่วง อำเภอคง จังหวัดนครราชสีมา ไปเรียนต่อที่นั่นจนจบประถม 4 ด้วยการเลี้ยงดูของย่าจันทร์ แล้วพอจะขึ้นประถม 5 แม่ก็มาลักตัวกลับมาอยู่ที่ห้วยขวาง และเรียนต่อชั้นประถม 6 ที่โรงเรียนพร้อมพรรณวิทยาดังเดิม ตอนที่ผมกลับมาอยู่ที่ห้วยขวางหลังจากที่ไปอยู่บ้านนอกมาเกือบ 4 ปี ผมเข้ากับเด็กคนอื่นๆ ในละแวกบ้านใกล้เรือนเคียงไม่ค่อยได้ เพราะผมอายที่พูดภาษาภาคกลาง ผมยังพูดติดสำเนียงอีสาน ทำให้เป็นที่ล้อเลียนของเพื่อนในวัยเดียวกัน เว้นแต่ขาวที่เข้ามาทักทาย และชวนผมไปเล่นตามที่ต่างๆ ไกลจากซอยบ้านและเด็กคนอื่นๆ ซึ่งการได้เล่นกับขาวทำให้ผมได้ประสบการณ์แปลกใหม่ ที่ตื่นเต้นและต้องจดจำมาถึงวันนี้ บ้านของขาวอยู่ในล็อค 12 ข เยื้องๆ บ้านผม ขออนุญาตบรรยายภาพอาคารสงเคราะห์ห้วยขวางสักเล็กน้อยว่า ปัจจุบันถ้าเราไปยืนที่หน้าตลาดห้วยขวางด้านทิศเหนือ หันหลังให้ถนนรัชดาภิเษก หันหน้าไปทางทิศตะวันตกคือทางที่จะไปถนนสุทธิสาร แล้วมองไปที่กลุ่มแฟลต 5 ชั้นที่เรียงรายกันไปทั้งซ้ายและขวาหลายสิบตึก บริเวณนี้แหละที่เป็นอาคารสงเคราะห์เดิมเมื่อกว่า 60 ปีก่อน โดยแบ่งเป็น 20 ล็อก (ในความหมายสมัยนี้น่าจะเรียกว่าซอย แต่ในสมัยที่สร้างอาคารสงเคราะห์นี้คงจะมีการนำศัพท์การวางผังเมืองแบบฝรั่งมาใช้ คือคำว่า “ล็อค” ที่แปลว่าการจัดอาการเป็นกลุ่มๆ) มีตลาดสดเป็นศูนย์กลาง แบ่งกลุ่มตัวเรือนเป็น 2 ประเภท คือด้านทิศใต้ของตลาด ปลูกเป็นเรือนแถว(ที่เรียกในสมัยต่อมาว่าทาวน์เฮาส์ แต่ปัจจุบันเรียกให้ดูหรูขึ้นว่าทาวน์โฮม) มี 10 ล็อค ส่วนทิศเหนือทางขวามือของตลาดสด ปลูกเป็นเรือนแฝด เรียงออกไปอีก 10 ล็อคเช่นกัน มีถนนใหญ่จากหน้าตลาดนี้ผ่านกลางแบ่งออกเป็น 2 ฟาก ฟาก ก ที่อยู่ด้านทิศตะวันตกของถนน และฟาก ข ที่อยู่ด้านทิศตะวันออก ฟากละ 20 หลัง ล็อคหนึ่งๆ จึงมีบ้าน 40 หลัง ดังนั้นเฉพาะเรือนแฝด 10 ล็อคทั้ง ก และ ข นี้จะมีบ้านรวมทั้งหมด 400 หลัง (สำหรับกลุ่มเรือนแถว ผมนับคร่าวๆ ด้วยความจำ เพราะไม่ค่อยได้เข้าไปคลุกคลีคุ้นเคย ก็น่าจะมีจำนวนหลายร้อยหลังเช่นกัน) ถ้าแต่ละบ้านอยู่กันโดยเฉลี่ย 4-5 คน ชุมชนอาคารสงเคราะห์ห้วยขวางเมื่อ 60 กว่าปีที่แล้ว ก็จะมีคนอยู่อาศัยกว่าครึ่งหมื่นเลยทีเดียว ห้วยขวางในตอนที่ผมเป็นเด็กยัง “บริสุทธิ์” มาก นอกจากกลุ่มเรือนต่างๆ แล้ว ติดกับตลาดด้านทิศตะวันออกจะเป็นโรงเรียนสามเสนใน ที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็น “โรงเรียนเทศบาล” ติดกับโรงเรียนไปทางด้านหลังคือสถานีตำรวจห้วยขวาง(ที่ยังคงอยู่ตรงนั้นเหมือนเดิมในปัจจุบัน) ถัดไปเป็นตลาดเล็กๆ อีกแห่งหนึ่ง ที่มีคลองห้วยขวางคั่นกลาง มีสะพานข้ามไป อีกฟากหนึ่งของคลองเป็นโรงหนังฝาผนังเป็นไม้ หลังคาสังกะสี