เชิงสารคดี/บูรพา โชติช่วง : เกร็ดความรู้นำเรื่อง “ตึกถาวรวัตถุ” ถนนหน้าพระธาตุ
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จเถลิงถวัลยสิริราชสมบัติในปีพุทธศักราช 2411 ทรงประกอบพระราชกรณียกิจเพื่อพัฒนาประเทศและรักษาบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรืองนานัปการ ทั้งในด้านการบริการราชการแผ่นดิน การปกครอง การต่างประเทศ โดยเฉพาะการพระพุทธศาสนา ทรงมีพระราชดำริประการหนึ่งว่าจะทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองถาวรด้วยการส่งเสริมให้ตั้งวิทยาลัยสำหรับเล่าเรียนพระไตรปิฎกและวิชาชีพชั้นสูงขึ้น 2 แห่งคือ มหามกุฎราชวิทยาลัย ตั้งอยู่บริเวณวัดบวรนิเวศวิหาร สำหรับพระสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย อีกแห่งหนึ่งเป็นสถานที่เล่าเรียนของพระสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ ณ วัดมหาธาตุ พระราชทานนามว่า มหาธาตุราชวิทยาลัย ทรงเริ่มตั้งขึ้นตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2432 แต่ติดขัดด้วยสถานที่สำหรับพระสงฆ์เล่าเรียนของมหาธาตุราชวิทยาลัยนั้นยังไม่เหมาะสมจึงมีกระแสพระราชดำริที่จะสร้างสถานที่ศึกษาขึ้นใหม่ แต่ก็ยังหาได้เริ่มดำเนินการทันทีในขณะนั้นไม่
ครั้นเมื่อปีพุทธศักราช 2437 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จทิวงคต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชปรารภว่า ตามโบราณราชประเพณีแล้วเมื่อพระบรมวงศานุวงศ์ที่ดำรงพระเกียรติยศชั้นสูงสวรรคตจะต้องสร้างพระเมรุขนาดใหญ่ตามพระเกียรติยศ ณ บริเวณท้องสนามหลวง เพื่อเชิญพระศพขึ้นประดิษฐานพระราชทานเพลิง ณ พระเมรุนั้น แต่การสร้างพระเมรุขนาดใหญ่นั้นเป็นการสิ้นเปลืองพระราชทรัพย์และแรงงานในสิ่งอันไม่คงทนถาวรเพื่อใช้งานเพียงครั้งเดียว เสร็จแล้วก็ต้องรื้อถอนไปไม่เป็นประโยชน์อย่างใด
ในครั้งนี้มีความจำเป็นต้องสร้างพระเมรุขนาดใหญ่ขึ้นอีกจึงโปรดเกล้าฯ ให้คิดการสร้าง “ถาวรวัตถุสถาน” ขึ้นแทนการสร้างพระเมรุขนาดใหญ่ เมื่อเสร็จสิ้นงานพระศพแล้วจะได้ยกถาวรวัตถุสถานนี้ให้เป็นสถานศึกษาสำหรับเล่าเรียนของพระภิกษุสามเณรเรียกว่า “สังฆิกเสนาสน์ราชวิทยาลัย” และหากคราวที่มีงานพระศพซึ่งต้องสร้างพระเมรุขนาดใหญ่ในท้องสนามหลวงอีกจึงจะใช้ตึกวิทยาลัยแห่งนี้เป็นที่ตั้งพระศพ โดยจะสร้างแต่พระเมรุน้อยสำหรับใช้ในการพระราชทานเพลิงเท่านั้น รวมถึงทรงมีพระราชดำริล่วงหน้าว่าแม้งานพระบรมศพก็จะให้เป็นเช่นนั้นด้วย
สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัดติวงษ์ “สมเด็จครู” นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม
จึงทรงมีพระบรมราชโองการฯ ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัดติวงษ์ “สมเด็จครู” นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม ผู้ทรงเป็นของเหล่าช่างศิลปะไทยทุกแขนง เป็นผู้อำนวยการและออกแบบเป็นวิทยาลัยยอดปรางค์ 3 ยอด สร้างขึ้นบริเวณด้านหน้าวัดมหาธาตุติดต่อกับท้องสนามหลวง โดยใช้พื้นที่ตั้งแต่มุมวัดด้านทิศใต้ไปจรดมุมพระระเบียงคดด้านทิศเหนือ และจำเป็นต้องรื้อสิ่งก่อสร้างเดิมในบริเวณวัดนั้นออกคือ กำแพง ประตูด้านหน้า ศาลาราย และกุฏิจำนวนหนึ่ง แล้วจึงเริ่มดำเนินการก่อสร้างเรื่อยมา โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จทรงวางศิลาฤกษ์ ณ วันที่ 13 กันยายน พุทธศักราช 2439
ภายหลังจากทรงวางศิลาฤกษ์และจับการก่อสร้างมาได้ 4 ปีเศษ ในเดือนมกราคม พุทธศักราช 2443 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชกำหนดให้มีการพระราชทานเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ แต่ขณะนั้นอาคารถาวรวัตถุยังสร้างไม่เสร็จ ติดขัดด้วยกระเบื้องมุงหลังคาที่สั่งทำจากประเทศจีนทำเข้ามาผิดรูปแบบ ทำให้ใช้มุงตามแบบที่กำหนดไว้แต่เดิมไม่ได้ ทรงเห็นว่าไม่ควรรั้งรออีกต่อไปจึงทรงมีพระบรมราชโองการให้จัดการพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ด้วยการใช้สถานที่พระอุโบสถของวัดบวรสถานสุทธาวาสในบริเวณพระราชวังบวรสถานมงคลเป็นพระเมรุพิมานสำหรับตั้งพระศพ และปลูกพระเมรุน้อยสำหรับพระราชทานเพลิงต่อออกไปทางบริเวณที่ว่างด้านทิศเหนือ การก่อสร้างตึกถาวรวัตถุจึงค้างเลยมาจนตลอดรัชกาลที่ 5
ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงมีพระราชดำริว่า ตึกใหญ่ริมถนนหน้าพระธาตุที่เรียกกันว่า “ตึกถาวรวัตถุ” ซึ่งโปรดฯให้สร้างขึ้นเป็นสังฆิกเสนาสน์ราชวิทยาลัยนั้น การค้างมานานหากสร้างให้สำเร็จแล้วจะเป็นสง่าแก่พระนคร เป็นที่เฉลิมพระเกียรติยศและสมควรเป็นสถานที่ทำราชการที่สำคัญได้แห่งหนึ่งจึงโปรดฯให้สร้างต่อมาจนสำเร็จ และใช้สถานที่นี้เป็นหอพระสมุดสำหรับพระนครสืบไป
ปัจจุบันตึกถาวรวัตถุ หรือที่เรียกกันอีกชื่อว่า ตึกแดง จัดแสดงนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว




