เชิงสารคดี/บูรพา โชติช่วง: พระบาทสมเด็จพระนั่งกล้าฯ ผู้สร้างมรดกความทรงจำแห่งโลก วันที่ 31 มีนาคม วันที่ระลึกพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า หรือ วันเจษฎาบดินทร์ รัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงดำรงพระราชอิสริยยศ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ หรือ พระองค์ชายทับ ทรงกำกับราชการกรมท่า ทรงแต่งสำเภาบรรทุกสินค้าออกไปค้าขายในต่างประเทศมีรายได้เพิ่มขึ้นในท้องพระคลังเป็นอันมาก พระราชบิดา (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2) ทรงเรียกพระองค์ว่า “เจ้าสัว” พระองค์นอกจากทรงปราดเปรื่องในทางกฎหมาย การค้า การปกครองแล้ว ยังทรงเสริมสร้างกำลังป้องกันราชอาณาจักร โปรดให้สร้างป้อมปราการตามปากแม่น้ำสำคัญหัวเมืองชายทะเล และในเวลาเดียวกัน พระองค์ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามาก ได้ทรงสร้างพระพุทธรูปมากมาย สร้างวัดใหม่ขึ้น 3 วัด และบูรณปฏิสังขรณ์วัดเก่าอีก 35 วัด หนึ่งในนี้มีวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม พระองค์เสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานพระกฐินที่วัดพระเชตุพนฯ หรือ วัดโพธิ์ (เป็นวัดเก่ามีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาเรียกชื่อว่า วัดโพธาราม เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงสร้างกรุงเทพฯ เป็นราชธานีใน พ.ศ.2325 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้บูรณปฏิสังขรณ์วัดโพธาราม แล้วพระราชทานนามวัดว่า วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาวาศ และมาเปลี่ยนชื่อเป็น วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ทอดพระเนตรเห็นสิ่งก่อสร้างต่างๆ ทรุดโทรมเป็นอันมาก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ (เริ่มปฏิสังขรณ์ พ.ศ.2375 ใช้เวลาบูรณะนานถึง 16 ปี 7 เดือน) อีกทั้งพระองค์ มีพระราชประสงค์ให้พระอารามแห่งนี้เป็น “มหาวิทยาลัย” สำหรับประชาชนทั่วไป พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำองค์ความรู้จากปราชญ์ของไทยและสรรพศิลปวิทยาการต่างๆ เช่น ตำราการแพทย์ โบราณคดี และวรรณกรรม โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอนทั้งหลาย ฯลฯ มาจารึกลงบนศิลา (แผ่นหินอ่อน) ประดับไว้ตามบริเวณผนังต่างๆ เสาพระระเบียงรอบพระอุโบสถ พระวิหาร วิหารคด และศาลารายรอบพระมณฑปภายในวัดพระเชตุพนฯ ซึ่งรวมเรียกกันในปัจจุบันว่า ประชุมจารึกวัดพระเชตุพน เมื่อเวลาล่วงผ่าน เป็นที่น่ายินดีที่คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยแผนงานความทรงจำแห่งโลกได้เสนอชื่อจารึกวัดพระเชตุพน ต่อองค์การยูเนสโก (UNESCO) ขึ้นทะเบียนมรดกความทรงจำแห่งโลกแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งมีมติรับรองเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2551 และต่อมาเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2554 ยูเนสโกยังได้รับรองสิ่งดังกล่าวนี้จำนวน 1,440 ชิ้น เป็นมรดกความทรงจำแห่งโลกในทะเบียนนานาชาติ (Memory of the World) อีกด้วย แบ่งเป็นหมวด ประวัติศาสตร์ จารึกเรื่องทรงสร้างวัดพระเชตุพน ครั้งรัชกาลที่ 1, โคลงดั้นเรื่องปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพน (พระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส) ฯลฯ พระพุทธศาสนา จารึกพระสาวกเอตทัคคะ 41 องค์, จารึกเรื่องฎีกาพาหุง 8 บท, จารึกเรื่องอรรถกถาชาดก, จารึกเรื่องเรื่องเวชสันดรชาดก ฯลฯ วรรณคดี จารึกเรื่องรามเกียรติ์, จารึกนิทานสิบสองเหลี่ยม, จารึกตำราฉันท์วรรณพฤติ ฯลฯ ทำเนียบ จารึกทำเนียบตราตำแหน่งสมณศักดิ์, จารึกหัวเมืองขึ้นของกรุงสยามและผู้ครองเมือง, จารึกโคลงภาพคนต่างภาษา ฯลฯ ประเพณี จารึกเรื่องรามัญหุงข้าวทิพย์, จารึกเรื่องมหาสงกรานต์, จารึกเกี่ยวกับริ้วกระบวนแห่พระกฐินพยุหยาตราทางสถลมารค ฯลฯ สุภาษิต จารึกฉันท์กฤษณาสอนน้อง, จารึกฉันท์พาลีสอนน้อง, จารึกสุภาษิตพระร่วง, จารึกโคลงนิติ (420 บท) ฯลฯ อนามัย จารึกโคลงภาพฤาษีดัดตน (80 ท่าแก้ปวดเมื่อยของอวัยวะต่างๆ โปรดเกล้าฯ ให้ปั้นรูปสลักหินฤาษีดัดตนในท่าต่างๆ จำนวนทั้งหมด 80 ท่า สำหรับอธิบายประกอบตำรับตำรา ปัจจุบันเหลืออยู่ 24 ท่า) เป็นต้น เหล่านี้เป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่มีต่อปวงชนชาวไทยในด้านสรรพศิลปวิทยาการ เป็นมรดกความทรงจำแห่งโลกในเวลาต่อมา หมายเหตุ : คัดจากบทความ “เจ้าสัว ผู้สร้างมรดกความทรงจำแห่งโลก” มหาวิทยาลัยศิลปากรร่วมกับวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วันพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ประจำปี 2554