บอส WHA Group ระบุแผนปรับโครงสร้างผู้ถือใหญ่ เป็นแค่การเปลี่ยนจาก WHA HOLDING ซึ่งถือหุ้นโดย จรีพร จารุกรสกุล และ นพ.สมยศ อนันตประยูร เป็น จรีพร จารุกรสกุล และบุตรสาว ไม่กระทบการบริหารและแผนธุรกิจของกลุ่มบริษัท เชื่อมั่นวิกฤติ COVID-19 ในจีน ส่อแววพ้นขีดอันตราย หวังจุดชนวนปลุกเศรษฐกิจเอเชียพลิกฟื้นอีกครั้ง คาดหวังวิกฤติในไทยคลี่คลายก่อนกลางปีนี้ เชื่อหนุนยอดขายที่ดินนิคมฯกลับมาคึกในครึ่งปีหลัง ระบุต่างชาติสนใจใช้ไทยเป็นฐานการผลิต คงเป้ายอดขายที่ดินปีนี้แตะ1,400 ไร่ ชูธุรกิจโลจิสติกส์ ดีมานด์พุ่งรับอานิสงส์ยอดขายกลุ่ม Consumer,Health Care และ E-Commerce น.ส.จรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัทดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) หรือ WHA Group เปิดเผยถึงการขายหุ้นของผู้ถือหุ้นใหญ่ตามรายงานที่แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า เป็นเพียงการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของผู้ถือหุ้นจากบริษัท ดับบลิวเอชเอ โฮลดิ้ง (WHA HOLDING ) ซึ่งถือหุ้นโดย จรีพร จารุกรสกุล และนายแพทย์สมยศ อนันตประยูร เป็น “จรีพร จารุกรสกุล และบุตรสาว” โดยไม่ได้มีการขายหุ้นให้กับกลุ่มบุคคลอื่น และอำนาจในการควบคุมบริษัทฯ และโครงสร้างของคณะกรรมการบริษัท และผู้บริหารยังคงเป็นไปตามเดิม จึงไม่กระทบต่อการบริหารและแผนการดำเนินธุรกิจ สำหรับการปรับโครงสร้างของผู้ถือหุ้นใหญ่ WHA HOLDING แบ่งขายหุ้นให้กับ “นางสาวจรีพร จารุกรสกุล" จำนวน 1,717,900,000 หุ้น และขายหุ้นให้กับ “นางสาวชัชชมนต์ อนันตประยูร” ซึ่งเป็นบุตรสาว จำนวน 769,569,252 หุ้น,“นายชัยวัฒน์ พู่พิสุทธิ์” (หลานชาย) จำนวน 474,200,000 หุ้น และ “นางสาวสุพิชญา พู่พิสุทธิ์” (หลานสาว) จำนวน 474,200,000 หุ้น “การปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นเพียงการเปลี่ยนจาก WHA HOLDING มาเป็น “จรีพรและบุตรสาว”เท่านั้น ซึ่งในครอบครัวยังถือหุ้นรวมกัน 45.51% และไม่กระทบอำนาจการบริหาร และการดำเนินธุรกิจ โดยโครงสร้างผู้บริหาร และกรรมการบริษัททุกอย่างยังคงเป็นไปตามเดิม” ขณะที่ในด้านสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า (COVID-19) ต่อภาพรวมธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมนั้น แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากกรณีของลูกค้าไม่สามารถเดินทางเข้ามาเยี่ยมชมพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรมได้ด้วยตัวเอง และบางรายขอเลื่อนเซ็นสัญญาออกไปก่อน แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่มีกลุ่มลูกค้ารายใดยกเลิกสัญญา ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพความแข็งแกร่ง รวมถึงจุดแข็งของกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอฯที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มลูกค้าทั้งในประเทศ และต่างประเทศได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้บริษัทคาดหวังว่า ภายในครึ่งปีหลังวิกฤตสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 ในประเทศไทยจะสามารถคลี่คลายไปทางทิศทางที่ดีขึ้น และหากเป็นเช่นนั้นก็จะส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมทุกภาคส่วนสามารถกลับมาพลิกฟื้นได้เร็วขึ้น ซึ่งหมายรวมถึงนิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอด้วย อย่างไรก็ตามเชื่อว่าภาพรวมยอดขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรม สามารถกลับมาเติบโตได้ตามแผนเดิมที่บริษัทวางไว้ โดยตั้งเป้ายอดขายที่ดินในปี 2563 จำนวน 1,400 ไร่ ประกอบด้วยนิคมอุตสาหกรรมในไทยจำนวน 1,200 ไร่ และนิคมอุตสาหกรรมในประเทศเวียดนาม จำนวน 200 ไร่ “หลังจากสถานการณ์ COVID-19 ในประเทศจีนสามารถคลี่คลายในทิศทางที่ดีขึ้นเป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นว่า ประเทศจีนกำลังผ่านพ้นวิกฤติครั้งนี้ได้แล้ว ในขณะที่ข้อมูลของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมของจีนเริ่มกลับมาเดินเครื่องการผลิตได้แล้วกว่า 70-80% และยังถือว่าเป็นการสอดคล้องกับนโยบายของทางการจีนที่เตรียมอัดมาตรการกระตุ้นการลงทุนและเศรษฐกิจครั้งใหญ่หลังจากที่เกิดวิกฤติในครั้งนี้ ซึ่งจะส่งผลเชิงบวกกับหลายประเทศที่เชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ในการพึ่งพาวัตถุดิบจากจีนในระยะถัดไปสามารถควบคุมได้ด้วยมาตรการจัดการที่เด็ดขาดจากรัฐบาลจีน” ส่วนแนวโน้มธุรกิจโลจิสติกส์นั้น ในปัจจุบันลูกค้าหลักคือกลุ่มอุตสาหกรรม Consumer, Health Care และ E-Commerce ได้รับประโยชน์โดยตรงจากผลกระทบการแพร่ระบาดของ Covid-19 ส่งผลให้ความต้องการใช้พื้นที่เช่าคลังสินค้าและศูนย์กระจายสินค้ามีมากขึ้น ทำให้บริษัทยังคงเป้าพื้นที่เช่าคลังสินค้าในปี 2563 เพิ่มขึ้น 2 แสนตารางเมตร ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทมีพื้นที่ทั้งสิ้น 2.6 ล้านตารางเมตร ขณะที่ธุรกิจให้บริการสาธารณูปโภคจะสามารถกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ในช่วงครึ่งปีหลัง และจากการที่ WHAUP ได้ลงทุนด้านน้ำประปาที่เวียดนาม ทำให้บริษัทยังคงเป้าหมายการเติบโตจากธุรกิจน้ำในปี 2563 เพิ่มขึ้น 34% เป็น 147 ลูกบาศก์เมตรจากปีก่อนที่มีปริมาณการขายและให้บริการน้ำ 110 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่ธุรกิจโรงไฟฟ้ายังคงเดินหน้าตามแผนขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าในปีนี้จะเพิ่มขึ้น 6% เป็น 591 เมกะวัตต์