เจ้าของ kapook เตือนตีทะเบียนสื่อออนไลน์สวนกระแสโลก กระทบเพจนับหมื่นแห่ง ปิดทางนักข่าวพลเมือง แนะดึงพลังสังคมร่วมตรวจสอบเนื้อหากันเอง แทนรัฐควบคุมเพราะไม่มีทางควบคุมได้หมด วันที่ 28 เม.ย.60 นายปรเมศวร์ มินศิริ ผู้ก่อตั้ง เว็บไซต์ kapook.com กล่าวถึง เนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ว่า นิยามของสื่อมวลชนโดยเฉพาะในส่วนของออนไลน์เป็นนิยามที่กว้างมาก เพราะตามข่าวที่ออกมาว่าใครมีรายได้ประจำไม่ว่าทางตรงทางอ้อมถือเป็นเป็นสื่อทั้งหมด ซึ่งจะครอบคลุมเว็บไซต์หลายพันเว็บ และหน้าเพจอีกนับหมื่น ซึ่งจะต้องไปขึ้นทะเบียนไม่เช่นนั้นจะมีความผิด ทั้งนี้ ประเด็นดังกล่าวถือว่าสวนทางกับกระแสโลกที่มีนักข่าวพลเมืองเกิดขึ้นเยอะมากใครไปพบเห็นอะไรที่ไหนก็มารายงานข่าว และบางครั้งสื่อมวลชนกระแสหลักสนใจก็นำประเด็นไปขยายผลสัมภาษณ์เพิ่มเติม ซึ่งใครๆก็เป็นนักข่าวพลเมืองได้ไม่จำเป็นต้องเป็นนักข่าว อย่างบางคนถูกละเมิดสิทธิในพื้นที่ก็ใช้พื้นที่สื่อสารเรื่องราวที่เกิดขึ้นต่อสาธารณะ
“ส่วนที่เป็นห่วงเรื่องข่าวปลอมจึงต้องขึ้นทะเบียนสื่อมวลชน ก็เป็นนโยบายที่สวนกระแสโลก ซึ่งในต่างประเทศก็ใช้วิธีให้ประชาชนร่วมกันเข้ามาตรวจสอบกันเองว่าข่าวในจริง ข่าวไหนลวง เมื่อทุกคนเป็นสื่อได้ ทุกคนก็ร่วมตรวจสอบได้ แค่เพียงหากลไกแจ้งรายงานข่าวลวง แต่ของเรากับย้อนไปอีกทางให้กลไกรัฐเข้ามาควบคุมกำกับดูแลซึ่งระยะยาวจะทำไม่ไหว เพราะสื่อยุคใหม่เป็นสื่อกระจายใครๆ ก็เป็นสื่อได้” นายปรเมศวร์ กล่าว
นายปรเมศวร์ กล่าวว่า การที่รัฐคิดจะไปจำกัดสื่อมวลชน โดยให้มาขึ้นทะเบียนก่อน จะทำให้ไม่มีใครกล้ามาเป็นสื่อ ไม่กล้าเขียน ไม่กล้ารายงาน สิ่งต่างๆ ซึ่งในต่างประเทศเขาใช้พลังจากตรงนี้มาแก้ปัญหา ไม่ใช่ต้องมาจำกัดมาขึ้นทะเบียน เพราะต่อให้เพิ่มกำลังไปควบคุมเท่าไหร่ก็ไล่ติดตามไม่ทัน อย่างไรก็ตาม การกำหนดนิยามผู้ประกอบวิชาชีพสื่อที่กว้างมาก จะทำให้การปฏิบัติทำได้ยากเพราะจะมีจำนวนมากมาย ควรจะมีการกำหนดนิยามให้ชัดเจนขึ้น และในส่วนของนักข่าว ควรจะระบุถึงผู้ที่ต้องมีคุณสมบัติทางวิชาชีพนี้จริงๆ โดยเปิดพื้นที่ให้กับนักข่าวพลเมืองให้ไม่ต้องถูกจำกัดการทำงาน หรือ ผู้ปฏิบัติงานด้านเนื้อหาอื่นๆที่ไม่ใช่ข่าวด้วย รวมถึงการเขียนในมุมมองแสดงทัศนะ ที่ผู้เขียนก็แสดงความรับผิดชอบในเนื้อหาของตนควรจะต้องทำได้โดยไม่ติดข้อจำกัดว่าจะต้องมีใบอนุญาต