ที่อยู่อาศัยเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่สำคัญของมนุษย์ความต้องการในการมีที่อยู่อาศัย เป็นของกรรมสิทธิ์ตนเองเป็นความปรารถนาของมนุษย์โดยทั่วไป ในขณะเดียวกันทำเลของที่ดินและสาธารณูปโภคที่เหมาะสมก็เป็นปัจจัยที่ทำให้ที่อยู่อาศัยมีราคาสูงขึ้น ประชาชนโดยทั่วไปโดยเฉพาะผู้ที่หาเช้ากินค่ำและพ่อค้าแม่ค้าโดยทั่วไปยากที่จะเข้าถึง ทำได้เพียงหาเช่าที่อยู่อาศัยราคาถูกในบริเวณใกล้เคียงที่ตนเองประกอบอาชีพ หรือทำมาหากินอยู่เท่านั้น จากปัญหาดังกล่าว จึงได้มีแนวคิดในการรวมกลุ่มกันในกลุ่มคนจำนวนหนึ่งขึ้นเพื่อออมเงิน และนำมาบริหารจัดการในการจัดหาที่อยู่อาศัย เพื่อให้ได้ที่อยู่อาศัยนั้นมาเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเอง ในรูปแบบ “สหกรณ์บ้านมั่นคง” ซึ่งเป็นนิติบุคคล โดยมีหน่วยงานในสังกัดกรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้คำแนะนำ ประกอบกับการได้รับการช่วยเหลือจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. สังกัดกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จัดหาทุนดำเนินการ ในรูปเงินกู้ เพื่อเป็นทุนในการสร้างที่อยู่อาศัยให้สมาชิกและผ่อนชำระคืนในระยะยาว ทำให้ช่องทางและโอกาสในการเข้าถึงที่อยู่อาศัยราษฎรในระดับล่างมีมากขึ้น ภายใต้ "โครงการบ้านมั่นคง" สหกรณ์บ้านมั่นคง เป็นประเภทสหกรณ์บริการอีกรูปแบบหนึ่ง ตั้งขึ้นตามความต้องการของประชาชน ผู้มีความเดือนร้อนในเรื่องที่อยู่อาศัย เพื่อให้ทุกคนได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองและอยู่ร่วมกันเป็นชุมชนอย่างมีความสุข เป็นการร่วมมือกันทำงานของหลายหน่วยงานในเชิงบูรณาการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของชุมชนให้มีความมั่นคงอย่างยั่งยืนโดยใช้ระบบสหกรณ์บริหารจัดการชุมชน ซึ่งธุรกิจของสหกรณ์ส่วนใหญ่ ดำเนินการเกี่ยวกับการจัดสรรที่ดินหรือจัดสร้างที่อยู่อาศัยให้แก่ สมาชิก รวมทั้งให้สมาชิกกู้ยืมเงินสำหรับสหกรณ์บริการชุมชน และให้บริการด้านการรักษาความสะอาด การรักษาความปลอดภัย แสงสว่างส่วนกลางและอื่นๆ การสหกรณ์ มีปรัชญาในการรวมตัวกันเพื่อช่วยเหลือตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ในการแก้ปัญหาการดำรงชีพ โดยมิได้มุ่งหวังในการทำธุรกิจเพื่อแสวงหากำไรมาแบ่งปันกันสหกรณ์บ้านมั่นคง เป็นการรวมตัวกันของกลุ่มบุคคลในชุมชนเพื่อออมเงิน โดยมีจุดมุ่งหวังเพื่อนำมาดำเนินการในการจัดหา ที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง และต่อมาเปลี่ยนเป็นนิติบุคคลในรูปแบบสหกรณ์เพื่อรองรับการกู้เงินจาก พอช. และกู้เงินมาเป็นทุนในการสร้างบ้านเพื่อให้สมาชิกทุกคนได้มีบ้านอยู่อาศัยเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเองพอจะแยกออกได้เป็นสองลักษณะดังนี้ ลักษณะที่ 1 กู้เงินในนามสหกรณ์บ้านมั่นคง เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายทั้งในการซื้อที่ดินและเป็นค่าใช้จ่ายในสร้างบ้าน ลักษณะนี้เมื่อสมาชิกส่งชำระหนี้เงินกู้แก่ พอช. ผ่านทางสหกรณ์เสร็จเรียบร้อยแล้ว จะได้รับกรรมสิทธิ์ทั้งที่ดินและบ้านอยู่อาศัย ซึ่งขึ้นอยู่กับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร หรือพระราชบัญญัติบ้านจัดสรร เป็นต้น ลักษณะที่ 2 กู้เงินในนามสหกรณ์บ้านมั่นคง เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการสร้างบ้านอยู่อาศัย แต่กรรมสิทธิ์ที่ดินอยู่ในลักษณะโฉนดรวมไม่แยกเป็นรายตัว ที่ดินอาจได้มาโดยการซื้อหรือการเช่าก็ได้แล้วแต่วิธีการได้มาของที่ดิน ซึ่งเป็นชื่อรวมโดยสหกรณ์ ปัญหาที่พบจากการดำเนินงานของสหกรณ์บ้านมั่นคง สามารถแบ่งได้ เป็น 4 ลักษณะ คือ 1.กลุ่มออมทรัพย์ ที่กลุ่มบุคคลในชุมชนตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ในการออมเงินเพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน โดยส่วนใหญ่วิธีการออมเงินอาจเก็บเงินเข้ากลุ่มเป็นรายวันหรือรายเดือนในอัตราเท่า ๆ กัน ต่อราย แล้วแต่จะตกลงกัน โดยมอบหมายให้สมาชิกในกลุ่มฯ มีหน้าที่ในการเก็บเงินและจัดทำรายละเอียดเงินที่เก็บออมเข้ากลุ่มฯ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือกลุ่มออมทรัพย์ที่รวมตัวกันนี้ เป็นกลุ่มฯ ที่ไม่มีกฎหมายรองรับ สมาชิกในกลุ่มฯ ต้องดูแลและตรวจสอบกันเอง การนำเงินไปใช้ตามวัตถุประสงค์ของกลุ่มฯ อาจเกิดการรั่วไหลโดยผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ หากการจัดทำเอกสารและหลักฐานทางการเงินไม่ละเอียดและรอบคอบพอ และทางราชการไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ 2.กลุ่มออมทรัพย์ ต้องการกู้เงินจาก พอช. จะต้องขอจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย และเลือกใช้วิธีการสหกรณ์โดยได้จดทะเบียนเป็นสหกรณ์บริการบ้านมั่นคง การได้รับเงินกู้ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของผู้ให้เงินกู้ จะได้รับเงินมาในสองลักษณะคือ เงินกู้เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดหาที่ดินและเป็นเงินกู้เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการสร้างบ้าน ซึ่งเงินลักษณะนี้จะจ่ายเข้าบัญชีสหกรณ์ฯ ซึ่งสหกรณ์ ต้องไปทำสัญญาให้กู้เงินกับสมาชิกโดยมีการระบุงวดในการผ่อนชำระ ตามระยะเวลาและจำนวนเงินที่กำหนดขึ้น โดยการส่งชำระหนี้ต้องเป็นไปตามสัญญาโดยสมาชิกส่งชำระให้สหกรณ์ และสหกรณ์ส่งชำระหนี้ให้ พอช. ตามที่กำหนดในสัญญา เงินอีกลักษณะหนึ่งเป็นเงินค่าสาธารณูปโภคซึงเป็นเงินให้เปล่าในลักษณะเงินอุดหนุนตามสัดส่วนและจำนวนบ้านที่สหกรณ์จะสร้าง จำนวนเงินตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ถูกกำหนดไว้แล้ว เงินลักษณะนี้ในความเป็นจริงจะไม่ถูกจ่ายผ่านระบบบัญชีของสหกรณ์โดยจะถูกจ่ายผ่านเข้าบัญชีของกลุ่มออมทรัพย์ เมื่อเกิดปัญหาขึ้นภายหลังจะตรวจสอบการใช้ไปของเงินลักษณะนี้ยากมาก 3.