ปากกาขนนก / สกุล บุณยทัต “ลมหายใจของธรรมชาติคือสัญญาณของการมีชีวิตอยู่ในความรื่นรมย์แห่งวิถีธรรม มันคือความทรงจำที่สร้างสรรค์จุดสมดุลของชีวิตให้ดำรงอยู่ท่ามกลางความเป็นไปที่เคลื่อนขยายทั้งหมดทั้งมวล/เหตุนี้..ผัสสะแห่งการอยู่ร่วมในโครงสร้างของความเป็นชีวิตหนึ่งจึงเป็นความหมายแห่งเบื้องลึกของหัวใจ ที่ได้ก่อร่างความทรงจำเหนือความประทับใจขึ้นมาสู่โลกของตัวตนที่ถาวร/...ไม่มีใครที่จักลืมเลือนรากเหง้าแห่งบันทึกของที่ชีวิตที่พาดผ่านจิตวิญญาณอันบริสุทธิ์นี้ได้/..แม้นัยของชีวิตจะเปลี่ยนแปรและเคลื่อนขยายไกลห่างออกมาจากบริบทอันหยั่งลึกของกลิ่นอายเดิมแท้...ที่เป็นตราประทับในนามของชีวิตที่เป็นชีวิต...เนิ่นนานมาสักเพียงใดก็ตาม...” สาระแห่งบทนิยามเบื้องต้นคือ...สำนึกร่วมแห่งความประจักษ์คิดที่ได้รับจากหนังสือ ที่ได้ถอดร่างบทเรียนแห่งประสบการณ์ของชีวิต ที่มีต่อเนื้อในของการมีชีวิตอยู่แนบชิดกับลมหายใจของธรรมชาติ...ด้วยสัมผัสแห่งความเป็นพื้นบ้านที่เปี่ยมเต็มไปด้วยพุทธิปัญญาต่อการเอาชีวิตรอด/จากการเรียนรู้และปอกเปลือกจิตวิญญาณแห่งเบ้าหลอมอันอเนกอนันต์ของชีวิตสู่การทำมาหากินผ่านการพึ่งพาตนเองอย่างรับรู้และเข้าใจ..กระทั่งกลายเป็นภูมิปัญญาแห่งบรรพชน..ไปในที่สุด “พรานทุ่ง”...ถือเป็นหนังสือน้อยเล่ม...ที่ได้ถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาจากผู้ใช้ชีวิตร่วมชีวิต ผ่านประสบการณ์ตรงอันหาค่ามิได้/ในยามที่โลกเปลี่ยนแปลงจากยุคเกษตรกรรมที่เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กับธรรมชาตินิยม ข้ามผ่านมาสู่ยุคดิจิตอลอันแห้งแล้ง โดดเดี่ยว และไร้ชีวิตชีวาเยี่ยงปัจจุบัน “สัจภูมิ ละออ”นักเขียนผู้พันผูกอยู่กับประสบการณ์เชิงรากเหง้า...สร้างสรรค์”พรานทุ่ง” ขึ้นมา ด้วยเจตจำนงอันชวนศรัทธา...ดั่งทรรศนะที่ชี้ให้ตระหนักถึงนัยสำคัญที่ว่า.. “สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับพวกเราชาวบ้านคือการทำมาหากินเลี้ยงชีพ เราพึ่งพาธรรมชาติใกล้ตัวมาเกื้อหนุน แต่ละปีเราทำนาเก็บเกี่ยวข้าวไว้กินพอเพียง เราไม่ต้องห่วงและต้องหา สิ่งที่ต้องหาคือกับข้าว..สมัยเด็กๆนั้นหาไม่ยากเลย อยากกินปลาก็คว้าแหลงคลอง/ อยากกินนกคุ่มก็เอาตาข่ายไปดักชายละเมาะ/รอไม่นานก็ได้มาแกง.../การใช้ชีวิตโดยอาศัย “ภูมิปัญญาที่พึ่งพาตนเอง”นี้ เราได้รับมรดกต่อกันมาจากบรรพกาล” ผ่านวิถีประสบการณ์...