เมื่อวันที่ 30 เม.ย.นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า หลังจากที่รัฐธรรมนูญ 2560 มีผลใช้บังคับ ปรากฏว่า ในบทเฉพาะกาล มาตรา 264 วรรคสอง บัญญัติว่า หากรัฐมนตรีใดมีลักษณะต้องห้าม ต้องพ้นจากตำแหน่ง ซึ่งในกรณีที่พบคือ มาตรา 170 (5) รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 170 (5) บัญญัติว่า ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวเมื่อกระทำการอันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 186 หรือมาตรา 187 ซึ่งแยกได้ 2 กรณี คือ หนึ่ง กรณีการกระทำอันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 186 ซึ่งโยงไปถึงมาตรา 184 (2) ที่ระบุว่า รัฐมนตรีต้องไม่เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่รับสัมปทานหรือเข้าเป็นคู่สัญญาในลักษณะดังกล่าว ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม สอง กรณีการกระทำอันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 187 ที่ระบุว่า รัฐมนตรีต้องไม่เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทหรือไม่คงไว้ซึ่งความเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทต่อไปตามจำนวนที่กฎหมายบัญญัติ และต้องไม่เป็นลูกจ้างของบุคคลใด นายเรืองไกร กล่าวว่า จากการตรวจสอบข้อมูลที่รัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ฯ แจ้งไว้ต่อ ป.ป.ช. พบว่า มีรัฐมนตรีที่ยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินที่เข้าข่ายต้องห้ามตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ 2560 จำนวน 9 ราย ซึ่งมีแนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 12-14/2553 และคำวินิจฉัยอื่นที่เกี่ยวข้องไว้เป็นบรรทัดฐานอยู่แล้ว และโดยที่มาตรา 170 วรรคสาม กำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ด้วย นายเรืองไกร กล่าวอีกว่า กรณีที่พบข้อมูลจากการแจ้งบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. ของรัฐมนตรีทั้ง 9 รายจึงเป็นเหตุที่ต้องยื่นหนังสือร้องขอให้ กกต. ทำการตรวจสอบโดยเร็วต่อไป และเป็นกรณีที่เคยเกิดขึ้นคล้ายกับรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาลก่อน ๆ ที่เคยมีการร้องให้ กกต. ตรวจสอบมาแล้ว ดังนั้น ตนจะไปยื่นหนังสือร้องต่อ กกต. ให้ตรวจสอบรัฐมนตรีของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ฯ จำนวน 9 ราย ว่าต้องพ้นจากตำแหน่งตามความในมาตรา 264 วรรคสอง ประกอบมาตราอื่นที่เกี่ยวข้อง หรือไม่ โดยจะไปยื่นหนังสือด้วยตนเองในวันที่ 1 พ.ค. เวลา10.30 น. ที่ศูนย์ราชการ ถ.แจ้งวัฒนะ