บูรพา โชติช่วง: เกร็ดความรู้วันนี้พาไปรู้จักชื่อประตูชั้นนอกแนวกำแพงพระบรมมหาราชวัง 12 ประตูใหญ่ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระบรมมหาราชวังขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางการปกครองของประเทศ และเป็นที่ประทับสำหรับพระมหากษัตริย์ โดยเริ่มดำเนินการก่อสร้างพร้อมกับการสร้างพระนคร เมื่อ พ.ศ.2325 ทั้งนี้ได้มีการเฉลิมพระราชมณเฑียร เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน ของปีเดียวกัน ในระยะแรกสร้างด้วยเครื่องไม้ ก่อนที่จะโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชมณเฑียรพระมหาปราสาท เปลี่ยนเสาระเนียดจากเครื่องไม้เป็นก่อกำแพงอิฐ สร้างประตูรายรอบพระบรมหมาราชวัง รวมทั้งสร้างวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นพระอารามหลวง แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ.2328 สำหรับประตูชั้นนอกรอบกำแพงพระบรมมหาราชวัง 12 ประตูใหญ่ มีชื่อดังนี้ ประตูวิมานเทเวศร์ ใช้เป็นทางอัญเชิญพระราชสาสน์จากต่างประเทศ โดยเริ่มแห่ผ่านเข้ามาทางประตูแล้วผ่านหน้าศาลาลูกขุนใน จึงเลี้ยวเข้าประตูพิมานไชยศรี ตรงไปยังพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหยสูรยพิมาน ตั้งอยู่ระหว่างศาลาว่าการต่างประเทศและหอรัษฎากรพิพัฒน์ ปัจจุบันคือ ประตูที่อยู่หน้ามหาวิทยาลัยศิลปากร ถนนหน้าพระลาน ประตูวิเศษไชยศรี ตั้งอยู่ตรงข้ามกับประตูพิมานไชยศรี เพื่อใช้เป็นทางเสด็จพระราชดำเนินเข้าสู่พระมหามณเฑียร และได้เกิดฟ้าผ่าที่ประตูนี้ ในตอนที่อัญเชิญพระแสงขรรค์ชัยศรีเข้าสู่พระบรมมหาราชวัง จึงได้รับพระราชทานนามประตูว่า “ประตูวิเศษไชยศรี” อยู่ระหว่างหอรัษฎากรพิพัฒน์ และจวนกลางศาลาพลชาววัง ปัจจุบันคือ ประตูเสด็จพระราชดำเนินเข้าออกพระบรมมหาราชวัง ถนนหน้าพระลาน และหากมองผ่านประตูนี้เข้าไปจะเห็นพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทในมุมที่สวยงามสง่า ประตูมณีนพรัตน์ ใช้เป็นประตูฉนวนให้ฝ่ายในออกไปงานพระเมรุ ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง จึงมีชื่อสามัญว่า “ประตูฉนวนวัดพระแก้วมรกต” อยู่ถัดจากประตูวิเศษไชยศรีไปทางทิศตะวันออก หรือตรงวัดวัดพระศรีรัตนศาสดารามด้านเหนือ ปัจจุบันคือ ประตูตรงกับท้องสนามหลวง ถนนหน้าพระลาน ประตูสวัสดิโสภา ตั้งอยู่ตรงข้ามกับประตูเกยหน้าวัดพระศรีรัตนศาสดารามด้านตะวันออกใกล้กับป้อมเผด็จกร หน้าศาลายุทธนาธิการ เยื้องกับถนนบำรุงเมืองข้างเหนือ เพื่อใช้เข้า-ออกวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และให้ประชาชนเข้ามาปิดทองคำเปลวบูชาพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร จึงมีชื่อสามัญว่า “ประตูทอง” ปัจจุบันคือประตูที่อยู่ตรงกับกระทรวงกลาโหม ประตูเทวาพิทักษ์ อยู่ทางเหนือของพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ ใต้ป้อมสิงขรขัณฑ์ติดกับป้อมขยันยิงยุทธ ต่อมารัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้แก้ไขเป็นประตู 2 ชั้น เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้แก่บริเวณพระอภิเนาว์นิเวศน์ในพระราชอุทยานสวนศิวาลัย แต่ในปัจจุบันใช้เป็นทางเข้าสู่พระที่นั่งบรมพิมาน เพื่อต้อนรับพระราชอาคันตุกะ ประตูศักดิ์ไชยสิทธิ์ ตั้งอยู่ใกล้พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาทกับป้อมฤทธิรุดโรมรัน เพื่อใช้เป็นทางเสด็จพระราชดำเนินสู่พระราชฐานชั้นในเป็นการส่วนพระองค์ หรือเสด็จฯไปในการพระราชพิธีที่จัดขึ้นในพระราชฐานชั้นใน และมีประตูราชสำราญคั่นระหว่างประตูศักดิ์ไชยสิทธิ์ ปัจจุบันคือประตูที่อยู่ตรงข้ามกับสนามไชย วังสราญรมย์ ประตูวิจิตรบรรจง อยู่ทางข้างวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหารด้านตะวันออก และด้านในตรงกับพระตำหนักเดิมสวนกุหลาบ ใช้เป็นทางอัญเชิญพระบรมศพของพระบรมวงศานุวงศ์ออกนอกพระบรมมหาราชวัง จึงมีชื่อสามัญว่า “ประตูฉนวนวัดโพธิ์” ประตูอนงคารักษ์ ตั้งอยู่ระหว่างป้อมมณีปราการกับป้อมพิศาลสีมา และอยู่ตรงข้ามกับวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร เพื่อใช้เป็นทางเอาศพของข้าราชการบริพารออกนอกพระบรมหมาราชวัง จึงมีชื่อสามัญว่า “ประตูผีชั้นนอก” ประตูพิทักษ์บวร อยู่ทางด้านทิศใต้ ระหว่างประตูอนงคารักษ์และป้อมภูผาสุทัศน์ เป็นประตูด้านสกัดทางใต้ ตรงกับถนนมหาราช มีชื่อสามัญว่า “ประตูแดงท้ายสนม” เพราะทาสีแดง ประตูสุนทรทิศา ตั้งอยู่ตรงที่แนวกำแพงพระบรมมหาราชวังด้านตะวันตกมาบรรจบกับแนวกำแพงพระบรมมหาราชวังด้านเหนือ สร้างขึ้นในรัชสมัยรัชกาลที่ 2 ต่อมารัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้แก้ไขซุ้มประตูให้เป็นแบบฝรั่ง ดังปรากฏมาจนบัดนี้ ประตูเทวาภิรมย์ ตั้งอยู่ระหว่างป้อมทัศนานิกรกับป้อมมหาโลหะ สร้างขึ้นในรัชสมัยรัชกาลที่ 2 สันนิษฐานว่าใช้เป็นทางเสด็จพระราชดำเนินออกสู่ท่าราชวรดิฐ ประตูอุดมสุดารักษ์ เป็นประตูฉนวนออก ตรงพระที่นั่งที่ท่าราชวรดิฐ ข้างในตรงประตูยาตราสตรีขนาบด้วยป้อมโสฬสศิลาทางด้านใต้และป้อมมหาสัตตโลหะทางด้านเหนือ หมายเหตุ : คัดจาก “ตำนานงานโยธา (2325-2556)” กรุงเทพมหานคร, และแหล่งที่มาอื่นๆ, เรียบเรียง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เสด็จฯ เลียบพระนคร ออกจากประตูวิเศษไชยศรี ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 5 พฤษภาคม พ.ศ.2562 ประตูวิเศษไชยศรี ในสมัยรัชกาลที่ 6, ภาพวิกิพีเดีย ประตูศักดิ์ไชยสิทธิ์(ขวา) พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ ประตูเทวพิทักษ์(ซ้าย) ประตูสวัสดิโสภา มีชื่อสามัญว่า ประตูทอง