ก่อเกิดเป็นความเข้าใจอย่างถ่องแท้...คำอธิบายในแต่ละสัดส่วนแห่งเรื่องราวที่ “สัจภูมิ” ...ได้สื่อสารออกมาจึงเป็นความคุ้นชินที่คล้ายดั่งสัมผัสใน..เป็นการเรียนรู้ด้วยความหมายต่อความหมายผ่านรหัสสัญญะของธรรมชาติ ที่ต้องเฝ้าสังเกต จดจำ และตีความออกมาเป็นองค์ความรู้ที่แนบแน่น “คำว่า..ปลาขึ้น..หมายถึงฤดูปลาว่ายทวนน้ำ เมื่อน้ำไหลจากป่าลงสู่แม่น้ำลำคลอง ปลาเล็กปลาใหญ่จากคลองจะว่ายขึ้นมาหาน้ำใหม่ หาที่อยู่ที่กินใหม่...พฤติกรรมของมันอยู่ในสายตาของพ่อฉันเสมอ” การเรียนรู้ด้วยกระบวนวิธีสังเกตการณ์ ...ผ่านธรรมชาติของชีวิตจากสิ่งหนึ่งไปสู่สิ่งหนึ่ง ทำให้เกิดความเจนจัด ชำนิชำนาญ..จากชีวิตรุ่นหนึ่งสู่ชีวิตอีกรุ่นหนึ่งอย่างเป็นกระบวนการ/...ผ่านการรับรู้ในรู้สึก..ผ่านประสบการณ์แห่งประสบการณ์ที่สอดร้อยกันด้วยการฝึกฝนปฏิบัติจนบรรลุถึงการหยั่งรู้ที่ยั่งยืน.../จากชีวิตรุ่นหนึ่งสู่ชีวิตอีกรุ่นหนึ่ง...ก่อเกิดเป็น “ภูมิปัญญาอันไม่รู้จบ” “ฉันโชคดีที่พ่อเป็นคนหากินเก่ง...พ่อทำเครื่องมือจับสัตว์ได้เกือบทุกชนิด คราวใดที่พ่อลงจากบ้านไปล่ามาทำกับข้าว/ ฉันมักตามไปด้วยเสมอ..จึงได้รู้วิธีจับสัตว์และเคล็ดในการหา มาโดยตรง/...เคยคิดอยู่เหมือนกันว่าอยากจะเล่าเรื่องราวต่างๆ/ที่เรียนรู้ในอดีตให้คนรุ่นหลังได้รับฟังบ้าง/..เพราะ ปลา นาข้าว ค่อยๆ ลดลงปลานับวันจะหายาก เพราะนากุ้ง และสารเคมีตกค้างจากไร่นา เรือกสวน ไหลลงมาทำลาย เครื่องไม้เครื่องมือจับสัตว์นับวันยิ่งหาดูได้ยาก” สายใยแห่งการเรียนรู้จากบรรพชน...นับเป็นแบบแผนอันสำคัญของการสืบต่อการสร้างเสริมภูมิปัญญาแห่งการทำมาหากินที่น่าเสริมส่ง มันสามารถแผ่ขยายองค์รวมของการดำเนินชีวิตด้วยปัจจัยของการเรียนรู้ที่เติบโตขึ้นจากน้ำมือแห่งการปฏิบัติที่แผ่ขยายความเชี่ยวชาญ...จนกลายเป็นอาณาจักรแห่งบรรทัดฐานของภูมิปัญญาไปในที่สุด... “ฤดูหนาวข้าวนาปี ...เอนร่วงหนัก น้ำลดลงเผยให้เห็นตลิ่งดินโคลน..รอยปูไต่เลนปัดไปเป๋มาเป็นทางยาว /เปลือกหอยขม หอยกาบ หอยโข่ง โผล่เลนให้เห็นเป็นจุดๆ ไล่สายตาลงน้ำไป/แมงมุมน้ำเป็นฝูงๆ เต้นยิกๆข้างจอก แหน และผักบุ้งยอดอ่อนอวบ/ผ่านลำคลองเข้าท้องนา/ลมโชยข้าวเบาต้องกายขนลุกกรูเกรียว/ข้าวเบาบางอันนากำลังได้ที่/บางอันนากำลังสุกเหลืองอร่าม...ในหนองน้ำกลางท้องทุ่งขนาดใหญ่/ปลาน้อยใหญ่ที่ระริกระรี้ขึ้นไปหากินเมื่อน้ำนอง/..ส่วนหนึ่งพากันกลับลงคลองไปแล้ว/ส่วนที่เหลือหากินเพลินจนหลงอยู่ในหนองใหญ่..” ความเข้าใจในชีวิตแห่งธรรมชาติอันลึกซึ้งของ”สัจภูมิ”...ถือเป็นจุดเด่นของการพรรณนาสู่หนังสือเล่มนี้/..มันลงรากลึกถึงความเป็นเนื้อแท้ในความเป็นพื้นถิ่นที่หลอมผัสสะอยู่กับหัวใจ/เป็นเคล็ดวิชาที่สื่อสารผ่านภาพจำของจินตภาพที่ถูกจัดวางอยู่ซ้ำๆในแก่นสารของความทรงจำ.../ด้วยสถานะแห่งความเป็นไปดังกล่าว/...จึงทำให้ภาพพจน์ในแต่และบทตอนทั้งต่อเหตุการณ์ และจินตนาการของหนังสือเล่มนี้./ดำเนินไปอย่างสอดผสานด้วยภาษาที่เปรียบดั่งลำนำของบทกวีในลีลาสำนวนต่างๆตามปะทุอารมณ์ที่ตกกระทบของผู้เขียน/...ผ่านสำนวนที่ไหวสะท้อนและจริงจังต่อลีลาของภาพแสดงนานาแห่งกิจกรรมอันเนื่องด้วยใจสัมผัสใจ “ตะวันพักผ่อนไปนานแล้ว...ดาวบนท้องฟ้ามาทำหน้าที่ให้แสงสว่างแทน....พ่อหยิบห่อยาออกมาคลี่ โรยเกลี่ยยาเส้นบนใบตองแห้งแล้ว มวนด้วยความชำนาญ/เพียงอึดใจเดียวก็จุดไฟสูบ พ่นควันออกมาโขมง/.”.กุ๊งๆ”..เสียงปลาหล่นลงไห เสียงมันก้องได้ยินชัดเจน/ตอนไปกับพ่อ ครั้งแรกฉันขยับตัวจะวิ่งไปจับปลามาใส่ข้อง/พ่อกดบ่าไว้พลางบอกว่า..”ปล่อยมันไปก่อน มันยิ่งดิ้นพวกมันจะยิ่งเข้ามา”/..แล้วก็เป็นจริงอย่างพ่อว่า ปลาทยอยกันหล่นลงไหที่ฝังที่ฝังไว้เรื่อยๆ/..เสียงมันจะเปลี่ยนไปเมื่อปลามากขึ้น/พ่อรอจนเสียงปลาหล่นค่อยซาลง/จึงเข้าไปจับปลาออกจากหลุม..จากนั้นก็กลับมานั่งรอดูท่าทีอีกครั้ง/หากปลาเงียบ นั่นหมายความว่า..ปลาอาจจะไม่ลงหลุมอีกแล้ว..” สารคดีชุดนี้ของ”สัจภูมิ”ดำเนินเรื่องดุจดั่งวรรณกรรมพื้นถิ่น(NOVEL OF SOIL)ชั้นดี/ด้วยภาษาภาพพจน์เชิงวรรณกรรม และด้วยอารมณ์ความรู้สึกร่วมในภาวการณ์ที่สดๆ/มันดำดิ่งลงไปในหลุมลึกแห่งประสบการณ์ที่ละเสี้ยวขณะอย่างเป็นลำดับ.../เป็นภาพสะท้อนของภาพสะท้อนที่สื่อสารออกมาด้วยแรงเหวี่ยงของชีวิตที่ตัดไม่ขาด/...ทุกครั้งที่คิดคำนึงถึง/ภาพต้นร่างแห่งประสบการณ์ก็สื่อสารต่อตัวตนของโลกออกมาอย่างชัดแจ้ง..เป็นผลรวมแห่งการสะสมในองค์รวมของประสบการณ์กับส่วนประกอบของการตีความอุบัติการณ์ที่บังเกิดใหม่สลับกันไป/...แม้ชีวิต ณ ปัจจุบัน เขาจะไม่ได้สัมผัสกับประสบการณ์ดั่งนี้อีก/แต่รสชาติดั้งเดิมของชีวิต...ก็ปรากฏเป็นสีสันที่สาดแสงส่องประกายอยู่ในงานเขียนชุดนี้ของเขาอย่างชัดแจ้ง/...เป็นวรรณกรรมแห่งชีวิตชั้นดี/เป็นสารคดีชั้นยอดแห่งเจตจำนงที่คว้านลึกกลับไปสู่อดีตและเพรียกหาจิตวิญญาณแห่งตัวตนของความเป็นพื้นถิ่นที่ถูกทิ้งร้างและลืมเลือนไปดั่งคนแปลกหน้า./นั่นมิใช่คำบอกกล่าวที่เกินเลยกว่าคำวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ/ ..