ครอบครัว “ฉัตรชัยวงศ์” เปิดบ้านต้นตระกูลซึ่ง เป็นบ้านที่อยู่อาศัยในปัจจุบัน เนรมิตให้เป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิต บริการชุมชน นักเรียน นักศึกษา และนักท่องเที่ยวได้เข้ามาสัมผัสสิ่งของ เครื่องใช้จริง จากบรรพบุรุษจากรุ่นสู่รุ่น รุ่นแรก ที่อพยพมาจากเมืองจีน มาตั้งรกรากที่บ้านจีน หรือ ต.ฉลุง อ.เมือง จ.สตูล จากการค้าขายกับญี่ปุ่น จีนในปีนัง มาถึงรุ่นคุณพ่อฮวด ฉัตรชัยวงศ์ แพทย์แผนไทยที่รักษาโรคคนในชุมชน หากปัจจุบันยังมีชีวิตอายุอยู่ 105 ปี ได้ทิ้งเรื่องราวสิ่งของเครื่องใช้ อย่างอุปกรณ์เครื่องใช้บดยาแผนไทยในอดีตที่หาดูยาก เครื่องตัดไม้สมุนไพร เครื่องครัว แท่นพิมพ์ทำขนม ช้อนเขียว ชาม ตู้เซฟที่ทำจากเหล็กหนามีใช้เฉพาะบ้านที่ค้าขาย หรือบ้านนายใหญ่ พ่อค้าคหบดี จัดวางเรียนรายผ่านตู้โชว์เป็นถ้วยโถ โอชาม ลวดลายจากเมืองอังกฤษ และญี่ปุ่นในอดีต และยังมีลวดลายปาเตะ ทำจากมือวางเรียงรายให้ศึกษาเรื่องราวที่ทรงคุณค่า ผ่านศิลปวัตถุโบราณคดีในอดีตให้ร่วมชื่นชม
นางมาณี ฉัตรชัยวงศ์ เล่าว่า สิ่งของเครื่องใช้เหล่านี้เป็นของบรรพบุรุษที่ใช้ส่งต่อกันมาสู่รุ่นที่ 4 แล้วนั้น ต้องการจะทำเป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิตเพื่อให้เยาวชนรุ่นหลัง นักเรียน นักศึกษา นักท่องเที่ยว ได้มาชมเรื่องราวของ หมอฮวด ฉัตรชัยวงศ์ แพทย์แผนไทย ซึ่งเป็นคุณพ่อมีอุปกรณ์ในการรักษา มากมายเป็นเครื่องใช้ไม้สอย รวมทั้งของเก่าเก็บจากบรรพบุรุษที่สืบทอดส่งต่อรุ่นสู่รุ่นเชื่อมโยมไปยังตำนานบ้านจีน ต.ฉลุง ซึ่งเป็นชุมชนคนจีนเก่าแก่ที่ทรงคุณค่าที่อยากให้ทุกคนได้ร่วมชื่นชมด้วยกัน
ด้านนางจันทร์ศรี ฉัตรชัยวงศ์ กล่าวว่า สิ่งของเครื่องใช้ 2,000 กว่ารายการ ในหมวดเครื่องใช้บดยาแผนแพทย์ไทยของคุณพ่อ เครื่องครัวของคุณแม่ คุณทวด อากง อาม่า เหรียญเงินตราสมัยสยามรัฐ การค้าขายกับประเทศญี่ปุ่นในช่วงนั้นที่เข้ามา จีนปีนัง จานชาม ลวดลายเก่าแก่ และโอ่งหัวสิงห์ อายุ 200 ปี มีคนมาติดต่อขอซื้อ ซึ่งสมัยนั้นเชื่อว่าเป็นโอ่งจากการค้าขายน้ำตาล น้ำผึ้ง และผักดอง รวมทั้งอาวุธที่ในอดีตแต่ละครอบครัวจะมีไว้ประจำบ้านป้องกันโจรขโมยเข้าบ้าน โต๊ะเคาร์เตอร์ ที่ใช้ค้าขายถูกออกแบบสำหรับการหย่อนเงิน โดยไม่ต้องเลื่อนลิ้นชัก มากมายนำมาแสดงโชว์ ขณะนี้การปรับปรุงบ้านยังไม่เต็มร้อย แต่นักท่องเที่ยว ประชาชนนักเรียนสามารถติดต่อเข้าศึกษา เที่ยวชม ถ่ายภาพได้ ในอนาคตหวังจะให้ชาวบ้านในชุมชนมาตั้งของพื้นเมืองจำหน่ายบริการนักท่องเที่ยว เพราะพิพิธภัณฑ์บ้านมีชีวิต เปิดให้บริการ ตั้งอยู่ตรงข้ามวัดดุลยาราม (วัดหลวงพ่อแก่) เมืองสตูล
นาวสาวอัจจิมา หนูคง หน. พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติสตูล คฤหาสน์กูเด็น กล่าวว่า พิพิธภัณฑ์บ้านมีชีวิตแห่งนี้ เป็นอีกหนึ่งแห่งในเครือข่ายมรดกทางศิลปวัฒนธรรม ซึ่งใน จ.สตูล พบว่ามีบ้านที่มีเรื่องเล่าตำนาน ศิลปะทางวัตถุโบราณที่ทรงคุณค่ามากมาย โดยทั้งหมดจะมีการทำให้เป็นเส้นทางเชื่อมการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ซึ่งมีทั้งโบราณสถาน โบราณวัตถุ ภูมิปัญญา โดยมีพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติสตูล คฤหาสน์กูเด็นเป็นแม่ข่าย เพื่อให้เกิดการท่องเที่ยว เกิดรายได้ในชุมชน ผ่านเรื่องราวตำนานในอดีตให้เที่ยวชม สถานที่ทรงคุณค่าเล่านี้ผ่านพิพิธภัณฑ์บ้านมีชีวิต
จันทนา กูรีกัน / สตูล