เชิงสารคดี/บูรพา โชติช่วง: กรมสมเด็จพระเทพฯ ผู้ทรงงานสมบัติศิลปวัฒนธรรมของชาติ “โบราณคดีที่ทรงรัก” วันที่ 2 เมษายน วันคล้ายวันพระราชสมภพสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และในวันนี้ยังเป็นวันอนุรักษ์มรดกไทย สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงสนพระราชหฤทัยในงานด้านศิลปวัฒนธรรมของชาติเสมอมา หนึ่งในงานด้านนั้นคือโบราณคดี โปรดเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมชมแหล่งโบราณคดีและโบราณสถานในประเทศอยู่เนืองๆ และทุกครั้งที่เสด็จฯ ไปทรงปฏิบัติพระราชภารกิจยังต่างประเทศ จะเสด็จไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์และแหล่งโบราณคดี ภาพที่คุ้นชินตาชาวไทยคือ พระองค์ทรงจดบันทึกความรู้และทรงสอบถามนักโบราณคดี นักภัณฑารักษ์ในเรื่องนั้นๆ ในที่นี้ขอนำเนื้อหาบางตอน “โบราณคดีที่ทรงรักทรงรักษา” ในหนังสือกรมศิลปากร 2558 และภาพมาเผยแพร่ พระองค์ทรงสนพระราชหฤทัยในประวัติศาสตร์โบราณคดีนับแต่ทรงพระเยาว์ ทรงเล่าถึงกิจกรรมสำคัญที่ต้องพระราชหฤทัยอย่างหนึ่ง คือ การศึกษาโบราณคดี หรือประวัติศาสตร์ ในครั้งนั้นสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเชิญศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล เพื่อถวายคำบรรยายในเรื่องโบราณคดี และนำเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เมื่อทรงเจริญพระชันษาทรงเลือกสาขาวิชาประวัติศาสตร์เป็นวิชาเอกในการศึกษาปริญญาตรี ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และทรงศึกษาต่อในระดับปริญญาโท สาขาวิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยานิพนธ์ในระดับปริญญาโท เรื่อง จารึกปราสาทพนมรุ้ง นับเป็นพระราชนิพนธ์ที่ทรงคุณค่าในทางวิชาการ ไม่เฉพาะเพียงเรื่องราวศิราจารึกที่เป็นภาษาตะวันออกเท่านั้น หากยังเกี่ยวข้องกับเรื่องราวทางโบราณคดีของโบราณสถานปราสาทพนมรุ้งด้วย ทอดพระเนตรหลักฐานทางโบราณคดี จากการขุดค้นที่วัดชมชื่น จังหวัดสุโขทัย พ.ศ.2537 ความสนพระราชหฤทัยใฝ่รู้ และทรงศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมด้วยพระองค์เอง เมื่อทรงมีโอกาสนำสรรพวิทยาที่ทรงเรียนรู้มาถ่ายทอด ในการรับราชการที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ปี พ.ศ.2523 เป็นต้นมา จึงทรงเลือกสอนวิชาประวัติศาสตร์และอารยธรรมไทยให้แก่นักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า เพื่อปลูกฝังความรัก ความภาคภูมิในประวัติความเป็นมาของชาติและบรรพชนไทย นอกจากพระองค์ทรงสอนในห้องเรียนแล้ว ยังทรงมีพระราชดำริว่า การศึกษาด้วยการฟังบรรยาย การอ่านหนังสือ หรือศึกษาจากสไลด์ภาพนิ่ง หรือสื่ออื่นใดนั้น ไม่สามารถให้ภาพที่แท้จริงได้ จึงทรงจัดกิจกรรมทัศนศึกษาประกอบในการสอน นำคณาจารย์และนักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าไปทัศนศึกษาพื้นที่ต่างๆ ของประเทศไทย ในแต่ละครั้งทรงนำนักเรียนของพระองค์ไปยังสถานที่สำคัญทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ ดังที่ได้พระราชทานสัมภาษณ์เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พุทธศักราช 2537 ความตอนหนึ่งว่า ทรงฟังบรรยายสรุป และทอดพระเนตรแผนผัง ภาพถ่ายเกาะแก่งหินของโซกพระแม่ย่า (เหมืองยายอึ่ง) “...การบรรยายถ่ายทอดความรู้ของอาจารย์ให้นักเรียน การเปิดโอกาสให้นักเรียนมีส่วนร่วมออกความคิดเห็น การให้นักเรียนอ่านหนังสือ การค้นคว้าในห้องสมุด การไปศึกษาค้นคว้าต่อในสถาบันที่มีข้อมูล เช่น หอจดหมายเหตุ หรือการออกไปสัมภาษณ์ การออกไปสังเกตการณ์ ออกไปเห็นอะไรๆ ให้กว้างขวาง และรู้จักโยงวิชาการต่างๆ ที่ได้เรียนรู้มาเข้าด้วยกัน ประวัติศาสตร์ คือ ศาสตร์ที่ว่าด้วยความเป็นมา ไม่จำเป็นจะต้องเป็นเรื่องอดีตที่ห่างไกลอย่างเดียว ความเป็นมาทุกๆ นาทีที่เปลี่ยนไปก็ถือว่าเป็นประวัติศาสตร์ โดยคิดอย่างกว้างที่สุด...เพราะว่าเป็นปัจจัยของชีวิตด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นความเป็นอยู่ วัฒนธรรม ประเพณี หรือว่าเทคโนโลยี การเรียนรู้นอกห้อง...การจัดแต่ละครั้งต้องการให้นักเรียนได้รับความรู้ทั่วไปทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ โบราณคดี ชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนในท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรม ความมั่นคงและการทหาร วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม เรื่องอาชีพราษฎรเป็นเรื่องที่เน้นมากตลอดเวลา...” ทรงฟังบรรยายเกี่ยวกับทำนพพระร่วง สุโขทัย ในการเสด็จพระราชดำเนินแต่ละครั้ง ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ข้าราชการ นักโบราณคดีผู้ปฏิบัติงานของกรมศิลปากรเป็นวิทยากรนำชม รวมทั้งพระราชทานแนวพระราชดำริในการจัดพิมพ์เอกสารประกอบการทัศนศึกษาในแต่ละครั้ง โดยทรงพระราชนิพนธ์ คำนำ และเป็นบรรณาธิการในการจัดพิมพ์เอกสารนั้นด้วยพระองค์เอง ทรงสนพระราชหฤทัยอย่างจริงจังในงานโบราณคดี และการอนุรักษ์โบราณสถาน แนวพระราชดำริที่พระราชทานถือเป็นแนวทางในการอนุรักษ์และพัฒนาแหล่งโบราณคดี โบราณสถานอย่างยั่งยืน ทอดพระเนตรบ่อศิลาแลง