วันจันทร์ที่ 30 มีนาคม 2563 ที่ห้องประชุม 301 ชั้น 3 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ครั้งที่1/2563 ผ่านระบบคอนเฟอเรนซ์ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม (นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ) และคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบกเข้าร่วมประชุม มีผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร เป็นกรรมการและเลขานุการ ที่ประชุม คจร. ได้รับทราบรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานตามแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล แนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมระบบรางและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง และการจัดทำแผนแม่บทด้านการขนส่งและจราจรในเมืองภูมิภาค จังหวัดบึงกาฬ
พลเอกประวิตร กล่าวว่า การประชุมในวันนี้ มีเรื่องพิจารณาที่สำคัญเพื่อแก้ไขปัญหาจราจร ได้แก่ “แผนแม่บทการแก้ไขปัญหาการจราจรในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล” โดยมอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นกรอบแนวทางในการดำเนินการแก้ไขปัญหาจราจรต่อไป พร้อมนี้ได้พิจารณาในหลักการการปรับเพิ่มอัตราความเร็วของรถยนต์บนถนนทางหลวงที่มีทางเดินรถที่จัดแบ่งช่องเดินรถในทิศทางเดียวกันไว้ตั้งแต่ 2 ช่องเดินรถ มีเกาะกลางถนนเฉพาะแบบกำแพงกั้นและ ไม่มีจุดกลับรถเสมอระดับถนน เป็นอัตราความเร็วไม่เกิน 120 กม./ชม. และการกำหนดความเร็วขั้นต่ำ สำหรับการขับรถยนต์ในช่องทางเดินรถช่องทางขวาสุด โดยใช้ความเร็วไม่ต่ำกว่า 100 กม./ชม. รวมถึงการร่วมพิจารณาทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2536 เรื่องการส่งเสริมการจัดท่าเทียบเรือสาธารณะเพื่อแก้ไขปัญหาจราจร เพื่อให้สามารถนำพื้นที่บางส่วนของท่าเรือสาธารณะมาใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ให้การสนับสนุนการดำเนินการให้เกิดการพัฒนาระบบขนส่งทางน้ำเชื่อมต่อกับระบบขนส่งอื่นอย่างมีประสิทธิภาพ และร่วมกันพิจารณาประเด็นการดำเนินงานส่วนของฐานรากโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย - ลำสาลี (บึงกุ่ม) ในส่วนที่ซ้อนทับกับโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 โดยให้ดำเนินการก่อสร้างฐานรากโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลไปพร้อมกับการดำเนินการโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 เพื่อ นำเสนอ ครม. เพื่อทราบต่อไป
พลเอกประวิตร กล่าวยเน้นย้ำขอให้ทุกหน่วยงานร่วมมือกัน เร่งรัดการดำเนินงาน เพื่อช่วยพัฒนาระบบคมนาคม และแก้ไขปัญหาการขนส่งและจราจรให้เกิดการบูรณาในการดำเนินงาน ลดความซ้ำซ้อน ใช้งบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถขับเคลื่อนแผนต่างๆ ให้ได้ตามเป้าหมายที่ได้กำหนด