“บิ๊กตู่” ลุยถกปลัดฯ-ศูนย์โควิด-19 ย้ำต้องเว้นระยะห่างทางสังคมเข้มข้นจนกว่าพ้นวิกฤติ เผย“ผบ.ทสส.” ชงลดการสัญจรให้ได้ 90 เปอร์เซ็นต์ “วิษณุ” ของดถ่ายทอดชกมวย แม้ไร้คนดู แย้มอาจยกเว้นบางมาตรการเข้าประเทศให้คนไทยกลับง่ายขึ้น พร้อมแจกหน้ากากอนามัยทั่วประเทศ “ธีรยุทธ”ฟันธง“เมษาชี้ชะตาประเทศ” สู้โควิด ชม“รบ.-แพทย์”เดินถูกทาง บังคับใช้กฎหมายจริงจัง ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 09.50 น. วันที่ 30 มี.ค.63 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค.ได้เป็นประธานการประชุมศูนย์ฯ โดยเปลี่ยนจากตึกสันติไมตรี(หลังนอก) มาใช้เป็นห้องเขียว ที่ตึกไทยคู่ฟ้าแทน โดยก่อนหน้านี้นายกฯได้หารือวงเล็กระดับปลัดกระทรวง ที่ห้องสีม่วง โดยไม่อนุญาตให้ช่างภาพ สื่อมวลชนเข้าบันทึกภาพในการแถลงข่าว รวมทั้งการดักรอสัมภาษณ์ ในจุดต่างๆ ยกเว้นการแถลงข่าวที่ห้องโถง ตึกสันติไมตรีทำเนียบฯเท่านั้น เพื่อการป้องการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส ต่อมา นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงว่า พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่า หัวใจการทำงานที่สำคัญที่สุดคือการส่งผ่านข้อมูลหรือการสื่อสารไปยังประชาชน โดยใช้เทคโนโลยี โซเชียลมีเดีย แอพพลิเคชั่นและเน้นย้ำเรื่องการเว้นระยะห่างทางสังคม ที่ต้องยึดถือปฏิบัติกันทุกวัน จนกว่าจะพ้นวิกฤติและการทำแนวทางการป้องกันไม่ให้มีเชื้อมาติดทุกคนได้ ทั้งระดับประเทศ จังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน ครอบครัว และบุคคล ส่วนการควบคุม นายกฯยังให้ใช้ระดับของการกักตัวที่บ้าน ส่วนการทำงานของ ศบค.จะต้องเสริมสิ่งต่างๆ เพื่อหามาตรการ การทำงานของหัวหน้าส่วนราชการต้องเชื่อมโยงกันเพื่อการให้ออกมาตรการใดๆ มีผลกระทบด้านดีมากที่สุด “อยากให้ประชาชนร่วมมือให้เข้มแข็งที่สุด เพื่อไม่ให้ตัวเลขเพิ่มไปกว่านี้ โดยในส่วนพื้นที่กทม.และนน ทบุรี ยังมีตัวเลขสูงอยู่ ส่วนแนวโน้มต่างจังหวัดยังขึ้นๆ ลงๆ ซึ่งขณะที่ปลัดกระทรวงมหาดไทย (มท.)ได้รายงานถึงมาตรการเข้มข้นใน 4 จังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต ยะลา ปัตตานี นราธิวาส โดยที่จ.ภูเก็ตมียอดผู้ติดเชื้อ 41 ราย กักตัวที่บ้าน 298 คน เป็นคนไทย 252 คน มีการปิดสถานที่เสี่ยง 2,532 แห่ง ห้ามประชาชนออกพื้นที่ชายหาดทุกแห่ง ขอความร่วมมืองดออกจากเคหะสถาน 20.00–03.00 น. นอกจากนี้ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) ได้นำเสนอต่อที่ประชุมว่า ตั้งแต่ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พบว่าการสัญจรไปมาของประชาชนทุกรูปแบบลดลงกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ แต่อยากขอความร่วมมือให้ลดการสัญจรให้ได้ 90 เปอร์เซ็นต์ ส่วน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวว่า ในที่ประชุม ศบค.ได้มีการทบทวนมาตรการต่างๆ ตั้งแต่การประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นต้นมา ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจเมื่อเทียบกับตัวเลขผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วย และผู้เสียชีวิต แต่ยังไม่พอใจเต็มที่ จึงอยากให้ประชาสัมพันธ์ให้มากขึ้น ไม่เช่นนั้นวันหนึ่งอาจต้องบังคับใช้มาตรการที่รุนแรงได้ จึงขอให้เข้มงวดกับมาตรการอยู่บ้านจากเสาร์–อาทิตย์ยังมีปริมาณรถสัญจรมาก ซึ่งไม่ควรจะมากขนาดนี้และกิจกรรมสังสรรค์ควรจะงดได้ แต่ยังมีการทำกันอยู่ บางอย่างเป็นเพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เช่น การถ่ายทอดสดมวยของสถานีโทรทัศน์บางช่อง แม้เป็นการชกที่ไม่มีคนดู แต่ยังมีความเสี่ยงอยู่ดี และยังมีการถ่ายทอด ทำให้คนที่อยู่ทางบ้านไปร่วมกันเชียร์และดื่มสังสรรค์ จึงขอให้งด อีกที่จุดล่อแหลมคือ วินมอเตอร์ไซด์ หากไม่สวมหน้ากากอนามัยที่มีการสนทนากับผู้โดยสาร รวมทั้ง เรื่องการใส่บาตรที่มีการใช้มือจกข้าวเหนียวใส่บาตร สามารถแพร่เชื้อโรคได้ จึงต้องเพิ่มการระมัดระวัง นายวิษณุ กล่าวว่า ขณะนี้ 11 โรงงาน สามารถผลิตได้ 2.3 ล้านชิ้นต่อวัน โดยในเวลา 17.00 น. วันที่ 30 มี.ค. บริษัทไปรษณีย์ไทยจะเป็นผู้รับหน้ากากไปกระจายยัง 76 จังหวัด โดยจัดสรรให้ สธ. 1.3 ล้านชิ้น เพื่อนำไปแจกจ่ายบุคลากรทางการแพทย์ และให้ มท. 1 ล้านชิ้น เพื่อไปให้ให้ อสม. และเจ้าหน้าที่ที่บริการประชาชนและมีความเสี่ยง นายวิษณุ ยังกล่าวถึงกรณีการเข้า–ออกประเทศที่ยาก ทำให้คนไทยบางส่วนกลับประเทศไม่ได้ว่า สำหรับคนไทยยังสามารถกลับเข้าประเทศได้ แต่ขอให้ดิ้นรนขวนขวายเดินทางมาให้ได้ ส่วนกรณีคนไทย จะเดินทางกลับนั้น ได้มอบหมายให้ มหาดไทย และกระทรวงการต่างประเทศ ดูแลมาตรการเป็นพิเศษ และยกเว้น ได้ตามความจำ เป็น และมี 8 ประเทศที่ประสานเข้ามาเพื่อจะส่งเครื่องบินมารับคนของเขากลับ ซึ่งอยู่ระหว่างการประสานงานกัน นายวิษณุ กล่าวว่า สำหรับการประชุมวิสามัญ ประจำปีของพรรคการเมืองตาม พ.ร.ป. ว่าด้วยพรรคการ เมือง ตามมาตรา 147 ที่ต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่พรรคการเมืองภายในเดือน เม.ย.นี้ ไม่เช่นนั้นจะผิดมาตรา 91 โดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำลังพิจารณาหารือก่อนจะประสานมายังรัฐบาลว่ามีเหตุให้ต้องเลื่อนประ ชุมหรือไม่ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการสอบถามมา แต่รัฐบาลจะตอบว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นเหตุจำเป็นและเข้าข้อยกเว้นที่ไม่ควรให้พรรคการเมืองประชุม วันเดียวกัน ศาสตราจารย์ ธีรยุทธ บุญมี นักวิชาการ ได้เขียนบทความ ในหัวข้อ “เมษาชี้ชะตาประเทศ” โดยระบุตอนหนึ่งว่า “ช่วงที่คนไทยเรากำลังเคร่งเครียด วิตกกังวล ในฐานะผู้ร่วมชะตากรรมขอเสนอแง่คิดมุมมอง ที่มุ่งสร้างความหวัง ความเข้าใจต่อกันและกัน โดยปัญหาโควิด-19 จะต้องเข้าใจความเป็นสังคม ของมนุษย์สังคมไทย ที่กำลังทำสงคราม และต้องอาศัยพลังทางสังคม การปรับกระบวนทัศน์ใหม่และการจัดระเบียบ การจัดการสังคมใหม่ เป็นมาตรการตอบโต้ ที่เป็นทางเลือกเดียว ในการร่วมกันสู้ โดยในช่วงที่เราใช้มาตรการสังคม คือ การเก็บตัวอยู่ในบ้าน ที่ตามทฤษฎีเชื้อโรคก็จะถูกเผยตัว แต่ในความเป็นจริง ก็จะมีอีกส่วนหนึ่ง ที่หลุดรอดไปได้ ถ้าใช้เวลา 1 เดือนก็จะหลงเหลืออยู่น้อยมาก โดยมีแพทย์ พยาบาล สาธารณสุข เป็นปราการแข็งแกร่งปกปักรักษาทุกคน ศาสตราจารย์ ธีรยุทธ กล่าวต่อว่า การต่อสู้กับโรคระบาดมี 3 มาตรการคือการบังคับทางสังคม คือการบังคับใช้กฎหมาย การออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ใช้ พ.ร.บ. สงครามบางด้าน เช่นการบังคับภาคเอกชน ให้ทำกิจกรรมช่วยเหลือการสู้โรค ซึ่งตัวเลขผู้ป่วย ที่รายงานกันมาก็สะท้อนว่า กำลังเกิดผล แต่ในเตือน เม.ย.นี้ จะเป็นเดือนที่ทุกฝ่ายต้องทุ่ม เททำงานอย่างหนักที่สุด โดยต้องเลี่ยงการระบาดแบบ super cluster หรือ super spreader เหมือนกรณีสนามมวย การชุมนุมศาสนา “ที่ผ่านมาแพทย์ พยาบาล สาธารณสุขของเราทำงานได้อย่างดีเยี่ยม ทันกาล รัฐบาลก็ปรับตัวอย่างถูกต้องที่ให้ผู้เชี่ยวชาญด้านแพทย์เป็นผู้นำทางความคิด ส่วนตัวเองหันไปพิจารณาภาพรวมและดำเนินมาตรการต่างๆ รองรับ ถือว่าทำได้ถูกทางไม่สายเกินไป และมีโอกาสควบคุม ไม่ให้คนติดโรคกันเกือบทั้งเมือง เหมือนอิตาลี อังกฤษ สเปน แต่ยังมีคนไทย พวกวัยรุ่นหนุ่มสาว หรือพวกนอกขอบ ปฏิเสธขัดขืนลองดีสุดโต่ง ที่มีไม่กี่เปอร์เซ็นต์