นายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา กล่าวภายหลัง เป็นประธาน ประชุมพิจารณามาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ว่า ได้รับทราบปัญหาที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อระบบเศรษฐกิจโลกรวมถึงประเทศไทย ซึ่งจากการรับฟังปัญหาที่เกิดขึ้น พร้อมข้อเสนอมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยว จากผลกระทบโควิด-19 นี้ ทั้งจากสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวชลบุรี สมาคมโรงแรมไทยภาคตะวันออก ชมรมสปาเมืองพัทยา ชมรมร้านอาหารเมืองพัทยา สมาคมนักธุรกิจและการท่องเที่ยวเมืองพัทยา สมาคมแหล่งท่องเที่ยวจังหวัดชลบุรี สมาคมผู้ผสมเครื่องดื่มและบริการ ก็จะนำเสนอถึงผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรีพิจารณาในลำดับต่อไป ทั้งนี้ นายธเนศ ศุภรสหัสรังสี รักษาการประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวชลบุรี ได้กล่าวว่า สืบเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อระบบเศรษฐกิจโลกรวมถึงประเทศไทย แม้ว่าภาครัฐบาลได้ดำเนิน มาตรการอย่างเข้มงวด เพื่อจะให้สามารถควบคุมการระบาดให้เร็วที่สุด โดยทำให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ไม่สามารถเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยได้ ในระยะแรกที่มีการระบาดของโรคดังกล่าว ส่งผลให้ธุรกิจท่องเที่ยวในพัทยา ซึ่งมีลูกค้าชาวจีนเป็นหลักได้รับผลกระทบ ก่อนจะปิดกิจการไปเกือบหมด จนเมื่อสถานการณ์รุนแรงมากขึ้น ทางภาครัฐบาลได้ดำเนินมาตรการควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดอย่างเข้มงวดขึ้นตามลำดับ เช่น ห้ามการเดินทางจากประเทศกลุ่มเสี่ยง การใช้มาตรการต้องมีประกันสุขภาพในการเดินทางเข้าประเทศไทย เป็นต้น จึงส่งผลกระทบกับธุรกิจด้านการท่องเที่ยวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ธเนศ ศุภรสหัสรังสี ซึ่งนับตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม 2563 จนถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลาเกือบ 3 เดือน ประกอบกับธุรกิจเกี่ยวเนื่องการท่องเที่ยวมีการใช้แรงงานค่อนข้างมากมาก และอีกทั้งยังมีภาระค่าใช้จ่ายคงที่สูง ได้แก่ เงินเดือนและสวัสดิการพนักงาน (เงินเดือนค่าบริการเบี้ยประกันสังคม) ค่าใช้จ่ายด้านพลังงานไฟฟ้า น้ำประปา ภาษีต่างๆ ได้แก่ ภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ตลอดจนภาษีท้องถิ่นอื่นๆ เช่นภาษีที่ดิน ภาษีป้าย ค่าธรรมเนียม เป็นต้น เพราะฉะนั้นแม้ภาครัฐจะได้กำหนดมาตรการต่างๆเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในภาคธุรกิจออกมาเป็นระยะๆ แต่ก็ยังไม่เพียงพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรักษาสภาพคล่อง และ การดำรงอยู่ของกิจการ ส่งผลให้แหล่งท่องเที่ยวธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวและโรงแรมต่างๆ ในทุกระดับเริ่มประกาศปิดกิจการ หยุดดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเลิกจ้างพนักงาน ทำให้เกิดการว่างงานและเดินทางกลับภูมิลำเนา สร้างความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อโควิด-19 ขณะที่ธุรกิจซึ่งยังไม่ปิดกิจการในขณะนี้นั้น ในทางปฏิบัติถือว่าไม่มีธุรกิจและรายได้ใดๆ เข้ามาจุนเจือแล้ว แต่ยังเปิดดำเนินงานโดยคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อพนักงาน เศรษฐกิจของชาติ และการป้องกันการแพร่ระบาดเป็นหลัก ดังนั้นทางสมาคมต่างๆจึงรวมตัวกันเข้าพบนายกเมืองพัทยา เพื่อปรึกษาหารือประกอบด้วยเรื่องต่างๆ ดังนี้ 1. กรณีหยุดกิจการชั่วคราวจากผลกระทบดังกล่าว ให้ทางกองทุนประกันสังคมจ่ายชดเชยลูกจ้างในอัตรา 70 % เป็นระยะเวลาสูงสุด 180 วัน 2. ยกเว้นการจ่ายเงินสมทบประกันสังคมทางฝั่งนายจ้างและลูกจ้างเป็นระยะเวลา 180 วัน โดยให้กระทรวงแรงงานเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ 3. ยกเว้นการจัดเก็บภาษีที่ดินภาษีป้ายภาษีบำรุงท้องที่ในปี พ.ศ. 2563 กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ 4. ขอลดอัตราดอกเบี้ย 50% จากธนาคารพาณิชย์ที่ทางเอกชนกู้อยู่ โดยภาครัฐเป็นผู้ชดเชยส่วนลดให้ผู้รับผิดชอบโดยกระทรวงการคลัง 5. ของดจ่ายค่าน้ำประปาและค่าไฟฟ้าไปจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายเข้าสู่สภาวะปกติ (เป็นมาตรการของประเทศสาธารณรัฐเกาหลีและสาธารณรัฐประชาชนจีนใช้? เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน) 6. ค่าใช้จ่ายในการซื้อผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดฆ่าเชื้อโรคและอุปกรณ์สำหรับการดำเนินการป้องกันโควิด-19 สามารถนำมาหักลดหย่อนค่าใช้จ่ายได้ 3 เท่า ทั้งนี้ข้อเสนอตามมาตรการดังกล่าว จะสามารถช่วยและลดความตึงเครียดให้ภาคธุรกิจท่องเที่ยวและบริการที่ทำรายได้ให้กับประเทศในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก และ มีการจ้างงานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยถึง 4.3 ล้านตำแหน่ง หรือคิดเป็น 23.5% ของการจ้างงานในปี 2562 และยังเกี่ยวเนื่อง กับธุรกิจอื่นๆ อาทิ การขนส่ง ไกด์ทัวร์ ภาคการเกษตร ยังคงรักษาการจ้างงานต่อไปได้ ไม่เป็นการซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจสังคม และลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อโควิด-19 อีกทั้งยังสามารถเป็นกำลังสำคัญในการร่วมฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศเมื่อภาวะวิกฤตนี้ได้ผ่านพ้นไป