สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ Fan Page โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กระบุ 9 เม.ย.นี้ นาซามีแผนจะส่งนักบินอวกาศ 3 คนไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) ทั้ง 3 คนจะต้องปฏิบัติหน้าที่อยู่ในสถานีอวกาศนาน 6 เดือน และพวกเขาจะเฝ้ามองการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 จากอวกาศที่อยู่สูงจากพื้นโลก 400 กิโลเมตร การหนีออกจากโลกเป็นเวลา 6 เดือน ฟังดูเป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับมนุษย์ในเวลานี้ แต่นักบินอวกาศจะต้องระมัดระวังอย่างมากเพื่อไม่ให้เชื้อไวรัสโคโรนาติดตามพวกเขาไปยังสถานีอวกาศนานาชาติด้วย แม้มีโอกาสน้อยที่จะเกิด แต่การระบาดอย่างรุนแรงในปัจจุบันก็ทำให้นาซาตระหนักถึงเรื่องนี้ เนื่องจากบนสถานีอวกาศนานาชาติมีข้อจำกัดเรื่องเวชภัณฑ์ และหากต้องเดินทางกลับโลกแบบฉุกเฉินเพราะป่วยจากเชื้อไวรัสโคโรนาก็คงจะยุ่งยากมากทีเดียว ดังนั้น เพื่อให้การขึ้นไปปฏิบัติหน้าที่ของนักบินอวกาศในครั้งนี้เป็นไปอย่างราบรื่น นาซา และรอสคอสมอส องค์การอวกาศของรัสเซียได้เพิ่มมาตรการป้องกันก่อนที่จะส่งตัวนักบินอวกาศทั้ง 3 คน ได้แก่ คริสโตเฟอร์ แคสซิดี อะนาโตลี อีวานีชิน และ อีวาน วักเนียร์ ในเดือนพฤษภาคมปีนี้ นาซายังมีแผนจะส่งนักบินอวกาศอีก 2 คน ได้แก่ ดักลาส เฮอร์ลีย์ และ โรเบิร์ต เบนเคน ขึ้นไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ โดยยาน Dragon 2 ที่จะใช้จรวด Falcon 9 ของบริษัท SpaceX ส่งขึ้นไป หากทุกอย่างเป็นไปตามแผน จะเป็นมนุษย์กลุ่มแรกที่นั่งยานอวกาศจากภาคเอกชนขึ้นสู่วงโคจรรอบโลก ซึ่งตามรายงานของสำนักข่าว CBS ระบุว่า เฮอร์ลีย์ และ เบนเคน ได้เตรียมความพร้อมอย่างมากในการป้องกันตัวเองจากไวรัสโคโรนา แน่นอนว่าการส่งนักบินอวกาศทั้ง 5 คนขึ้นสู่อวกาศนั้นเป็นความท้าทายอยู่แล้วในสถานการณ์ปกติ แต่ยิ่งมีโรคร้ายระบาดด้วยแล้วก็ยิ่งท้าทายขึ้นไปอีก เพื่อป้องกันโรคระบาดในสถานีอวกาศนานาชาติ นาซา และรอสคอสมอส ให้นักบินอวกาศทุกคนกักตัวหลายสัปดาห์ก่อนออกเดินทางไปอวกาศ พร้อมฆ่าเชื้อโรคตามถุงบรรจุภัณฑ์ทุกอย่าง กระบวนการกักตัวครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ รวมทั้งกลับมาก็ยังต้องกัก เพื่อหลีกเลี่ยงนำเอาเชื้อโรคจากอวกาศกลับมายังโลก ปกติก็เข้มงวดอยู่แล้ว ยิ่งต้องเข้มงวดยิ่งกว่าโดยเพิ่มเวลากักตัวอีกสองสัปดาห์ ซึ่งมาตรการป้องกันได้รับการตรวจสอบและรับรองโดยแพทย์ขององค์การอวกาศ จากการวิจัยตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมาของนาซาระบุว่า การอาศัยอยู่ในอวกาศทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง ผนังหลอดเลือดแดงจะหนาขึ้นและจุลินทรีย์ในลำไส้ของนักบินอวกาศจะเกิดความเปลี่ยนแปลง บางงานวิจัยยังระบุว่านักบินอวกาศมากกว่าครึ่งไม่สบายเมื่อเดินทางไปถึงสถานีอวกาศนานาชาติ อาการคือมีไข้หนาวสั่น ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อ่อนเพลียและอาจรุนแรงถึงขั้นอาเจียน อาการเหล่านี้คล้ายกับอาการเริ่มต้นของคนเป็นโรค COVID-19 ซึ่งวินิจฉัยได้ยาก ดังนั้น นักบินอวกาศต้องทดสอบกับชุดทดสอบหาโรค COVID-19 แม้จะมั่นใจในมาตรการป้องกันแค่ไหน แต่เมื่อปี พ.ศ. 2511 เคยมีเหตุการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสบางชนิดไปสู่อวกาศในภารกิจ Apollo 7 นักบินอวกาศวอลลี ชีรา มีอาการไข้หวัด และเนื่องจากอยู่ในพื้นที่แออัดจึงทำให้นักบินอวกาศที่เหลือมีอาการป่วยตามด้วย ซึ่งส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติภารกิจเป็นอย่างมาก จากประสบการณ์ครั้งนั้นทำให้นาซากักตัวนักบินอวกาศก่อนการเดินทางขึ้นสู่อวกาศอยู่เสมอ การติด COVID-19 ในอวกาศอาจเป็นประสบการณ์ที่เลวร้ายยิ่งกว่าการติดไข้หวัดใดๆ และทางสถานีอวกาศนานาชาติก็ได้เตรียมความพร้อมที่จะรับมือกับเหตุฉุกเฉินนี้แล้ว ในขณะที่สถานีอวกาศนานาชาติมีเวชภัณฑ์จำกัดเมื่อเทียบกับโรงพยาบาล แต่นักบินอวกาศจะมีเครื่องมือในการรักษาที่ดีกว่าบนโลก ในเบื้องต้นบนสถานีอวกาศนานาชาติมียารักษาโรคทั่วไปที่อาจเป็นประโยชน์ในการรักษาผู้ป่วย COVID-19 นอกจากยาแล้วยังมีอุปกรณ์ที่ทันสมัยกว่า รวมถึงเครื่องวัดออกซิเจนในเลือด (Blood Oximeters) เพื่อตรวจสอบว่านักบินอวกาศหายใจได้ดีแค่ไหน หากมีอาการรุนแรงจะไม่สามารถกลับมายังพื้นโลกได้ทันที แต่จะให้ใส่ท่อช่วยหายใจเพิ่มออกซิเจนในเลือดให้มากขึ้น อ้างอิง : https://astronomy.com/…/how-does-nasa-keep-covid-19--and-ot… เรียบเรียง : ศวัสกมล ปิจดี - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร.