"ครูหยุย"ขอสื่ออย่าเพิ่งตัดสินเรื่อง พ.ร.บ.สื่อ ชี้เป็นเพียงขั้นตอนแรก ชี้ ออกกฏหมายต้องทำตาม รธน.ม.77 ชี้ สภาวิชาชีพสื่อมวลชน ไม่จำเป็นต้องมีคนของภาครัฐเข้ามา วันที่ 29 เม.ย.60 ที่จ.ตรัง นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) กล่าวถึง ข้อถกเถียงในกฎหมายควบคุมสื่อมวลชน ว่า การรีบออกมาวิจารณ์ถือว่าเร็วเกินไป เนื่องจากกระบวนการร่างกฎหมายของ สปท.เป็นแค่ขั้นตอนแรกเท่านั้น ก่อนส่งไปให้ครม.และตั้งกรรมการ 3ฝ่ายที่มีตัวแทน สนช. สปท.และครม.เพื่อพิจารณาว่ากฎหมายดังกล่าวมีสาระเพียงพอที่จะทำเป็นกฎหมายได้รวมถึงยังมีขั้นตอนที่มีการพิจารณาหลายด้านก่อนเข้าสู่ลำดับที่ 3 การยกร่างกฎหมายโดย สนช. "การเสนอกฎหมายต้องดำเนินการตามมาตรา 77 วรรค 2 ที่ต้องรับฟังฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจใช้เวลานานถึง6-7 เดือนก่อนเป็นรูปร่าง ขณะนั้ เป็นขั้นตอนเบื้องต้นจากการนำเสนอของสปท.เท่านั้น โดยขั้นตอนสำคัญคือการรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องรวมทั้งฟังเรียบร้อยก็ต้องนำมาวิเคราะห์ผลกระทบ ซึ่งเป็นเพียงขั้นตอนที่ 1 และยังต้องใช้เวลาอีกนานมาก แต่สังคมก็แสดงความเห็นได้แต่เร็วเกินไป “นายวัลลภ กล่าว นายวัลลภ กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องเนื้อหาในร่างกฎหมายสื่อมวลชน ที่บัญญัติให้มีการขึ้นทะเบียนสื่อฯ และการจัดตั้งสภาวิชาชีพสื่อฯ หากมองตามหลักสากลแล้วก็ควรให้กลไกนั้นกำกับดูแลกันเอง ส่วนการจะขึ้นทะเบียนหรือออกมาตรฐานจริยธรรมสื่อ ก็ควรให้เป็นหน้าที่ของสื่อที่จะนำไปคิดกันเอง แต่ท้ายที่สุดทุกขั้นตอนก็ต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย สำหรับสัดส่วนกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชน ที่มีคนของภาครัฐเข้ามา 2 ที่นั่ง เพราะมีการนำเงินของรัฐเข้ามานั้น ส่วนตัวไม่เห็นด้วยเนื่องจากเงินดังกล่าวเป็นเงินของรัฐที่จะแบ่งสรรให้หน่วยงานอื่นๆบริหารกันเอง ไม่จำเป็นต้องให้ตัวแทนของภาครัฐเข้ามานั่ง