หอการค้าไทยเผยดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค มี.ค.อยู่ที่ 50.3 ต่ำสุดในรอบ 21 ปี 6 เดือนพิษโควิด-19 เผยดัชนีทั้งค่าครองชีพ-ความสุข-ความเชื่อมั่นในโอกาสหางานทำปัจจุบันต่ำสุดตั้งแต่สำรวจมา คาดครึ่งปีแรกเม็ดเงินหายจากระบบเศรษฐกิจ 1-1.5 ล้านล้านบาทจากกำลังซื้อหดหาย นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมี.ค.63 ผลพวงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 21 ปี 6 เดือน เทียบได้กับช่วงเหตุการณ์วิกฤติต้มยำกุ้งเป็นอย่างน้อย โดยอยู่ที่ระดับ 50.3 ปรับตัวลดลงจากระดับ 64.8 ในเดือนก.พ.63 ดัชนีตกลงเป็นเดือนที่ 19 ตกแรงที่สุดนับตั้งแต่มีการสำรวจมา ค่าดัชนีต่างๆ ทั้งดัชนีค่าครองชีพ ดัชนีความสุข ดัชนีความเชื่อมั่นในโอกาสหางานทำปัจจุบันก็ต่ำสุด เนื่องจากประชาชนขาดความเชื่อมั่นในอนาคตสูงมาก สถิติการปรับตัวลดลงของดัชนีหลายตัวครั้งนี้ และการสำรวจครั้งนี้อยู่ในช่วงของการสั่งปิดห้างร้านต่างๆในกรุงเทพฯ และตามด้วยการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเดือนนี้จึงไม่ปกติ โดยสถานการณ์แพร่ระบาดครั้งนี้ ทำให้ภาพรวมความเชื่อมั่นผู้บริโภคไม่ดี และน่าจะทำให้กำลังซื้อหายไป โดยครึ่งปีแรกเม็ดเงินจะหายจากระบบเศรษฐกิจอย่างน้อย 1-1.5 ล้านล้านบาท เนื่องจากปกติคนไทยจะมีการบริโภควันละประมาณ 20,000 ล้านบาท การทำงานที่บ้าน เว้นระยะห่างทางสังคม ไม่สามารถเดินทางไปมาได้ง่าย น่าจะทำให้กำลังซื้อคนไทยทั้งประเทศหายไปอย่างน้อยวันละ 5,000 ล้านบาท ขณะเดียวกันการล็อคดาวน์ประเทศ นักท่องเที่ยวไตรมาสแรกหายไปกว่า 40% เกือบกว่า 4 ล้านคน จากปกติ 10 ล้านคน เหลือเพียงกว่า 6 ล้านคน และไตรมาส 2 ประเทศไทยเริ่มล็อคดาวน์แล้ว นักท่องเที่ยวจึงไม่น่าจะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวมากนัก จากปกติเข้ามาท่องเที่ยว 9 ล้านคน สถานการณ์นี้ทำให้นักท่องเที่ยวหายไปเกือบหมด คือ หายไปกว่า 8 ล้านคน รวมแล้วครึ่งแรกปีนี้นักท่องเที่ยวหายไป 12-13 ล้านคน ซึ่งปกติใช้เงินคนละ 45,000-50,000 บาทต่อคน ส่งผลให้เม็ดเงินจากการท่องเที่ยวหายไปประมาณ 600,000 บาทเป็นอย่างน้อย บวกกับการท่องเที่ยวในประเทศเม็ดเงินจะหายไปอีกกว่า 100,000 ล้านบาท รวมเม็ดเงินหายไปกว่า 700,000 ล้านบาท บวกกับการบริโภคในประเทศที่หายไปด้วยวันละ 5,000 ล้านบาท หรือเดือนละ 150,000 ล้านบาท ช่วง 2-3 เดือนเม็ดเงินหายไปประมาณกว่า 300,000 ล้านบาท รวมแล้วครึ่งปีแรกเม็ดเงินจะหายจากอย่างน้อย 1 ล้านล้านบาท รวมถึงการค้าชายแดนที่ลดลงไปด้วย ส่วนมาตรการเยียวยาของรัฐ 1.9 ล้านล้านบาทนั้น เม็ดเงินจะเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจจริงประมาณ 600,000-800,000 ล้านบาท ความเสียหายเศรษฐกิจยังต้องประเมินโควิด-19 จะคลี่คลายลงเมื่อใด หากสามารถคลี่คลายลงได้ในช่วงเดือนมิถุนายนปีนี้ เศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 จะกลับมาเป็นบวกได้ แต่หากช้ากว่านั้น เศรษฐกิจไทยจะติดลบทั้ง 4 ไตรมาสขึ้นกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกเช่นกัน โดยสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ สถานการณ์การแพร่ระบาดจะอาจคลี่คลายในช่วงเดือนก.ค.-ส.ค.63 เบื้องต้นประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะติดลบ 4-6% และกำลังพิจารณามาตรการเยียวยาภาครัฐและจะปรับประมาณการเศรษฐกิจใหม่ในวันที่ 16 เม.ย.63