"ศักดิ์สยาม"สั่งรถเมล์-รถไฟฟ้า เพิ่มจำนวนรถวิ่งก่อนเคอร์ฟิว 4 ทุ่ม หลังประชาชนร้องเรียนรถไม่พอบริการ เริ่มทันที 7 เม.ย.นี้ แต่ย้ำต้องใช้มาตรการ social distancing เข้มงวด ขณะที่"ครม."เห็นชอบมาตรการใช้ไฟฟ้าฟรี บ้านอยู่อาศัย มิเตอร์ไม่เกิน 5 แอมป์ หวังช่วยลดผลกระทบโควิด-19 เมื่อวันที่ 7 เม.ย.63 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้ผู้ให้บริการระบบขนส่งสาธารณะเช่น องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) และบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (แอร์พอร์ต ลิงก์) เพิ่มจำนวนรถที่ให้บริการประชาชนในช่วงก่อนเคอร์ฟิว 22.00 น. และก่อนเริ่มวันใหม่เวลา 04.00 น. ทั้งนี้ให้เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 7 เม.ย.63 เป็นต้นไป ขณะเดียวกันผู้ให้บริการระบบขนส่งสาธารณะยังต้องปฎิบัติตามหลักเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) โดยเคร่งครัด ด้าน นายภคพงศ์ ศิริกันทรมา ผู้ว่าการ รฟม. กล่าวว่า รฟม.จะหารือกับบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด(มหาชน) หรือ BEM ทันที เพื่อเพิ่มความถี่ของขบวนรถที่เข้าสถานีในช่วงเช้าที่เปิดให้บริการ และก่อนปิดให้บริการตามประกาศเคอร์ฟิวของภาครัฐ (22.00-04.00 น.) ยอมรับว่าต้องเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบว่ารถขบวนสุดท้ายที่จะออกจากสถานีคือเวลา 21.30 น. ดังนั้นผู้โดยสารที่จะเดินทางกลับเคหสถานต้องเผื่อเวลาการเดินทางด้วย ทั้งนี้ยอมรับว่าการทำ social distancing ทำให้แต่ละขบวนปกติจะรับผู้โดยสารสูงสุด 1,000 คน แต่ปัจจุบันรับผู้โดยสารได้ประมาณ 100 คน เท่านั้น ด้าน นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด กล่าวว่า รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์จะดำเนินการตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม โดยลดความถี่ของรถที่เข้าสถานีในช่วงเปิดให้บริการและก่อนปิดให้บริการตามประกาศเคอร์ฟิว โดยจะปรับลดระยะห่างของรถจากเข้าสถานีทุก 10 นาที เป็น 8 นาที ทั้งนี้ยอมรับว่า social distancing ทำให้รถแต่ละขบวนลดจำนวนผู้โดยสารที่สามารถเดินทางได้จากขบวนละ 745 คน เหลือ 130 คน นายประยูร ช่วยแก้ว รองผู้อำนวยการ ขสมก. กล่าวว่า สำหรับการแก้ปัญหาความต้องการใช้บริการในช่วงประกาศเคอร์ฟิวนั้น ช่วงเช้าจะมีการปรับให้รถเมล์โดยสาร ซึ่งปกติจะให้บริการคันแรกเวลา 05.00 น. หลังจากนี้จะพยายามให้รถที่มีความพร้อมออกเดินรถก่อนเวลา 05.00 น. และปรับความถี่ของการออกรถเป็นความถี่เดียวกันกับชั่วโมงเร่งด่วนคือ มีรถออกจากอู่ระยะห่างไม่เกิน 5-7 นาที ส่วนช่วงก่อนปิดให้บริการนั้น ในช่วงเคอร์ฟิว ขสมก.จะออกรถคันสุดท้ายเวลา 20.00 น. และมีการขึ้นป้ายประกาศว่ารถคันใดจะเป็นรถก่อนครั้งสุดท้ายและรถคันใดเป็นครั้งสุดท้าย โดย ขสมก.จะเพิ่มความถี่การเดินรถที่ออกจากอู่ปลายทางเป็น 5-10 นาทีเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าขณะนี้มีปัญหาการเดินรถใน กทม. เนื่องจากรถร่วมบริการปกติจะมี 70-80 สาย เมื่อประสบปัญหาผู้โดยสารน้อยลงไม่คุ้มต่อต้นทุนการเดินรถก็มีผู้ประกอบการจำนวนมากที่หยุดให้บริการช่วงนี้ ซึ่งรถร่วมบริการเหล่านี้เปลี่ยนไปสังกัดขึ้นตรงต่อกรมการขนส่งทางบกแล้ว ขณะที่ นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า ปัญหารถร่วมบริการ ขสมก.ส่วนหนึ่งหยุดเดินรถ เนื่องจากผู้โดยสารลดลง รวมทั้งการทำ Social Distancing ทำให้รับผู้โดยสารได้น้อยลง ไม่คุ้มต่อการเดินรถ แม้ว่ากรมการขนส่งทางบกจะเห็นใจผู้ประกอบการ หลังจากนี้จะมีการประสานผู้ประกอบการช่วยเหลือภาครัฐ โดยขอให้เดินรถช่วงเช้าหลัง 05.00 น.