และที่นั่งเป็นราวไม้ปักขึ้นบนพื้นลาดซีเมนต์ มีพัดลม 5-6 ตัวอยู่บนเพดาน ชื่อโรงหนัง “เฉลิมขวัญ” ถัดจากตลาดนี้ไปเป็นทุ่งนา แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้ทำนาแล้วเพราะเป็นที่ที่ถูกนายทุนมากว้านซื้อไว้ (ต่อมาบริเวณนี้มีถนนตัดผ่านไปตามแนวตะวันออกและตะวันตก เรียกว่า “ถนนรัชดาภิเษก” ปัจจุบันเต็มไปด้วยตึกระฟ้าและย่านธุรกิจตลอดแนว) ซึ่งทุ่งนาอันสุดลูกหูลูกตาแถวนี้แหละ ที่ผมกับผองเพื่อนได้วิ่งเล่นอย่างมีความสุขเมื่อ 50 ปีที่แล้วนั้น เช่นเดียวกันกับด้านเหนือสุดของกลุ่มเรือนแฝดปลายล็อคที่ 20 จะเป็นเขตวัดชื่อวัดกุนนทีรุธาราม ข้างวัดตรงถนนที่จะไปสุทธิสารมีคลองขนาดเล็กอยู่ 2-3 คลอง ตรงนี้แหละเป็นที่ตกปลา จำพวกปลาหมอนั้นมีมากที่สุด และถ้าในหน้าฝนย่านแถบนี้จะเป็นทุ่งหญ้าโล่งๆ ที่มีน้ำท่วมนองเอิบอาบไปทั่ว เป็นที่ไล่จับปลากัดที่ออกมาก่อหวอดวางไข่อยู่ทั่วไป เดินทะลุข้ามทุ่งหญ้านี้ไปอีกสักหน่อยก็จะเป็นถนนที่กำลังก่อสร้างเสร็จแล้วบางส่วน ที่มีชื่อว่า “ถนนวิภาวดีรังสิต” เพื่อเชื่อมโยงคนกรุงเทพฯออกไปด้านทิศเหนือ ที่แต่เดิมมีถนนเพียงสายเดียว คือถนนพหลโยธินซึ่งอยู่ถัดไป บริเวณย่านนี้กำลังมีการก่อสร้างบ้านเดี่ยวเป็นกลุ่มๆ ที่เรียกในสมัยนั้นว่า “บ้านจัดสรร” เป็นย่าน “ผู้ดีใหม่” เช่นเดียวกันกับบางกะปิในยุคก่อนนั้น และย่านลาดพร้าวในยุคเดียวกัน ตอนที่แม่ผมมาอยู่กับตาน้อย(คือน้องของตาจริงๆ)ราว พ.ศ. 2495 แม่เพิ่งจบประถม 4 มาจากโรงเรียนในหมู่บ้านที่ขอนแก่น โดยหวังว่าจะได้มาเรียนต่อที่กรุงเทพฯ แต่โชคชะตาไม่อำนวยเลยต้องมาช่วยภรรยาของตาน้อยทำงานบ้านและเลี้ยงลูกๆ ของตาน้อยที่มีจำนวนถึง 4 คน แม่เล่าให้ผมฟังว่า ตาน้อยที่เป็นตำรวจยศในขณะนั้นเป็นจ่าสิบตำรวจ ได้รับสิทธิจากทางรัฐบาลให้มาจับจองเป็นผู้อาศัยที่อาคารสงเคราะห์ห้วยขวาง ตอนนั้นรัฐบาลได้เกณฑ์ผู้คนที่อยู่ใกล้เคียงให้มาช่วยกันสร้างถนน “ซูเปอร์ไฮเวย์” สายใหม่ (คือถนนวิภาวดีรังสิตนั่นเอง) ในทำนองเข้ามาเสริมผู้รับเหมาที่รัฐบาลได้จ้างมาแล้วนั้นส่วนหนึ่ง แม่จำได้ว่าต้องมาส่งอาหารให้ผู้คนที่มาทำงานนั้นด้วย เรียกว่าเป็น “จิตอาสา” ช่วยงานในยุคแรกๆ ก็ว่าได้ แต่ทำอยู่ไม่นานก็มีการเปลี่ยนรัฐบาลเป็นจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ แล้วแม่ก็ได้เจอกับพ่อผม ให้กำเนิดผมในเวลาต่อมา ซึ่งผมก็เติบโตมาในท่ามกลางความบริสุทธิ์ของ “ทุ่งห้วยขวาง” นั้น ขาวก็เกิดที่ห้วยขวางในปีเดียวกันกับผม เราจึงเป็นเพื่อนเล่นกันมาแต่เด็กๆ เพียงแต่ผมจำอะไรไม่ได้เพราะความที่ยังเป็นเด็กเล็กและถูกแยกไปเรียนบ้านนอกอยู่ช่วงหนึ่ง จนกลับมาเจอกันอีกครั้งตอนอายุ 10 ขวบ และ “เกิดเรื่องเกิดราว” ทั้งที่ควรและไม่ควรจดจำมากมาย