ในเชิงวิชาการนี่คือผลงานที่ถอดความมาจากรูปรอยของชีวิตอันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่มีค่า/เป็นงานสร้างสรรค์ที่ตีแผ่ให้เห็นถึงความงามอันลับหายของอดีต ที่ถูกแทนที่ด้วย..โรงงานอุตสาหกรรม/หมู่บ้านจัดสรร/.ถนนหลวงเพื่อรถราที่เหยียบย่ำ/... สายน้ำแห่งชีวิตสูญหายไป...หรือไม่ก็ถูกจองจำด้วยจอกแหน/..หรือแม้กระทั่ง ได้ถูกยึดครองด้วยป่าคอนกรีตที่ร้อนร้าย/...สัญชาตญาณแห่ง”พรานทุ่ง”ไม่เคยเกิดขึ้นได้อีก../ไม่ปรากฏแม้ในภาพจำที่พร่าเลือนของชีวิต/...จนที่สุดก็สูญสิ้นบทบาทแห่งคุณค่าไปใน วิถีจริงอันแข็งกระด้างและไร้ซึ่งชีวิตชีวา ณ ปัจจุบัน... “ธรรมชาติของสัตว์ เราเรียนรู้มาตั้งแต่บรรพบุรุษ จากปากสู่ปาก จากรุ่นสู่รุ่น/..ทำให้เกิดการคิดค้นเครื่องมือต่างๆเพื่อจับมันมาปรุงเป็นอาหาร” ..ที่สุดแล้ว..รูปแห่งแบบในการสร้างสรรค์สารคดีชุดนี้ที่น่าสนใจ...และชวนยกย่องพูดถึงอย่างยิ่ง..ก็คือการจัดวางโครงสร้างทางความคิดพร้อมการสื่อสารข้อมูลต่อการนำเสนอที่เป็นเนื้อความและสื่อมิติสัมผัสแบบวรรณกรรม/มันเชื่อมต่อกันด้วยบริบทเชิงเปรียบเทียบที่สอดผสานกันอย่างมีจุดหมาย/มีตัวละครแห่งการกระทำ/และมีผลลัพธ์ในการรับรู้ต่อบทบาทแสดงที่เกาะกินใจอย่างชวนพินิจพิเคราะห์... “ปลาหากินชายน้ำชายหนองมันจะเดินติดดิน/พ่อเอาผักในหนองน้ำนั้นไพรพรางเป็นแนว/เว้นช่องให้พอเหมาะแล้วเอาชุดใส่เข้าไป/เสร็จแล้วต้องเอาไม้ปักบังคับชุดไว้ด้วย/...ชุดดักปลาเป็นเครื่องมือจับปลาชนิดหนึ่ง ที่จับเอาธรรมชาติปลามาใช้ผลิต/..ปลาชนิดใดก็ตาม เมื่อซุกหัวเข้าไปในที่แคบๆ/ขนาดกลับลำตัวไม่ได้ ครีบข้างๆของมันจะหมดความหมาย/ปลาจะติดอยู่อย่างนั้น/ด้วยธรรมชาติของปลาเป็นเช่นนี้เอง เราจึงคิดชุดขึ้นมา ดักมันมากิน/ชุดดักปลาถักด้วยหวาย ปกติหวายเหนียวทายาดอยู่แล้ว/เมื่อมันถูกน้ำ..ตอนที่เราดักปลาก็ยิ่งเพิ่มความเหนียวเข้าไปอีก/ต่อให้ปลาใหญ่เท่าไหร่เมื่อเข้าไปแล้วรับรองเสร็จทุกราย” ภาษาบรรยายของ”สัจภูมิ”มีความงามเชิงภาพพจน์แสดงอยู่/บางครั้งคล้ายดั่งภาษาแห่งกวีนิพนธ์/ที่คอยสอดสลับกับแก่นแกนของความเป็นจริงที่สื่อแสดงออกมาอย่างสัตย์ซื่อ/จะโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม/...เหตุดังกล่าว ได้ทำให้เนื้องานแห่งสารคดีชุดนี้...