การให้เงินกู้ของ พอช. แก่สหกรณ์จะให้ในลักษณะเงินกู้ก้อนเดียวทั้งจำนวนตามสัญญา สหกรณ์ ส่วนใหญ่เมื่อรับเงินกู้มาแล้ว จะนำเงินกู้ทั้งจำนวนโอนเข้าไปอยู่ในบัญชีของกลุ่มออมทรัพย์เดิม ที่มีอยู่ก่อนการจดทะเบียนเป็นสหกรณ์ การใช้เงินกู้เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการสร้างบ้านจะแบ่งออกเป็นสองลักษณะ คือ ก้อนแรกจะนำไปเป็นค่าใช้จ่ายในการซื้อวัสดุมาเพื่อใช้ในการสร้างบ้านของสมาชิก โดยประธานกรรมการสหกรณ์หรือกรรมการอื่นไม่กี่คน อีกก้อนจะนำไปว่าจ้างผู้รับเหมาท้องถิ่นเป็นผู้ก่อสร้าง ทำให้เกิดปัญหาตามมา คือ ราคาวัสดุก่อสร้างมีการเปลี่ยนแปลงทำให้เงินไม่พอส่งผลต่อการก่อสร้างบ้านไม่เสร็จตามกำหนด และผู้รับเหมาอาจทิ้งงานหรือไม่ทำงานให้แล้วเสร็จตามข้อตกลง และเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นระหว่างสหกรณ์ฯ กับสมาชิกสหกรณ์การตรวจสอบการใช้ไปของเงินค่าก่อสร้างจะทำได้ลำบาก 4.การเปลี่ยนแปลงสมาชิกสหกรณ์ ในกรณีที่สมาชิกสหกรณ์รายใดรายหนึ่ง หรือหลายราย ไม่สามารถส่งชำระหนี้เงินกู้ให้สหกรณ์ได้ตามสัญญา และต้องการลาออก สหกรณ์ต้องพิจารณาหาสมาชิกรายอื่นที่ต้องการมีบ้านเข้าร่วมโครงการฯ แทน การพิจารณาอาจไม่เกิดความยุติธรรม เนื่องจากไม่มีการกำหนดระเบียบปฏิบัติไว้ชัดเจน ทำให้เกิดข้อครหาต่อคณะกรรมการสหกรณ์ จากกรณีปัญหาที่พบดังกล่าว จะเห็นได้ว่าทุกกรณีปัญหาที่เกิดขึ้น เมื่อพิจาณาโดยเหตุผลเทียบกับการนำวิธีการสหกรณ์มาใช้แก้ปัญหาของกลุ่มชุมชนที่อยากมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองแล้ว อาจกล่าวได้ว่าใช้วิธีการสหกรณ์แล้วสมาชิกไม่ได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง ทั้งที่วิธีการสหกรณ์เป็นวิธีการที่อาจกล่าวว่าดีที่สุดหากเข้าใจบริบทของความเป็นสหกรณ์ คือ การช่วยตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ตามปรัชญาสหกรณ์บุคคลที่มีหน้าที่ต่างๆ หากมีความซื่อสัตย์จริงใจเสียสละ มุ่งหวังประโยชน์ของสมาชิกสหกรณ์โดยรวมเป็นหลักแล้ว ด้วยทำงานอย่างมีหลักธรรมาภิบาล ปัญหาต่าง ๆ ที่พบก็อาจไม่เกิดขึ้นเลย ทุกฝ่ายก็จะสมประโยชน์ในการรวมกลุ่มกันเพื่อช่วยเหลือกันในการที่จะมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยนำวิธีการสหกรณ์ไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด นายชูเกียรติ คำยิ่ง ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการบริหารจัดการสหกรณ์