นายมโน คงรงค์ อายุ 54 ปี หมอดินอาสาประจำตำบล ต.เขาต่อ อ.ปลายพระยา จ.กระบี่ ใช้ประโยชน์พื้นที่ทางการเกษตร จำนวน 1.2 ไร่ ในการปลูกถั่วพู สร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า 1 แสนบาทต่อปี โดยได้รับคำแนะนำ การสนับสนุนปัจจัยการผลิต เทคโนโลยีชีวภาพในการผลิตปุ๋ยจากวัสดุธรรมชาติใช้เองจาก กรมพัฒนาที่ดิน เพื่อลดต้นทุนการผลิต ถั่วพูเป็นพืชปลูกง่าย เจริญเติบโตได้ดีในทุกพื้นที่ เป็นพืชที่เติบโตเร็ว เก็บผลผลิตได้ต่อเนื่องเป็นระยะเวลายาวนาน ปัญหาเรื่องโรคและแมลงศัตรูพืช ที่เข้าทำลายมีน้อย สามารถสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะช่วงหน้าแล้ง ถั่วพูจะมีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 100-200 บาท นายประสิทธิ์ แสงภักดี ผู้อำนวยการสถานีพัฒนาที่ดินกระบี่ กล่าวว่า พื้นที่การเกษตรของจังหวัดกระบี่ มีทั้งหมดประมาณ 1.8 ล้านไร่ มีพืชหลัก 2 ชนิด ได้แก่ ปาล์มน้ำมัน และยางพารา โดยพืชเศรษฐกิจหลักที่เกษตรกรในจังหวัดกระบี่ ได้ทำการเพาะปลูก เมื่อก่อนราคาดี ความเป็นอยู่ของเกษตรกรก็ดีตามไปด้วย แต่มาระยะหลังๆ พืชเศรษฐกิจทั้งสองชนิดนี้ มีราคาผันผวน ตกต่ำ โดยเฉพาะยางพารา ราคาตกต่ำมานาน เกษตรกรมีความเดือดร้อน มีหนี้สิน อนาคตก็ไม่มีความแน่นอนว่าราคาจะกลับมาดีอย่างเดิม ทั้งนี้ มองว่าการทำเกษตร ตั้งแต่อดีตมา ส่วนใหญ่จะเป็นพืชเชิงเดี่ยว จึงได้แนะนำหมอดินอาสา ซึ่งเป็นตัวแทนเกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียง ให้ใช้การบริหารจัดการพื้นที่ โดยการวางแผนการใช้ที่ดิน คือไม่ทิ้งพืชเศรษฐกิจหลัก ปาล์มน้ำมัน และยางพารา เพียงแต่ลดพื้นที่ในการปลูกลง พร้อมกับทำเกษตรแบบผสมผสาน โดยใช้แนวทางตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยบริบทหลักของจังหวัดกระบี่ คือเป็นแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งเป็นจุดแข็งของจังหวัด เพราะฉะนั้นการทำเกษตรผลิตพืชอาหารเพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งมองว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ นายมโน คงรงค์ อายุ 54 ปี หมอดินอาสาประจำ ต.เขาต่อ อ.ปลายพระยา จ.กระบี่ กล่าวว่า ตั้งแต่เริ่มต้นทำการเกษตร ก็ปลูกพืชหลากหลาย เมื่อมีนักวิชาการของกรมพัฒนาที่ดินเข้ามาให้คำแนะนำการบริหารจัดการดิน ส่งเสริมและสนับสนุนให้ผลิตปุ๋ยใช้เองจากวัสดุธรรมชาติในท้องถิ่น โดยใช้เชื้อจุลินทรีย์จากสารเร่ง พด.1 พด.2 ได้เป็นหมอดินอาสาประจำตำบล มีการเรียนรู้ทำปุ๋ยหมักน้ำหมัก โดโลไมท์ นำมาปรับสภาพดิน ก็ทำต่อเนื่องมาตลอด จากเมื่อก่อนที่ต้องซื้อปุ๋ยราคาแพงๆ ก็ทำให้ลดต้นทุนการผลิตลงได้ มีรายได้เพิ่มขึ้น มีโอกาสได้ไปศึกษาดูงาน แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนหมอดินอาสาในหลายๆ พื้นที่จากการอบรมหมอดินอาสาประจำปี ก็มีแนวคิดใหม่ๆ ได้นำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่ของตนเองจนประสบความสำเร็จอย่างที่เห็น เมื่อก่อนปลูกแตง ปลูกผัก ปลูกมะเขือ แล้วเปลี่ยนมาปลูกถั่วพู เนื่องจากเห็นว่าราคาถั่วพูในท้องตลาดค่อนข้างคงที่ ไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมีในการควบคุมศัตรูพืชมากนัก เนื่องจากถั่วพูเป็นผักพื้นบ้าน เก็บรักษาได้นานถึง 4-5 วัน โดยเก็บไว้ที่ร่ม เก็บส่งตลาดเฉลี่ยประมาณ 50-60 กิโลกรัม/วัน ช่วงถั่วพูขาดตลาดโดยเฉพาะหน้าแล้งอย่างตอนนี้ ขายได้ราคากิโลกรัมละ 100-200 ก็มี กว่าจะประสบความสำเร็จในการผลิตถั่วพูก็ผ่านการศึกษาเรียนรู้ ลองผิดลองถูกมาเยอะพอสมควร อย่างเรื่องเก็บเรื่องรักษาคุณภาพผลผลิต การขนส่งก็สำคัญ จากการทำบัญชีครัวเรือน พบว่า ถั่วพู 1 ไร่ มีรายได้ประมาณ 170,000 บาทต่อปี ได้ผลตอบแทนต่อไร่คุ้มค่ากว่าปลูกพืชชนิดอื่น ผมเลยเลือกปลูกถั่วพูมาตั้งแต่ ปี พ.ศ.2545 มาจนถึงปัจจุบัน ด้านนางสาวลดาวัลย์ นักฟ้อน นักวิชาการเกษตรชำนาญการ จ.กระบี่ กล่าวว่า ดินที่นี่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำโดยธรรมชาติ จำเป็นต้องมีการปรับปรุงบำรุงดินอย่างถูกต้องและเหมาะสม ได้ให้คำแนะนำ และและส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตปุ๋ยใช้เอง โดยพัฒนาที่ดินได้สนับสนุนปัจจัยการผลิต ซึ่งเป็นวัสดุในท้องถิ่น อย่างเช่น ทลายปาล์มน้ำมัน มูลสัตว์ มาผลิตปุ๋ยหมักโดยใช้สารเร่ง พด.1 และน้ำหมักชีวภาพโดยสารเร่ง พด.2 เพื่อเพิ่มธาตุอาหารและฮอร์โมนที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช ทั้งไม้ผล มังคุด ทุเรียน หรือพืชผักจำพวกไม้ใบ ถั่วพู ก็เช่นกัน พืชผัก ผลไม้ที่ผลิตได้ก็ปลอดสารพิษตกค้าง บริโภคปลอดภัย ขายได้ราคาสูงกว่าพืชผักตามท้องตลาด เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิตลงได้ ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ไม่ต้องซื้อปุ๋ยราคาแพงๆ ในปริมาณที่มากเกินพออีกต่อไป