และช่วงเย็นก่อนเคอร์ฟิว ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วง 2 วันที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันหยุดราชการ และอยู่ในช่วงประกาศเคอร์ฟิว มีผู้ใช้บริการรถเมล์โดยสารจำนวนมากได้ร้องเรียนมาที่ขสมก. เนื่องจากการจัด Social Distancing ทำให้รถแต่ละคันรับผู้โดยสารได้น้อย เกิดการกระจุกตัวในการใช้บริการทั้งในช่วงเช้าและช่วงเย็น ส่งผลให้ประชาชนที่ยังจำเป็นต้องเดินทางต้องรอรถเป็นเวลาหลายชั่วโมง ที่ทำเนียบรัฐบาล นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม. มีมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือผู้ใช้ไฟฟ้าที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เพิ่มเติม ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอดังนี้ 1. เห็นชอบกำหนดนโยบายมาตรการค่าไฟฟ้าฟรีกับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ติดตั้งมิเตอร์ไม่เกิน 5 แอมป์ (ประเภทที่ 1.1 ของการไฟฟ้านครหลวง และประเภทที่ 1.1.1 ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค) จาก 50 หน่วยต่อเดือนเป็น 90 หน่วยต่อเดือน โดยมอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานดำเนินการโดยให้ใช้เงินเรียกคืนรายได้เพื่อให้การไฟฟ้า มีฐานะการเงินตามเกณฑ์ที่กำหนดมาเป็นแหล่งเงินในการสนับสนุนการดำเนินการ 2.เห็นชอบการขยายระยะเวลาการชำระค่าไฟฟ้าให้ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ติดตั้งมิเตอร์ไม่เกิน 5 แอมป์ (ประเภทที่ 1.1 ของการไฟฟ้านครหลวง และประเภทที่ 1.1.1 ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค) เป็นระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือนของแต่ละรอบบิลสำหรับใบแจ้งค่าไฟฟ้าประจำเดือนเม.ย. ถึงเดือนมิ.ย. 63 โดยให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ขยายระยะเวลาการชำระค่าไฟฟ้าให้การไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคโดยไม่มีเบี้ยปรับ โดยกระทรวงมหาดไทยพิจารณาแล้ว เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อระบบเศรษฐกิจในหลายส่วนทั้งภาคครัวเรือน ธุรกิจ และอุตสาหกรรม โดยคาดว่าจะมีประชาชนจำนวนมากย้ายถิ่นฐานกลับไปยังภูมิลำเนา รวมถึงการทำงานภายในที่พักอาศัย (Work From Home) ทำให้การใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผู้ใช้ไฟฟ้าที่เดิมเคยได้รับสิทธิค่าไฟฟ้าฟรี จำนวน 50 หน่วยไม่ต้องชำระค่าไฟฟ้า จะไม่ได้รับสิทธิดังกล่าว เป็นผลให้มีภาระต้องชำระค่าไฟฟ้า ซึ่งในสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันผู้ใช้ไฟฟ้ากลุ่มดังกล่าวอาจไม่สามารถชำระค่าไฟฟ้าได้ กระทรวงมหาดไทยจึงได้มีข้อเสนอมาตรการช่วยเหลือผู้ใช้ไฟฟ้าที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เพิ่มเติม โดยประโยชน์ที่ได้รับจากการดำเนินมาตรการดังกล่าวจะเป็นการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้า เป็นวงเงิน ประมาณ 9,375 ล้านบาท ดังนี้ 1. ค่าไฟฟ้าฟรี ระยะเวลา 3 เดือน (เดือนเม.ย. - มิ.ย. 63) ผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน รวม 3,029 ล้านบาท (กฟน. 74 ล้านบาท กฟภ. 2,955 ล้านบาท) จำนวนประชาชนที่ได้รับประโยชน์ รวม 6.435 ล้านราย (กฟน. 205,272 ราย กฟภ. 6.23 ล้านราย) 2. ขยายระยะเวลาการชำระค่าไฟฟ้า 3 เดือน (เดือนเม.ย. - มิ.ย.63) ผลประโยชน์ ที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน รวม 6,346 ล้านบาท กฟน. 301 ล้านบาท กฟภ. 6,045 ล้านบาท รวม 4.265 ล้านราย กฟน. 165,567 ราย กฟภ. 4.1 ล้านราย