ข้ามศาสตร์เข้าไปสู่พรมแดนแห่งประพันธกรรม/...เป็นเรื่องจริงที่คล้ายดั่งเรื่องแต่ง/...หรือเป็นเรื่องแต่ง..ที่แต่งแต้มสีสันอันโยงใยมาแต่พื้นฐานของความเป็นจริง/...เหล่านี้คือการตอบสนองในแง่ประสบการณ์..ขณะที่ได้หยั่งลึกลงไปในสาระแห่งหนังสือเล่มนี้ทั่วทั้งหมด.. “พ่อเอาผักในหนองน้ำนั้นไพรพรางเป็นแนว/เว้นช่องให้พอเหมาะแล้วเอาชุดใส่เข้าไป...เสร็จแล้วต้องเอาไม้ปักบังคับชุดไว้ด้วย/เมื่อปลาติดมันจะได้ไม่พาชุดหายไป/..ปลาติดชุดนั้นเป็นปลาตัวใหญ่..เช่นปลาช่อน แต่น่าเสียดายที่มันมักจะตายก่อนที่เราจะไปกู้ชุดในวันรุ่งขึ้น../นอกจากจะดักปลาออกหากินแล้ว/เรายังเอาชุดไปดักตามช่องน้ำไหลได้ เอาหญ้าไพรให้ดี..เปิดช่องให้พอเหมาะ/เมื่อปลาเห็นช่องน้ำไหลสะดวกตรงชุดมันก็จะเข้าไป/หารู้ไม่ว่าเมื่อเข้าไปแล้วมันไปไม่ได้ตาม..คิดฝัน../ครั้นจะถอยก็ไม่ได้อีก.../ปลาติดชุด มันรู้ว่าอย่างไรมันก็ดิ้นไม่หลุด/มันรับรู้ถึงสภาพที่อึดอัดในซองหวายที่คนถักทอดักมัน/มันยังรู้ว่า../อย่างไรมันต้องตาย.../คิดๆไปดูเหมือนว่ายังดีกว่าคนติดกรอบ ติดรูปแบบที่วาดฝันขึ้นมาเสียอีก”...นั่นคือ...อุทาหรณ์สอนจริตที่”สัจภูมิ”...ตั้งใจส่งสารและสื่อสารไว้... แท้จริง...เราต่างเกิดมาเพื่อที่จะเป็นนักล่าด้วยกันทั้งสิ้น/...การเป็นนายพรานนักล่าผู้สร้างเคล็ดวิชาออกมาล่าสรรพสิ่งนับเป็นปัจเจกปัญญา ที่เรียนรู้ผ่านประสบการณ์ส่วนบุคคลเป็นที่ตั้ง/การเป็นนักสังเกตการณ์/การเป็นผู้ค้นหา/และการเป็นนักล่าผู้แสวงหาเป้าหมาย คือความหมายอันเร้นลึกของผู้เป็นพราน/ ดั่งนี้..”พรานทุ่ง”จึงมีความหมายแห่งตัวตนที่ไม่มีอะไรจะขัดแย้งได้/แม้ยุคสมัยจะกลบกลืนบทบาทอันเป็นอัศจรรย์ของพวกเขาไปเสียสิ้นในวันนี้/..แต่เคล็ดวิชาของพวกเขาก็ยังสถิตอยู่ในความทรงจำของลูกหลานที่สะท้อนถ่ายออกมาเหนือประสบการณ์แห่งการมีชีวิตอยู่ใดๆ/... สงกรานต์ปีนี้...แม้จะไม่มีการเฉลิมฉลองในวิถีดั้งเดิมแห่งความเป็นพื้นถิ่น...แต่ความเป็นรากเหง้าในประวัติศาสตร์ดั้งเดิมแห่งชีวิตของชาวบ้าน../ในภาพผ่านแห่งสังคมเกษตรกรรมก็ยังคงเป็นรอยจารึกที่ติดตรึงต่อการหวนรำลึกสู่ชีวิตแห่งการไล่ล่า ผจญภัยเพื่อปากท้องอยู่เสมอ/มันคือจารีตแห่งศรัทธาของการอยู่ร่วม...ที่ไม่เคยตายไปจากดวงใจแห่งชีวิต...แม้ในความฝัน../ “เรื่องราวต่างๆในคืนอดีต...แม้จะผ่ามานานปี..แต่ยังแจ่มชัดในน้ำเสียงที่พ่อเล่า..แถมยังได้กลิ่นท้องน้ำท้องนาอีกด้วย..”