เมื่อวันที่ 1 เม.ย.63 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ จ.นครพนม ในช่วงนี้ ผลกระทบจากวิกฤติจากเชื้อไวรัสโควิด-19 ระบาด ได้ ขยายวงกว้าง ส่งผลกระทบ ทั้งภาคเศรษฐกิจการค้าการท่องเที่ยว รวมไปถึงอาชีพกลุ่มเสี่ยง ทำให้ขาดรายได้ โดยเฉพาะ ชาวบ้านในพื้นที่ บ้านตาล ต.นาหว้า อ.นาหว้า จ.นครพนม ถือเป็น หนึ่งเดียวในไทย ที่ชื่อว่า "หมู่บ้านอาชีพปริศนา" เนื่องจาก มีอาชีพแปลก ที่ยึดถือสร้างรายได้ มากว่า 20 -30 ปี โดยจะมีอาชีพแปลกตามฤดูกาล ประกอบด้วย ช่วง ฤดูฝน จะมีการแปรรูปปลิง ส่วนฤดูหนาว จะมีการรับซื้อไส้เดือนแปรรูป ตากแห้ง รวมถึง ฤดูร้อน ตั้งแต่ ช่วงเดือน มี.ค. ไปจนถึงฤดูฝน จะมีอาชีพแปลก ในการ รับซื้อตุ๊กแก ตากแห้ง ส่งออกขาย ไปต่างประเทศ มีออเดอร์รับจาก จีน ไต้หวัน เพื่อนำไปปรุงเป็นยา สร้างรายได้ หมุนเวียนสะพัด ปี ละ 50 – 100 ล้านบาท สร้างรายได้ ให้กับชาวบ้านมายาวนาน แต่ภายหลังเกิดโรคไวรัสร้ายโควิด 19 ระบาด ได้ส่งผลกระทบหนัก ต่อหมู่บ้านอาชีพปริศนา ยิ่งในช่วงฤดูร้อน ชาวบ้าน กว่า 400 -500 ครัว เรือน ตั้งเป้า ที่จะทำรายได้ สวนกระแสพิษเศรษฐกิจ ในการ รับซื้อตุ๊กแก ไส้เดือน มาส่งขาย ไปต่างประเทศ ปลายทาง จีน ไต้หวัน แต่ช่วงเกิดผลกระทบ ทำให้ มีการปิดออเดอร์ รับซื้อไม่มีกำหนด ส่งผลให้ ชาวบ้าน ขาดรายได้ เพราะไม่สามารถที่จะส่งออกไปขายได้ บางราย มีการแปรรูปไว้ล่วงหน้า บางส่วน ต้องขาดทุน และหาทางสต็อกไว้ขาย ทั้งนี้ในส่วนของ ไส้เดือนตากแห้ง ส่งออก จะอยู่ที่ราคากิโลกรัมละ 200 -250 บาท แต่ละปี จะมีรายได้สะพัดไม่ต่ำกว่า 30 -40 ล้านบาท ส่วน ตุ๊กแกแปรรูป ส่งออก จะ มีราคา ประมาณตัวละ 40 -50 บาท ตามขนาด แต่ละปี จะมีรายได้ หมุนเวียนจากอาชีพ ตุ๊กแก ตากแห้ง ส่งออก ปีละ 30 -40 ล้านบาท บางครอบครัว สามารถทำเงินเดือนละ 40,000 – 50,000 บาท จากการขายเมนูแปลก ซึ่งหลังจากเกิดวิกฤติโควิด ทำให้ชาวบ้านอาชีพแปลก ฝันสลาย บางรายแบกภาระหนี้สิน ต้องหาอาชีพอื่นมาชดเชย นายยงยุทธ ปาทา อายุ 56 ปี รองนายก อบต.นาหว้า อ.นาหว้า จ.นครพนม เปิดเผยว่า สำหรับชาวบ้านตาล ต.นาหว้า อ.นาหว้า จ.นครพนม ถือเป็นหมู่บ้านอาชีพแปลก ที่สืบทอดอาชีพแปลกมานานกว่า 20 -30 ปี หลังมี พ่อค้าชาว จีน ชาวไต้หวัน เข้ามาติดต่อซื้อขาย ร่วมกับพ่อค้า คนกลาง จนมีการขยายทำอาชีพเกือบทั้งหมู่บ้าน นอกจากการทำไร่ทำนา ยังมีอาชีพหลัก เกี่ยวกับอาชีพปริศนา ตามฤดูกาล หมุนเวียนตลอดปี ทั้ง อาชีพ ไส้เดือน ปลิง และตุ๊กแก แปรรูปตากแห้ง ส่งออก สร้างเงินสะพัดปีละเกือบ 100 ล้านบาท ยิ่งในช่วงฤดูแล้งปีนี้ ตั้งเป้า จะทำรายได้ ช่วงเศรษฐกิจซบเซา แต่ผิดหวังหลังจากโรคโควิดระบาด ทำให้ จีน และ ไต้หวัน งดรับ ออเดอร์ ส่งผล กระทบต่อชาวบ้าน บางรายเตรียม วางแผนสต็อกการแปรรูปไว้ขาย ทยอยทำมาก่อนนี้ แต่ไม่สามารถส่งออกขายได้ และไม่มีผู้รับซื้อ ต้องแบกภาระหนี้สิน ทั้งภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือ รวมถึงหนี้สินของสถาบันทางการเงิน ที่นำเงินมาลงทุน นายยงยุทธ กล่าวว่า ยิ่งช่วงนี้หลังเกิดโรคระบาดกระทบทุกด้าน ไปไหนมาไหน ลำบาก ซ้ำร้ายยังไม่สามารถทำอาชีพที่สร้างรายได้ มาตลอด ยิ่งเดือดร้อนหนัก ซึ่งจะต้องหาทาง ทำอาชีพเสริมชดเชย เพราะไม่แน่ใจว่าจะมีการปิดรับออเดอร์ไปนานแค่ไหน อย่างไรก็ดีอยากให้ ทางหน่วยงานเกี่ยวข้อง เข้ามาช่วยเหลือส่งเสริมอาชีพเสริม เพื่อให้มีรายได้ต่อไป