สสท. ผลักดันแนวคิด ช่วยเหลือสมาชิก สหกรณ์ แบบเพื่อนช่วยเพื่อน ไม่มุ่งเน้นกำไร เพื่อให้ผ่านวิกฤติโควิด-19 ไปด้วยกัน เมื่อวันที่ 31 มี.ค. นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม ประธานสันนิบาตสหกรณ์ กล่าวในช่วงคุยข่าว live สด เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2563 ว่าภายหลังเกิดโรคระบาด เชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ส่งผลกระทบกับประชาชนคนไทยทั่วประเทศ และกระทบกับขบวนการสหกรณ์ สันนิบาตสหกรณ์ไม่ได้นิ่งนอนใจได้พยายาม หาทางช่วยเหลือสมาชิกในทุกด้าน ล่าสุดทางฝ่ายวิชาการสถาบันพิทยาลงกรณ์ ได้ผุดหลักสูตรเรียนวิชากฎหมายผ่านการลงทะเบียน เรียนทางออนไลน์ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายหรือเสียค่าใช้จ่ายแค่ค่าลงทะเบียน ทั้งนี้จะมีการทดสอบประเมินการผ่านหลักสูตร เพื่อให้ผู้ผ่านหลักสูตรได้รับวุฒิบัตร ในการลงทะเบียนเรียนในวิชานั้นๆ ทั้งนี้จะจัดให้มีอีกหลากหลายหลักสูตร เพื่อเติมความรู้ ให้กับบุคลากรและผู้นำของขบวนการสหกรณ์ แม้ว่าช่วงนี้จะมีการออกมาตรการห้ามการอบรมสัมมนา แต่เพื่อให้เกิดการพัฒนา จึงได้มีการจัดหลักสูตรการเรียนรู้กฎหมาย ผ่านโลกโซเซียล นอกจากนี้ทาง สสท. ยังมีความห่วงใยในขบวนการสหกรณ์ อยากจะให้ทุกสหกรณ์มีการช่วยเหลือสมาชิกและใช้หลักการเพื่อนช่วยเพื่อนมากกว่ามุ่งเน้นกำไร ยิ่งในยามวิกฤต โควิด19 เรายิ่งต้องร่วมมือร่วมใจ สสท.จึงมีแนวคิดว่า ควรนำหลักกฎหมายมาใช้ควบคู่กับหลักสหกรณ์ เพราะเนื่องจากตอนนี้กระทบกับเศรษฐกิจทั้งระบบ เนื่องจากสถานการณ์ การแพร่กระจาย ของไวรัสโควิด 19 ซึ่งสมาชิกทุกประเภททั้งเกษตร ออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยนก็ได้รับผลกระทบ จากสถานการณ์ของการแพร่กระจายของไวรัส ที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้ ไวรัสโควิดส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ซึ่งในสันนิบาตสหกรณ์เองทีมงานวิชาการได้ศึกษาหาแนวทางในการช่วยแก้ไขปัญหาซึ่งสรุปได้ว่า ทางสหกรณ์สามารถช่วยเหลือสมาชิกได้หลายทาง โดยเฉพาะการชำระหนี้ ดังจะเห็นว่าธนาคารหลายๆ แห่ง ต่างพยายามลดดอกเบี้ยเงินกู้ผ่อนผันการชำระหนี้มากยิ่งขึ้น จากการศึกษา สสท. อยากแนะนำให้ทุกสหกรณ์ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ขนาดใดก็ตาม อันดับแรก สหกรณ์อย่าเพิ่งไปสนใจกำไรมาก เพราะสหกรณ์ไม่ได้หากำไรมาแบ่งปันกันในหมู่สมาชิก ประเด็นที่สำคัญคือเราจะต้องให้เพื่อนสมาชิกช่วยสมาชิกให้อยู่รอดปลอดภัยในช่วงวิกฤตทางเศรษฐกิจในช่วงวิกฤตโควิด 19 วันนี้สหกรณ์สามารถลดดอกเบี้ยเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน อย่าคิดแต่กำไรอย่างเดียว หากลองคำนวณดูถึงแม้รายได้ทั้งปีเราจะลดลง เราสามารถประเมินได้ว่าจะสามารถจ่ายเงินปันผลได้เท่าไหร่ ตอนนี้แม้แต่สหกรณ์ขนาดใหญ่ เขายังประกาศแล้วว่า เขาประกันเงินปันผลอยู่ที่ 4 บาท อย่าไปคิดว่าได้เท่าไรแล้วค่อยปันผลให้คิดว่า เราจะปันผลเท่าไร เพราะเราจะได้รู้ว่าต้นทุนของเงินแต่ละก้อนที่เรามีอยู่ว่ามีต้นทุนเท่าไร แล้วเราจะลดดอกเบี้ยลงได้สักเท่าไร นี่คือประเด็นแรก สหกรณ์ทั้งระบบน่าจะลดดอกเบี้ยลงสลึงหรือ 50 สตางค์ก็ได้ เพราะดอกเบี้ยที่เราสูญเสียเราได้ช่วยสมาชิกในช่วงวิกฤต “เมื่อเงินปันผลลดลงแล้ว สมาชิกคนไหนที่มีปัญหาไม่สามารถชำระหนี้ได้หรือมีเงินไม่เพียงพอต่อการบริโภคคณะกรรมการสหกรณ์ควรประชุมและมีมติในเรื่องการเก็บหนี้ บางคนถามว่าเก็บนี้ยกเว้นได้ไหม คำตอบคือได้ครับ การเรียกเก็บชำระหนี้ส่วนใหญ่เป็นระเบียบ ไม่ได้เป็นข้อบังคับ กรรมการจะยกเว้นระเบียบก็ย่อมทำได้ โดยคณะกรรมการ อาจจะประชุมกันแล้วมีมติในเรื่องลดดอกเบี้ยเพื่อช่วยเหลือสมาชิก ผู้ที่ขัดสนเป็นอันดับแรกก่อน ให้ส่งแต่ดอกอย่างเดียวต้นยังไม่ต้องส่งก่อนก็ทำได้ แต่ปัญหามันจะเยอะ และต้องเอาผู้ค้ำมาเซ็นยินยอม หากผู้ค้ำประกันไม่ยอมรับความเดือดร้อนก็จะตกที่สหกรณ์ แต่ทางที่ดีที่สุด คือใช้กฎหมายเป็นตัวตั้ง ให้เขาชำระเงินต้นแต่ค้างดอกเบี้ยได้ มาทำบันทึกข้อตกลงค้างดอกเบี้ย เพราะชำระต้น ต้นลดดอกลด เป็นประโยชน์กับสมาชิก อย่างไรก็ตาม ขอให้ทำเป็นมติ ทุกอย่างยกเว้นไม่ต้องชำระท่าลดต้นลดดอกผ่อนต้นแต่ไม่ผ่อนดอกหรือว่าดอกจะไม่ผ่อนต้นอย่างนี้ต้องให้ผู้ค้ำประกันมาเซ็นยินยอมให้ก่อนเพื่อความปลอดภัย ให้สมาชิกยื่นคำร้องเข้ามา แต่ สหกรณ์ไม่ควร ประกาศคำว่า มีมาตรการให้อย่างนี้ อย่าไปบอกว่า หยุดพักชำระหนี้ทั้งระบบ ทั้งสหกรณ์ ขอให้ดูเป็นเฉพาะรายที่จะช่วย เพราะไม่ได้เดือดร้อนทุกราย บางรายสามารถชำระได้ บางรายชำระไม่ได้ขอให้พิจารณาเป็นรายๆ ไป”ประธานกรรมการ สสท. กล่าว อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้ เป็นแนวคิดที่เป็นรูปธรรม สหกรณ์สามารถนำไปช่วยเหลือเป็นที่พึ่งให้กับสมาชิกได้ โดยอาจจะผ่อนปรนระเบียบกติกา เพื่อหาแนวทางร่วมกันทั้งระบบและหากทุกๆ สหกรณ์ช่วยเหลือสมาชิกก็เชื่อมั่นว่าระบบสหกรณ์อาจจะเป็นคำตอบของประชาชนในช่วงวิกฤตโควิด 19