กกร.คาดผลกระทบโควิด-19 ฉุดเศรษฐกิจเสียหายล้านล้านบาท แรงงานนับล้านคนกระทบ มองปี63ส่งออกทรุด10% เงินเฟ้อติดลบ1.5% รอลุ้นเคาะตัวเลขอัดฉีดพ.ค. นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.)ที่ประกอบด้วยส.อ.ท. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า กกร.ได้หารือถึงสภาวะเศรษฐกิจไทยปี 2563 แล้วยอมรับว่าผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลกมีแนวโน้มว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี)จะมีโอกาสติดลบ รวมถึงการส่งออกที่คาดว่าจะอยู่ที่ -5 ถึง -10% และอัตราเงินเฟ้อที่จะเป็น -1.5% แต่สืบเนื่องจากมติคณะรัฐมนตรี(ครม.)ล่าสุดได้ออกมาตรการเพิ่มเติมเยียวยาผลกระทบโควิด-19 ระยะที่ 3 วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาทจึงขอดูผลดีในมาตรการต่างๆก่อนและจะนำมาพิจารณาปรับเป้าหมายให้ชัดเจนในการประชุมกกร.เดือนพ.ค.ต่อไป "กกร.ที่ผ่านมาได้ลดเป้าจีดีพีเหลือโตเหลือ 1.5-2% คงตัวเลขการส่งออกที่ติดลบ 2 ถึง 0% และเงินเฟ้อ 0-0.5% ซึ่งดูจากสภาพการณ์ต่างๆแล้วเครื่องชี้วัดเศรษฐกิจหดตัวลงทั้งส่งออก ท่องเที่ยว ลงทุน จีดีพีปีนี้อย่างไรก็คงจะติดลบแต่จะมากน้อยเพียงใดเราขอดูมาตรการรัฐที่ออกมาต่อเนื่องในภาพรวมก่อนเพราะหลายมาตรการก็จะน่าจะเป็นผลดีต่อธุรกิจและเศรษฐกิจไทย ส่วนส่งออกก็คาดว่าจะติดลบ 0-10% เงินเฟ้อเช่นกันว่า -1.5% แต่ตัวเลขชัดๆจะขอไปปรับครั้งหน้า"นายสุพันธุ์กล่าว อย่างไรก็ตามการระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยภายใต้สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วแม้ว่าภาครัฐจะมีมาตรการเยียวยาผลกระทบต่อเนื่องแต่อาจไม่สามารถทดแทนผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อภาคธุรกิจและประชาชนได้ทั้งหมด จากการขาดรายได้และการหยุดหรือปิดกิจการ โดย กกร. ประเมินความเสียหายต่อเศรษฐกิจไทยอาจมีมูลค่าสูงถึงหลักล้านล้านบาท และกระทบการจ้างงานหลายล้านคน นอกจากนี้ หากการระบาดของ COVID-19 สามารถยุติลงได้ภายในช่วงครึ่งปีแรก การฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ สู่ภาวะปกติก็คงต้องใช้เวลา ขณะเดียวกันจากการที่รัฐได้ประกาศพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม ถึง 30 เมษายน 2563 และมีมาตรการขอความร่วมมือปิดสถานประกอบการในหลายจังหวัดทั่วประเทศ โดยเฉพาะกรุงเทพฯและปริมณฑล และเป็นไปได้ที่ภาครัฐอาจจำเป็นต้องออกมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มข้นมากขึ้นตามลำดับ ดังนั้นมาตรการที่เอกชนต้องการเสนอเพิ่มเติมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ อาทิ มาตรการด้านผู้ประกอบการ ได้แก่ ขอให้รัฐสั่งปิดกิจการของรัฐ ให้กับผู้ประกอบการโรงแรมหรืองานบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว เพื่อให้พนักงานสามารถเข้าข่ายกิจการที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งปิดกิจการของรัฐ และพนักงานจะได้เงินชดเชยตามมาตรการที่รัฐบาลกำหนด (โดยยกเว้นให้โรงแรมหรือบริการอื่นๆ ที่มีความจำเป็น สามารถเปิดกิจการโดยความสมัครใจ อาทิ เป็นที่พักบุคคลากรทางการแพทย์ หรือ ที่พักของผู้กักตัว เป็นต้น) ขอให้ปรับลดค่าไฟฟ้า 5% ทั่วประเทศ รัฐจัดสรรงบประมาณในการจ้างงาน ซื้อสินค้า จากผู้ผลิตในประเทศ (Made-in-Thailand) ในราคาที่เหมาะสม เป็นต้น ส่วนมาตรการด้านแรงงานอาทิ ขอให้ภาครัฐออกมาตรการเพิ่มเติมให้แรงงาน ลูกจ้าง ที่อยู่ในระบบประกันสังคม ได้รับการชดเชยรายได้ โดยพนักงานที่เข้าระบบ Leave without pay จะไม่สามารถได้รับเงินชดเชยการหยุดกิจการของสถานประกอบการชั่วคราวจากคำสั่งของรัฐ และไม่เข้าหลักเกณฑ์เยียวยา 5,000 บาท ดังนั้น ควรมีมาตรการชดเชยช่วยเหลือจากสำนักงานประกันสังคม โดยจ่ายเงิน 50% ของค่าจ้าง ตามที่ส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคม นอกจากนี้ควรอนุญาตให้มีการจ้างงานรายชั่วโมง เพื่อป้องกันปัญหาการเลิกจ้างแรงงาน โดยกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ 325 บาทต่อวัน คิดเป็น ชั่วโมงละ 40-41 บาท ต่อการจ้างงานไม่ต่ำกว่า 4 ชั่วโมง และ ไม่เกิน 8 ชั่วโมง/วัน (ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ลดอัตราเงินสมทบของนายจ้าง จาก 4% เหลือ 1% ให้เท่ากับผู้ประกันตน ให้รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือแรงงานที่เงินเดือนไม่เกิน 15,000 บาทโดยยังได้รับ เงินเดือน 75% และไม่ตกงาน ฯลฯ นายกลินทร์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขอขอบคุณรัฐที่ออกมาตรการดูแลเศรษฐกิจระยะ 3 วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาทที่ครอบคลุมทุกด้านแต่ยังห่วงอยู่นิดหนึ่งคือจะปฏิบัติอย่างไรต้องการให้รัฐบาลสื่อสารให้ชัดเจน นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า รัฐบาลมีการออกมาตรการมาเป็นระยะและครอบคลุมเกือบทุกกลุ่มโดยหากจะมีการยกระดับเคอร์ฟิว 24 ชม.นั้นทางสมาคมฯขอให้ประชาชนไม่ต้องวิตกในรื่องของการบริการทางการเงินและอยากแนะนำให้ใช้ช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ก็จะสะดวกรวดเร็ว