วันที่ 30 มี.ค.63 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล แถลงรัฐบาลไทยควรประกันว่า การประกาศใช้พระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) เพื่อรับมือกับการระบาดของโรคโควิด-19 ไม่เป็นการกำหนดเงื่อนไขจำกัดอย่างไม่จำเป็นต่อสิทธิมนุษยชน มาตรฐานระหว่างประเทศกำหนดให้ทางการไทยควรทบทวนการใช้อำนาจในสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อรับมือกับโรคโควิด-19 เพื่อประกันว่า มาตรการเหล่านี้มีผลเพียงชั่วคราว ใช้ในกรณีที่เป็นข้อยกเว้น ใช้อย่างได้สัดส่วน จำเป็น และไม่เลือกปฏิบัติ และไม่ใช้เพื่อจำกัดโดยพลการต่อสิทธิประการต่าง ๆ รวมทั้งเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพด้านข้อมูลข่าวสาร ในวันที่ 24 มีนาคม รัฐบาลไทยเตรียมประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อรับมือกับการระบาดอย่างต่อเนื่องของโรคโควิด-19 ในวันที่ 25 มีนาคม รัฐบาลได้กำหนดรายละเอียดของการจำกัดการเดินทาง การชุมนุม ความเป็นส่วนตัว และเสรีภาพในการแสดงออก โดยมีบทลงโทษทั้งการจำคุกและ/หรือปรับ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 26 มีนาคม 2563 ทางการให้อำนาจเจ้าพนักงานตามมาตรา 9 ของพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ในการเซ็นเซอร์หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูลที่เห็นว่าเป็นข้อความเท็จหรือบิดเบือน โดยอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวหรือเข้าใจผิด ประกาศดังกล่าวยังให้อำนาจหน้าที่กับเจ้าพนักงาน ดำเนินคดีต่อบุคคลตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ หรือพ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยอาจมีโทษจำคุกไม่เกินสองปี และ/หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท รัฐบาลแถลงต่อนักข่าวเมื่อวันที่ 25 มีนาคม ว่าจะควบคุมสื่อมวลชนให้รายงานเฉพาะข้อมูลจากทางการเกี่ยวกับโรคโควิด-19 และจะดำเนินคดีกับบุคคล หากเห็นว่าเผยแพร่ข้อความที่วิพากษ์วิจารณ์การดำเนินงานของรัฐต่อโรคโควิด-19 หากเห็นว่าเป็นข้อกังวลที่สำคัญ ในระหว่างการแถลงข่าว พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุว่า นักข่าวจะไม่ได้รับอนุญาตให้สัมภาษณ์เจ้าหน้าที่และบุคลากรทางการแพทย์ และให้รายงานข้อมูลเฉพาะที่มาจากข่าวสารที่ได้รับแจกระหว่างการแถลงข่าว คำเตือนของนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา “ให้ระวังกับข้อมูลในโซเชียลมีเดีย” และการขู่จะดำเนินคดีหากมีการ “ใช้โซเชียลมีเดียอย่างมิชอบ” ในระหว่างการแถลงข่าวอีกรายการหนึ่งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 ยิ่งทำให้เกิดความหวาดกลัวว่า ทางการมีแผนควบคุมการแสดงออกเกี่ยวกับโรคโควิด-19 ทางอินเตอร์เน็ตอย่างไม่ได้สัดส่วน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กังวลว่า ทางการได้อ้างอำนาจฉุกเฉินเพื่อสั่งให้จำกัดสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก เปิดให้มีการเซ็นเซอร์ข้อมูลและดำเนินคดีกับบุคคลซึ่งเผยแพร่ข่าวสารที่ทางการมองว่า “เป็นข้อมูลเท็จหรืออาจก่อให้เกิดความหวาดกลัวต่อประชาชน หรือจงใจบิดเบือนข้อมูล” ทางหน่วยงานเรียกร้องทางการไทยให้แก้ไขข้อห้ามเหล่านี้ และประกันว่าการนำพ.ร.ก.ฉุกเฉินมาบังคับใช้จะไม่ส่งผลให้เกิดข้อห้ามต่อบุคคลในการแสดงความเห็น หรือรายงานข่าวเกี่ยวกับประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อตน รวมทั้งการแสดงความเห็นทางอินเตอร์เน็ต ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก ทั้งนี้รวมถึงการวิจารณ์นโยบายของรัฐ และการปฏิบัติตามนโยบาย หรือการแสดงความเห็นต่าง