ด้วยปัจจุบันสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบในวงกว้างในหลายประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย ทำให้ภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทย ซึ่งรัฐบาลก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ติดตามและให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่องและใกล้ชิด เพื่อนำไปสู่การออกมาตรการดูแลและเยียวยาทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยเฉพาะมาตรการบรรเทาผลกระทบและเสริมสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการ ที่ครอบคลุมการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการ เร่งช่วยเยียวยาธุรกิจโรงแรม ทั้งนี้ นายก้องศักดิ์ คู่พงศกร นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ กล่าวถึงผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ว่า โรคดังกล่าวได้ส่งผลกระทบถึงธุรกิจสายการบิน ธุรกิจนำเที่ยว ร้านอาหาร สปา เป็นต้น แต่จากมาตรการของรัฐบาลที่ออกมาช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบด้านแรงงาน ลูกจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว และผู้ประกอบอาชีพอิสระจากสถานการณ์ดังกล่าวนั้น ยังไม่ครอบคลุมในส่วนของธุรกิจโรงแรม ดังนั้นเพื่อเป็นการช่วยเหลือแรงงานในกลุ่มของโรงแรม ที่พัก ที่ได้รับความเดือดร้อน ทางสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ ได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ผ่านทางผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เพื่อขอให้มีการออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการโรงแรมในสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด -19 เพราะการเยียวยาครอบคลุมเฉพาะธุรกิจที่รัฐสั่งให้ปิดกิจการ ในขณะที่ธุรกิจโรงแรมแม้ได้ได้สั่งปิด แต่หลายแห่งก็มีความจำเป็นต้องหยุดกิจการทั้งหมด อย่างไรก็ตาม นายก้องศักดิ์ กล่าวต่อว่า ทางผู้ประกอบการได้คาดการณ์ ว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิค-19 นี้จะส่งผลกระพบต่อธุรกิจท่องเที่ยว เป็นระยะเวลานานเกินกว่า 6 เดือน ก่อนที่นักท่องเที่ยวจะเริ่มเดินทางกลับมาท่องเที่ยวได้ ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว นายจ้างไม่มีรายได้มากพอที่จะดำเนินการตามมาตรา 75 ของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานได้ ถึงแม้จะมี แหล่งเงินกู้เข้ามาสนับสนุนก็เพียงบรรเทาได้ชั่วคราว ขณะเดียวกันก็เป็นภาระค่าใช้จ่ายที่ทางผู้ประกอบการต้องแบกรับในระยะยาวด้วย โดย นายก้องศักดิ์ กล่าวต่อว่า ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน มาตรา 35 กรณีที่นายจ้างมีความจำเป็นโดยเหตุหนึ่งเหตุใดที่สำคัญอันมีผลกระทบต่อการประกอบกิจการของนายจ้าง จนทำให้นายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ ซึ่งมิใช่เหตุสุดวิสัยต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราว ให้นายจ้างจ่ายเงินให้แก่ถูกจ้างไม่น้อยกว่า 75% ของค่าจ้างในวันทำงานที่ลูกจ้างได้รับก่อนนายจ้างหยุดกิจการ ตลอดระยะเวลาที่นายไม่ได้ให้ลูกจ้างทำงาน ดังนั้นในกรณีที่รัฐบาลไม่ได้ประกาศให้ปิดสถานประกอบการโรงแรม จึงมิใช่เหตุสุดวิสัยนายจ้างต้องจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างในอัตรา 75% ของค่าจ้าง ซึ่งเมื่อพิจารณาถึงสถานการณ์ปัจจุบันที่ไม่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศเลย ดังนั้นทาง รัฐบาล ควรพิจารณาหามาตรการเยียวยา เช่น อาจเปิดให้ดำเนินการลงทะเบียนและช่วยเหลือชดเชยค่าจ้างในส่วนที่ต่ำกว่า 50% เป็นการเฉพาะรายเป็นระยะเวลา 180 วัน เนื่องจาก ผู้ประกอบการโรงแรมได้รับผลกระทบจากปัญหาสงครามการค้าโลกมาตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2562 จนทำให้ขาดสภาพคล่องทางการเงินอย่างรุนแรง โดยผู้ประกอบการเองได้พยายามอย่างสุดความสามารถในการลดค่าใช้จ่ายเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อไม่ให้กระทบต่อผู้ใช้บริการเละพนักงานมากนัก อีกทั้งทำให้สถานประกอบการยังคงดำเนินกิจการได้อย่างต่อเนื่อง ลดความตึงเครียดภาคท่องเที่ยว ขณะที่ นายธเนศ ศุภรสหัสรังสี รักษาการประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวชลบุรี ได้กล่าวว่า ทางสมาคมต่างๆ ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดชลบุ ได้ปรึกษาหารือกับนายกเมืองพัทยา เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในภาคส่วนท่องเที่ยวจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ซึ่งประกอบด้วยเรื่องต่างๆ ดังนี้ 1. กรณีหยุดกิจการชั่วคราวจากผลกระทบดังกล่าว ให้ทางกองทุนประกันสังคมจ่ายชดเชยลูกจ้างในอัตรา 70 % เป็นระยะเวลาสูงสุด 180 วัน 2. ยกเว้นการจ่ายเงินสมทบประกันสังคมทางฝั่งนายจ้างและลูกจ้างเป็นระยะเวลา 180 วัน โดยให้กระทรวงแรงงานเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ 3. ยกเว้นการจัดเก็บภาษีที่ดินภาษีป้ายภาษีบำรุงท้องที่ในปี พ.ศ. 2563 กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ 4. ขอลดอัตราดอกเบี้ย 50% จากธนาคารพาณิชย์ที่ทางเอกชนกู้อยู่ โดยภาครัฐเป็นผู้ชดเชยส่วนลดให้ผู้รับผิดชอบโดยกระทรวงการคลัง 5. ของดจ่ายค่าน้ำประปาและค่าไฟฟ้าไปจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายเข้าสู่สภาวะปกติ (เป็นมาตรการของประเทศสาธารณรัฐเกาหลีและสาธารณรัฐประชาชนจีนใช้เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ท6. ค่าใช้จ่ายในการซื้อผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดฆ่าเชื้อโรคและอุปกรณ์สำหรับการดำเนินการป้องกันโควิด-19 สามารถนำมาหักลดหย่อนค่าใช้จ่ายได้ 3 เท่า ทั้งนี้ข้อเสนอตามมาตรการดังกล่าว จะสามารถช่วยและลดความตึงเครียดให้ภาคธุรกิจท่องเที่ยวและบริการที่ทำรายได้ให้กับประเทศในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก และ มีการจ้างงานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยถึง 4.3 ล้านตำแหน่ง หรือคิดเป็น 23.5% ของการจ้างงานในปี 2562 และยังเกี่ยวเนื่อง กับธุรกิจอื่นๆ อาทิ การขนส่ง ไกด์ทัวร์ ภาคการเกษตร ยังคงรักษาการจ้างงานต่อไปได้ ไม่เป็นการซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจสังคม และลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อโควิด-19