เมื่อวันที่ 31 มี.ค. นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า ในขณะนี้สถานการณ์ไวรัสโคโรนา (Covid-19) มีการแพร่ระบาดไปอย่างกว้างขวาง รวมถึงประเทศไทย โดยรัฐบาลได้มีนโยบาย อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ เพื่อเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จึงดำเนินมาตรการป้องกันไวรัสโคโรนา (Covid-19) เพื่อสนองนโยบายภาครัฐ โดยมีมาตรการลดวันปฏิบัติงาน หรือการปฏิบัติงานเหลื่อมเวลา เพื่อสนับสนุนหลักการ Social Distancing หรือการพบปะกันให้น้อยลง เพื่อควบคุมในเรื่องของการแพร่เชื้อ ซึ่งกรมฝนหลวงฯ มีการกำหนดหลักเกณฑ์และนโยบายสำหรับเจ้าหน้าที่ส่วนกลาง โดยเฉพาะสตรีมีครรภ์และบุคคลที่มีโรคประจำตัว สามารถปฏิบัติงานที่บ้านได้และยังคงประสิทธิภาพในการทำงานเหมือนเดิม ส่วนบุคคลท่านอื่น กรณีต้องมาปฏิบัติงานที่กรมฯ สามารถเลือกปฏิบัติงานสลับเวลาเช้า-บ่าย หรือสลับวันปฏิบัติงาน สำหรับเจ้าหน้าที่ซึ่งมีความจำเป็นต้องเดินทางมาปฏิบัติงาน โดยรถสาธารณะ กรมฝนหลวงฯ ได้จัดที่พักให้ภายในกรมฯ เพื่อลดโอกาสเสี่ยงจากการติดเชื้อจากการเดินทาง โดยรถสาธารณะ ตลอดจนการจัดโครงการอาหารกลางวันอิ่มละ 20 บาท เพื่อลดและป้องกันการเสี่ยงติดเชื้อไวรัสจากการออกไปซื้ออาหารหรือการสั่งอาหารจากภายนอก ด้วยกรมฝนหลวงฯ เป็นหน่วยงานขนาดเล็ก และมีพื้นที่น้อยไม่เพียงพอสำหรับการจัดตั้งโรงอาหาร จึงมีการจ้างแม่ครัวที่มีการตรวจสอบว่าไม่เป็นผู้อยู่ในภาวะเสี่ยงหรือติดเชื้อไวรัสโคโรนา (Covid-19) มาทำอาหารให้แก่เจ้าหน้าที่ โดยคนที่เข้าร่วมโครงการต้องจ่ายค่าอาหารท่านละ 20 บาทต่อมื้อ และส่วนต่างทางผู้บริหารเป็นรับผิดชอบ โดยมาตรการนี้ถือเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการป้องกันและควบคุมการแพร่เชื้อไวรัสโคโรนา (Covid-19) และเจ้าหน้าที่ยังสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ​สำหรับการปฏิบัติการฝนหลวงทั่วประเทศ โดย 11 หน่วยปฏิบัติการฯ ยังคงวางแผนในการคลี่คลายสถานการณ์ภัยแล้ง อันนำมาสู่ปัญหาในพื้นที่การเกษตร ทั้งในเรื่องแหล่งน้ำต่างๆ ซึ่งมีปริมาณน้ำค่อนข้างน้อยอย่างมากในปีนี้ รวมถึงการบรรเทาสถานการณ์พายุฤดูร้อนที่กำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งอาจส่งผลในเรื่องของพายุลูกเห็บ ตลอดจนปัญหาไฟป่าและหมอกควัน โดยศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ ยังคงติดตามสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ในพื้นที่ภาคเหนือที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังคงมีอุปสรรคด้านสภาพอากาศที่ยังไม่เหมาะสมต่อการปฏิบัติการฝนหลวง โดยพบว่า ค่าความชื้นสัมพัทธ์อากาศที่ระดับปฏิบัติการ (5,000-10,000 ฟุต) ยังคงมีค่าต่ำกว่า 60% และอากาศยังคงมีเสถียรภาพค่อนข้างมาก ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการยกตัวของมวลอากาศที่จะก่อตัวเป็นเมฆและพัฒนาตัวเป็นกลุ่มเมฆฝนได้ อย่างไรก็ตาม ได้เตรียมความพร้อมในการปฏิบัติการฝนหลวงตลอดเวลา เพื่อช่วยบรรเทาสถานการณ์ดังกล่าวต่อไป สำหรับการปฏิบัติการฝนหลวงเมื่อวานนี้ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ขึ้นบินปฏิบัติการ จำนวน 4 หน่วยปฏิบัติการ ทำให้มีฝนตกบริเวณพื้นที่การเกษตรบางส่วนของจังหวัดศรีสะเกษ จันทบุรี พังงา สุราษฎร์ธานี และพื้นที่ลุ่มรับน้ำอ่างเก็บน้ำพลวง จ.จันทบุรี ​ ด้านแผนการปฏิบัติการฝนหลวงประจำวันที่ 31 มีนาคม 2563 ตามที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยออกประกาศเขตพื้นที่ภัยแล้ง มีจำนวน 23 จังหวัด 139 อำเภอ 714 ตำบล 3 เทศบาล 6,065 หมู่บ้าน/ชุมชน บริเวณพื้นที่ภาคเหนือ จังหวัดเชียงราย พะเยา น่าน อุตรดิตถ์ สุโขทัย และเพชรบูรณ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดหนองคาย บึงกาฬ นครพนม สกลนคร กาฬสินธุ์ มหาสารคาม นครราชสีมา บุรีรัมย์ ชัยภูมิ และศรีสะเกษ ส่วนภาคกลางและภาคตะวันออกจังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ฉะเชิงเทรา และปราจีนบุรี ขณะที่ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่า 30% ของปริมาณน้ำใช้การ เป็นอ่างเก็บน้ำ ขนาดใหญ่ จำนวน 22 แห่ง และอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 182 แห่ง สำหรับจุดความร้อนหรือจุดที่มีการเผาไหม้ (Hotspot) จากดาวเทียม ระบบ MODIS ในประเทศไทยพบว่ามีจำนวน 322 จุด กระจายอยู่บริเวณพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงส่งผลให้ค่าคุณภาพอากาศบริเวณพื้นที่ภาคเหนือมีเกณฑ์ค่าคุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์มีผลกระทบต่อสุขภาพ และเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีเกณฑ์ค่าคุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์มีผลกระทบต่อสุขภาพ เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ และคุณภาพอากาศปานกลางบางพื้นที่ สำหรับพื้นที่ภาคกลาง มีเกณฑ์คุณภาพอากาศดีถึงปานกลาง ส่วนพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีเกณฑ์คุณภาพอากาศดีมากถึงดี และและคุณภาพอากาศปานกลางบางพื้นที่ ด้านแผนที่ปริมาณน้ำฝนสะสม 1 สัปดาห์ (24-30 มี.ค. 63) พบว่า บริเวณพื้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้บางส่วน มีปริมาณน้ำฝนสะสมอยู่ในระดับ 10 - 25 มิลลิเมตร ​สำหรับการติดตามสภาพอากาศเพื่อวางแผนปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ พบว่า สภาพอากาศยังไม่เข้าเงื่อนไขการปฏิบัติการฝนหลวง หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่ดังกล่าว จึงขอติดตามสภาพอากาศระหว่างวัน หากมีการเปลี่ยนแปลงและเข้าเงื่อนไขในการปฏิบัติการฝนหลวง จะวางแผนขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบต่อไปทันที ทั้งนี้ เกษตรกร และพี่น้องประชาชน สามารถขอรับบริการฝนหลวงและติดตามข้อมูลข่าวสารกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ทางเพจ Facebook,Line,Instagram,Twitter และเว็บไซต์กรมฝนหลวงและการบินเกษตร